เพื่อไทย จี้ ‘บิ๊กตู่’ รับผิดชอบเหตุปาบึ้มใส่รถ‘ประชา’ บี้ กกต.เร่งสอบ ส่อโยงยุบพรรค

Home » เพื่อไทย จี้ ‘บิ๊กตู่’ รับผิดชอบเหตุปาบึ้มใส่รถ‘ประชา’ บี้ กกต.เร่งสอบ ส่อโยงยุบพรรค


เพื่อไทย จี้ ‘บิ๊กตู่’ รับผิดชอบเหตุปาบึ้มใส่รถ‘ประชา’ บี้ กกต.เร่งสอบ ส่อโยงยุบพรรค

เพื่อไทย จี้ ‘ประยุทธ์’ รับผิดชอบเหตุปาบึ้มใส่รถ ‘ประชา’ บี้ กกต.เร่งสอบ ประเสริฐโวยตร.ตั้งข้อหาไม่เหมาะ ส่อผิด กม.เลือกตั้ง โทษถึงจำคุก-ยุบพรรค

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายภูมิธรรม เวชยชัย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และผอ.ศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงกรณีรถประชาสัมพันธ์หาเสียงของ นายประชา ประสพดี ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ ถูกปาระเบิดระหว่างหาเสียง เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านา

นายภูมิธรรม กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว สรุปได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้ 1.การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการใช้อำนาจอันมิชอบ ขณะนี้อยู่ในวาระของการเลือกตั้ง ภายใต้การบริหารจัดการในรัฐบาลนี้ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องสืบสวนให้ชัดเจน เพราะผู้ปาระเบิดใส่รถหาเสียงของนายประชานั้น เป็นหัวคะแนนของพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

ดังนั้น นายกฯ ต้องสืบให้ทราบว่า เกิดปัญหานี้ได้อย่างไรจะรับผิดชอบอย่างไร แล้วจะจัดการปัญหานี้อย่างไร กกต.ต้องเข้ามาดูแล เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง

รถหาเสียงประชา โดนปาบึ้ม

รถหาเสียงประชา โดนปาบึ้ม

2.มีประชาชนให้ข้อมูลกล่าวหาว่า มีการใช้อิทธิพลของรัฐ อำนาจรัฐ กลไกของรัฐไปใช้ช่วยหาคะแนนเสียงให้กับพรรคหนึ่งในภาคเหนือและภาคอีสาน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตำรวจ เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับผู้กำกับ ผู้การ สารวัตรให้ทำทุกวิถีทาง เพื่อให้พรรคหนึ่งได้รับชัยชนะในหลายเขตเลือกตั้ง เมื่อมีข่าวนี้เกิดขึ้น นายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรสร้างความกระจ่าง ไม่ควรทำให้เกิดข้อครหา ทำให้ประชาชนไม่สบายใจ

มิฉะนั้นอาจถูกมองได้ว่าผู้นำของประเทศอยากสืบทอดอำนาจของตนเอง ใช้อำนาจทุกวิถีทางเพื่ออยู่ต่อ เพราะเราต่างขออาสามารับใช้ประชาชน ไม่ควรมีใครใช้กระบวนการของรัฐข่มขู่คุกคามผู้สมัครต่างพรรคต่างเบอร์กัน ซึ่งผิดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

“เราไม่ควรมีบรรยากาศการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่มีการข่มขู่ คุกคาม นำไปสู่การทำลายระบบประชาธิปไตย เกิดการหวาดหวั่นในการเลือกตั้งที่จะถึง และหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นอีก ไม่ควรมีกระบวนการใด อิทธิพลใด หรือการกระทำใดๆ ที่กระบวนการของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องและข่มขู่ผู้สมัคร ที่ต่างพรรคต่างเบอร์ กกต.ไม่ต้องรอให้พรรคเพื่อไทยร้องเรียน สามารถสอบสวนได้เลย” นายภูมิธรรม กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการคุกคาม ขู่เข็ญผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค และผู้สนับสนุนให้เกิดความหวาดกลัว ส่งผลต่อการได้เปรียบ เสียเปรียบในการเลือกตั้ง ส่อเกิดความไม่เป็นธรรม ตัวผู้กระทำผิดก็มีพฤติกรรมเกี่ยวพันกับพรรคที่นายกฯ มีความเกี่ยวข้องอีกด้วย พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบตรวจสอบ และดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันอีก

ทั้งนี้ พฤติการณ์ของผู้กระทำผิด พรรคเห็นว่าสุ่มเสี่ยงที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง เพราะเป็นการคุกคามต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งไม่ใช่แค่ข่มขวัญ แต่หวังเอาชีวิต ดังนั้น กกต.ควรเข้าไปตรวจสอบเพื่อเอาผิดพรรคการเมืองและนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ 1.สถานที่เกิดเหตุระเบิดและสถานีตำรวจอยู่ห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร แต่เมื่อผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ แจ้งไปยังสน. กลับใช้เวลาเดินทางมาตรวจสอบนานถึง 30 นาที ทั้งที่ควรใช้เวลาแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น

2.ภายหลังจับกุมผู้กระทำผิด พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำผิดเบาเกินไป ไม่สมเหตุสมผล ได้แก่ ทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ทำให้เสียทรัพย์ พยายามทำร้ายร่างกาย และทำให้ส่งเสียงดังอื้ออึง โดยปกตินายประชา จะนั่งไปในรถหาเสียงคันดังกล่าวด้วย หากวันนั้นนายประชา อยู่ในรถคันดังกล่าว โดนระเบิดหลบไม่ทัน หมายถึงการประสงค์ต่อชีวิต ดังนั้น การตั้งข้อหาที่เบาเกินไป จึงดูขาดน้ำหนัก

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า การที่ผู้ต้องหา อ้างว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่ในข้อเท็จจริงผู้กระทำความผิดเคยได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 9 เดือน ระหว่างนั้นได้ยกเอาสาเหตุอาการป่วยทางจิตมาเป็นสาเหตุอ้างต่อศาล แต่ศาลไม่รับฟัง และได้ตัดสินจำคุกผู้ต้องหา 9 เดือน ครั้งนี้ตนกังวลว่าจะยกเอาเหตุผลทางจิตเวชขึ้นมาอีก แต่ในเมื่อมีบรรทัดฐานจากคดีการลักทรัพย์ที่ผู้ต้องหาถูกจำคุกแล้ว จึงไม่ควรอ้างเหตุนี้อีก ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรค แจ้งไปยังผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 400 เขต ให้ระมัดระวังในการลงพื้นที่ และเป็นศูนย์กลางรับเรื่องการลงพื้นที่ต่างๆ

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในข้อกฎหมาย สามารถตั้งข้อสังเกตหรือเอาผิดได้ 2 ประเด็น คือ 1.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าอยู่ในช่วงเวลาที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 แล้ว การทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งในช่วงนี้ ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ต้องเข้ามาดูแลและดำเนินคดี

หากสอบสวนแล้วพบผู้กระทำผิด โทษตามที่กฎหมายระบุไว้ อาจมีโทษถึงจำคุก หรือหากสอบสวนแล้วพบว่ามีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งเสริม หรือ ทราบเรื่องแต่ไม่ห้ามปราบ อาจมีผลถึงขั้นยุบพรรคได้

2.พฤติกรรมข้าราชการที่วางตนไม่เป็นกลาง หรือ ช่วยเหลือสนับสนุนใดๆ ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งได้ให้อำนาจ กกต.สั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการกระทำการที่สุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อต่อพรรคใดพรรคหนึ่ง หากสั่งการแล้วข้าราชการไม่เชื่อฟัง กกต. มีอำนาจเสนอย้ายข้าราชการเหล่านั้นให้ออกจากพื้นที่ จึงขอแจ้งไปยังผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคว่าหากพบพฤติกรรมของข้าราชการ และอาจทำให้ผู้สมัครได้รับความเสียหาย หรืออยู่ในการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม ผู้สมัครสามารถใช้กฎหมายข้อนี้ในการเอาผิดได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ