ผลเลือกตั้งซ่อมหลักสี่มีนัยทางการเมืองหลากหลาย นอกจากชัยชนะของพรรคเพื่อไทย เรายังได้เห็นความพ่ายแพ้สุดเยินของพรรคพลังประชารัฐ เห็นคะแนนไหลกลับไปหาอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ในนามพรรคกล้า เห็นการปักหลักทางอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล และพรรคไทยภักดี ที่บางคนเรียกว่า “ซ้ายจัด” Vs “ขวาจัด”
พูดอีกนัยหนึ่ง ผลเลือกตั้ง กทม. สะท้อนทัศนคติคนชั้นกลางในเมือง แม้ยังมี “คะแนนจัดตั้ง” อยู่บ้าง จากการขยันลงพื้นที่ชุมชนของตัวผู้สมัคร แต่ฐานเสียงหลักมาจากกระแสนิยมต่อพรรค จากบทบาทในสภา หรือการแสดงความคิดเห็นออกสื่อ
เพราะสังคมเมืองต่างคนต่างอยู่ ไม่ต้องพึ่งพากัน มีความได้เปรียบของคนชั้นกลาง ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่ง ส.ส.วิ่งขอโครงการแหล่งน้ำคมนาคมช่วยเหลือการทำมาหากิน ไม่ต้องการให้ ส.ส.มางานบวชงานศพ (คิวทอดผ้ายาวอยู่แล้ว) การเลือกตั้งของคนชั้นกลางจึงมีทั้งด้าน “อุดมคติ” และด้านที่ลอยจากความเป็นจริงในสังคมชนบท จนมีแนวโน้มรังเกียจนักการเมืองจากชนบท ตามทฤษฎีสองนครา
คนชั้นกลางในเมืองเลือกนักการเมืองจากภาพลักษณ์ ตั้งแต่อดีตที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ (ไม่เลือกเราเขามาแน่) หรือเลือกพรรคฝาเข่ง ขณะที่อุดมการณ์หลักก็เป็นอนุรักษนิยม ชื่นชมคนดีมีศีลธรรมที่ไม่มาจากเลือกตั้งแบบป๋าเปรม-อานันท์ เห็นการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เมื่อเกิดม็อบพันธมิตรนกหวีด จึงใส่เสื้อเหลือง จึงเป่าปี๊ดๆ ขัดขวางเลือกตั้งจนเกิดรัฐประหารเสียของซ้ำซาก
แม้มีคนชั้นกลางฟากประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร ก็เป็นเสียงข้างน้อย ถูกกลไกคนชั้นกลางในยุคนั้น เช่น สื่อ นักวิชาการ ให้ร้ายว่าทักษิณซื้อไปแล้ว
จนกระทั่งเลือกตั้ง 62 หลังรัฐประหารยาว 5 ปี จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อันดับแรกคือการเกิดพรรคอนาคตใหม่ “ธนาธรฟีเวอร์” ซึ่งแม้คะแนนส่วนหนึ่งมาจากไทยรักษาชาติถูกยุบ แต่ก็ชนะพรรคเพื่อไทยหลายจุดในเขตเมือง ขณะที่อีกหลายเขตก็เป็นที่ 2 ที่ 3 ทำให้ “ทะเลาะกันเอง” ในภายหลังว่า “ตัดคะแนน” จนเพื่อไทยแพ้
แต่เหตุการณ์หลายอย่างที่ตามมาภายหลัง เช่นการยุบพรรคแล้วคนรุ่นใหม่ลุกฮือ ทำให้เห็นว่าคะแนนอนาคตใหม่ไม่ใช่ “ตัดเค้ก” มาจากเพื่อไทยโดยตรง อาจมีส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นคนเคยเลือกเพื่อไทย ที่เหลือเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนชั้นกลางในเมืองที่ FC เพื่อไทยอาจเรียกว่า “สลิ่มกลับใจ” ไม่ไหวแล้วรัฐประหาร ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ
จากอนาคตใหม่เป็นก้าวไกล พรรคที่เสนอแก้ไข 112 แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 และสร้างประวัติศาสตร์ อภิปรายงบสถาบัน “ตั๋วช้าง” ถูกรุมกระหน่ำจากสื่อ IO กลไกรัฐ คะแนนเลือกซ่อมภาคใต้หายเกินครึ่ง
พรรคก้าวไกลจึงแถลงข่าวราวได้ชัยชนะ เมื่อได้ที่สอง 20,361 คะแนน ยินดีไปกับสุรชาติ เทียนทอง โดยไม่ขัดข้องหมองใจ เพราะนี่คือการพิสูจน์ว่าสามารถปักหลัก ปักพลังทางอุดมการณ์ นับจากนี้มีแต่จะเติบโต เป็นที่อกสั่นขวัญแขวนของพลังอนุรักษนิยม
ก้าวไกลสถาปนาตนเป็นพรรคของคนชั้นกลางฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งจากแนวคิด ท่วงทำนอง การนำเสนอประเด็น การอภิปรายในสภา วิธีหาเสียง ซึ่งพิสูจน์ผ่านเงินบริจาคภาษี อันดับหนึ่งสองปีซ้อน
พูดอย่างนี้ FC เพื่อไทยอาจโกรธ นี่ไม่ได้หมายความว่าคนชั้นกลางไม่หนุนเพื่อไทย แต่เพื่อไทยเป็นพรรค Mass ที่คนเลือกหลากหลายกว่า
ปรากฏการณ์ที่สองที่เกิดขึ้นในเลือกตั้ง 62 คือคนชั้นกลางเก่าพันธมิตรนกหวีดพลิกชั่วข้ามคืน เทคะแนนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ไปให้พรรคพลังประชารัฐ ด้วยความโกรธและกลัว เมื่อเห็นภาพทักษิณจากฮ่องกง ฉีดไบก้อนฆ่าแมลงสาบตายเกลื่อน เพราะเชื่อว่าประยุทธ์เท่านั้นป้องกันภัยทักษิณได้ แต่อภิสิทธิ์ดันไม่เอาประยุทธ์ เคยสนับสนุนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็อ่อนแอ ดีแต่พูด แพ้ยิ่งลักษณ์ถล่มทลาย
คนชั้นกลางเก่ากระทืบจิตวิญญาณ “ม็อบมือถือ” ไล่ รสช.สืบทอดอำนาจ เคยเรียกพรรคสามัคคีธรรมเป็นพรรคมาร กลับหนุนการดูดกวาดนักการเมืองที่พวกตัวเคยยี้ ทั้งหมดนี้เพื่อความเกลียดชัง
แต่ 3 ปีผ่านไป ก็เหลืออดเสียเอง ทั้งความล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งความแตกแยกตกต่ำของพรรคพลังประชารัฐ “มาดามหลี” จึงแพ้ย่อยยับ อย่างไม่มีใครคาดคิด ว่าจะเหลือแค่แปดพัน
สันนิษฐานได้ว่า คะแนนส่วนหนึ่งไหลกลับไปพรรคกล้า ซึ่งก่อตั้งจากคนประชาธิปัตย์ คะแนนส่วนหนึ่งเตลิดไปกับหมอเหรียญทอง ขณะที่อีกส่วนก็เบื่อจนไม่มาใช้สิทธิ หรือกาไม่เลือกใคร
เลือกตั้งซ่อมหลักสี่ จึงประกาศนัยทางการเมืองหลายด้านพร้อมกัน นอกจากชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่แสดงความพร้อมตอบสนองความต้องการของคนหลากหลาย สร้างความหวัง “แลนด์สไลด์” บนความย่อยยับของพรรคพลังประชารัฐ ที่สมัยหน้าจะไม่สามารถเสนอชื่อประยุทธ์อีก
มันยังสะท้อนว่าทัศนะคนชั้นกลางในเมืองแตกเป็น 3 เฉด เฉดหนึ่งปักแนวคิดแหลมคมแบบก้าวไกล เฉดหนึ่งหวนหาจริตแบบประชาธิปัตย์ อีกเฉดสุดจัดถึงขั้นจะจับสามกีบปล่อยเกาะ
ซึ่งต้องบอกว่าหมอวรงค์ประสบความสำเร็จ ยิ่งกว่าพรรคกำนัน เพราะการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ปลุกปฏิกิริยาตอบโต้จากฝั่งอนุรักษ์สุดโต่ง
แต่นับถอยหลังตามวันวัย อนาคตจบที่รุ่นใคร ก็รู้แก่ใจ