'โฮปเวลล์' จ่อฟ้องอาญา หลังรัฐเมินตั้งโต๊ะเจรจา ต้น-ดอกทะลุ 1.7 หมื่นล้าน

Home » 'โฮปเวลล์' จ่อฟ้องอาญา หลังรัฐเมินตั้งโต๊ะเจรจา ต้น-ดอกทะลุ 1.7 หมื่นล้าน


'โฮปเวลล์' จ่อฟ้องอาญา หลังรัฐเมินตั้งโต๊ะเจรจา ต้น-ดอกทะลุ 1.7 หมื่นล้าน

‘โฮปเวลล์’ จ่อฟ้องอาญา หลังรัฐเมินตั้งโต๊ะเจรจา คมนาคม และ รฟท. ยังมิได้ดำเนินการใด ๆ ล่าสุดต้น-ดอกทะลุ 1.7 หมื่นล้าน ชี้ยิ่งช้า ดอกเบี้ยจะขึ้นทุกวัน

21 มิ.ย. 2565 – มร.คอลลิน เวียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวทวงถามความเป็นธรรมจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยระบุว่า หลังจากที่โฮปเวลล์ถูกบอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2541 ในสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร มูลค่า 80,000 ล้านบาท และได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ

จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2551 โดยกระทรวงคมนาคมและ รฟท.จะต้องคืนเงินตอบแทน เงินลงทุน รวมทั้งหนังสือค้ำประกันสัญญาสัมปทาน และค่าธรรมเนียมแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งสิ้น 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

แต่ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังมิได้ดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

ทั้งนี้ ยังมีความพยายามทำให้ บริษัทฯ เป็นโมฆะหรือสิ้นสภาพ เป็นความพยายามมุ่งหวังเพียงเพื่อจะไม่ต้องคืนเงินให้แก่โฮปเวลล์ฯ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศไทย ต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนนานาชาติ ตนในฐานะนักลงทุนต่างชาติ หากให้ประเมินโอกาสทางการลงทุนในไทย ยืนยันว่าไม่สนใจเข้าร่วมลงทุนอีก

นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการเจรจากับภาครัฐ ถึงเรื่องความคืบหน้าของคดีหลายครั้ง โดยแนวทางหลังจากนี้ ทางบริษัทฯ จะใช้สิทธิทางศาล เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐมีการยื่นขอพิจารณาคดีรอบสอง ทำให้บริษัทจำเป็นต้องไปดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ

ส่วนกรณีที่จะมีการตั้งโต๊ะเจรจากับภาครัฐ เรายังไม่มั่นใจว่าการเจรจาครั้งต่อไปจะได้ข้อสรุป หากภาครัฐไม่รับพิจารณาในการขอเจรจา และไม่รับเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม และจะดำเนินการตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามคดีปกครอง เมื่อท้ายที่สุดแล้วบริษัทชนะคดีศาลปกครองก็มีหน้าที่ที่จะบังคับให้ทางภาครัฐจ่ายเงินค่าชดเชยแก่บริษัทฯ ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าการออกมาแถลงข่าวในครั้งนี้ของบริษัทฯ เป็นการกดดันศาลหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ได้กดดันศาล เพียงแต่ต้องการเงินในส่วนที่บริษัทฯ ลงทุนไปคืนมา

ปัจจุบันจำนวนเงินทุนที่บริษัทฯต้องได้คืนอยู่ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการยึดตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการปี 2551 โดยแบ่งเป็นเงินต้น 11,888 ล้านบาท หากคำนวณเป็นค่าธรรมเนียมรายวันอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อวัน แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะขอฟื้นการพิจารณาคดีใหม่ในศาลปกครอง และได้สิทธิในการชะลอจ่าย แต่คำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการยังคงมีผล ดังนั้น ดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นทุกวัน ส่วนกรณีการยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อไหร่ ต้องรอมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อีกครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ