กทม. จับมือ ราชทัณฑ์ ทุ่ม 15 ล้าน นำผู้ต้องขัง 1,000 คน ช่วยลอกท่อ 100 กม. แรก เริ่ม 1 ก.ค.นี้

Home » กทม. จับมือ ราชทัณฑ์ ทุ่ม 15 ล้าน นำผู้ต้องขัง 1,000 คน ช่วยลอกท่อ 100 กม. แรก เริ่ม 1 ก.ค.นี้


กทม. จับมือ ราชทัณฑ์ ทุ่ม 15 ล้าน นำผู้ต้องขัง 1,000 คน ช่วยลอกท่อ 100 กม. แรก เริ่ม 1 ก.ค.นี้

กทม. จับมือ ราชทัณฑ์ ทุ่ม 15 ล้าน นำผู้ต้องขัง 1,000 คน ช่วยลอกท่อ 100 กม. แรก เริ่ม 1 ก.ค.นี้ เผยประชาชนเรียกร้อง นักโทษสามารถลอกท่อได้อย่างมีคุณภาพ

วันที่ 7 มิ.ย.65 ที่ห้องประชุมชีนิมิตร ชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ(สนน.) ศาลาว่าการกทม. 2 (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานในการประชุมหารือ ระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมราชทัณฑ์ เรื่องการดำเนินงานล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้กับกรุงเทพมหานคร

ต่อมาเวลา 10.11 น. นายชัชชาติ พร้อมด้วย นายอายุฒน์ สินทธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าฯกทม. กรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสนน. และ นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสนน. เข้าร่วมการประชุมหารือถึงนโยบายดังกล่าว โดยนายชัชชาติยังไม่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด

ต่อมา นายชัชชาติ แถลงภายภายหลังการประชุมหารือ ว่า วันนี้เป็นการร่วมมือตามแนวคิดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้ดำริให้มีการร่วมมือกันในการลอกท่อระบายน้ำ โดยผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ จึงเชิญอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาปรึกษาหารือเนื่องจากที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ โดยชาวบ้าน พบว่าผู้ต้องขังลอกท่อระบายน้ำได้ดี และสามารถทำให้ผู้ต้องขังทำประโยชน์ให้แก่สังคม และมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องเน้นย้ำว่า การจ้างผู้ต้องขังต้องมีหลักสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติเหมือนคนปกติ ทั้งเรื่องค่าแรง และสวัสดิการ และต้องมาทำด้วยความสมัครใจ

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กทม.มีท่อระบายน้ำที่จำเป็นต้องลอก 6,500 กิโลเมตร โดย สนน. ดูแลเส้นเลือดใหญ่อยู่ประมาณ 2,000 กิโลเมตร และเขตดูแลเส้นเลือดฝอยที่เป็นท่อย่อยประมาณ 4,500 กิโลเมตร ซึ่งปีนี้ลอกไปแล้วประมาณ 2,000 กิโลเมตร

แต่ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 65 ยังพอมีงบประมาณเหลืออยู่ จึงหารือกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการ เริ่มในวันที่ 1 ก.ค.นี้ให้ทำให้มากที่สุด

โดยจะให้เขตแต่ละแห่งหาจุดที่ต้องลอกมา และดูตามระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้อง และ กทม.สามารถจ้างกรมราชทัณฑ์โดยตรงได้ เพราะเป็นรัฐบาล-รัฐบาล (G2G) แต่หากสามารถทำได้ก่อน 1 ก.ค.จะเป็นเรื่องดี เพราะปัญหาน้ำท่วมประชาชนไม่รอ

“ในช่วงระหว่างการลอกท่อขอความร่วมมือประชาชนในระแวกนั้นออกมาดู เพื่อรู้ว่าภายในท่อมีอะไรอุดตันอยู่บ้าง เพราะบางแห่งมีไขมันอุดตันแสดงว่าบ้านเรือนแถวนั้น ทิ้งไขมันลงมาจึงเกิดการอุดตัน ดังนั้นจะได้เห็นว่าเราให้ความร่วมมือไม่ใช่ลอกท่ออย่างเดียว แต่ประชาชนให้ความร่วมมือในการตั้งบ่อดักไขมัน จึงเกิดการสร้างความร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย”ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ผู้อำนวยการสนน. บอกว่าลอกเพียงแค่ 2 คลองนั้น คือถูกต้องเพราะนั่นคือคลองหลัก แต่คลองย่อยที่สำนักงานเขตดูแล ลอกท่อไปประมาณ 40 คลอง ก็เป็นสิ่งที่ผู้อำนวยการ สนน.พูดถูกต้อง เพราะพูดในฐานะที่ดูแลคลองหลัก แต่ตนอาจจะสื่อสารผิดเองและไม่เข้าใจกัน

ผู้สื่อข่าวถามได้ตั้งเป้าหมาย และงบประมาณไว้หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นตั้งเป้าขุดลอกท่อ 500 กิโลเมตร แต่งบประมาณมีอยู่ 15 ล้านบาท สามารถทำได้ก่อน 100 กม.ทันที ซึ่งเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ถึงแม้เอกชนจะเสนอราคาต่ำ แต่คุณภาพกลับไม่ได้ ดังนั้นในเรื่องของราคา ไม่สามารถเปรียบเทียบกับเอกชน จึงมั่นใจว่าราชทัณฑ์จะทำได้ดีกว่า

“กทม.จะเริ่มจ้างกรมราชทัณฑ์ ในการลอกท่อระบายน้ำโดยนักโทษชั้นเยี่ยมเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยการจ้างแรงงานนักโทษดังกล่าว ผ่านกระบวนการระหว่างรัฐ ตามกฏกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุน ปี 2563 (วิธีพิเศษ) โดยไม่ต้องเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (e-bidding) ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม.ไม่สามารถจ้างกรมราชทัณฑ์ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560″ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นายชัชชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนในอนาคต กทม.จะจ้างกรมราชทัณฑ์ ในการลอกท่อ100%นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามลำดับความเหมาะสม รวมถึงคุณภาพการทำงาน ก่อนหน้านี้มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่า เอกชนลอกท่อไม่สะอาด แต่นักโทษจากกรมราชทัณฑ์สามารถลอกท่อได้อย่างมีคุณภาพ สำหรับการตรวจประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพการลอกท่อ จะมีเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือวัดตะกอนหรือปริมาณดินที่เหลืออยู่ในท่อตามเกณฑ์ที่กำหนด

ด้าน นายอายุฒน์ กล่าวว่า การนำนักโทษชั้นเยี่ยมออกมาปฏิบัติงานบริการสาธารณะถือเป็นนโนบายที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการมาโดยตลอด และให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยนักโทษที่มาทำงานส่วนนี้จะมาตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ

ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะมีอาหาร เครื่องดื่ม เป็นสวัสดิการไว้รองรับ รวมถึงสวัสดิการในการดูแลหากได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน และกำไรที่ได้จากการจ้างงาน 70เปอร์เซ็นต์ จะยกให้กับนักโทษ เพื่อเก็บไว้เป็นทุนภายหลังพ้นโทษกลับคืนสู่สังคม

ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมนักโทษชั้นเยี่ยมสำหรับออกมาขุดลอกท่อ จำนวน 1,000 คน จาก 10 เรือนจำ โดยทุกคนได้รับวัคซีนโควิด19 ครบโดส และก่อนเข้าออกเรือนจำ ต้องตรวจATK ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ห้ามพบปะญาติที่มาเยี่ยม หรือออกไปเดินในตลาดพื้นที่สาธารณะ นอกพื้นที่งาน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ