ตาปลาที่เท้า คือ เนื้อเยื่อของผิวหนังที่นูนขึ้นมาเป็นก้อนแข็งหรืออ่อน มักเกิดขึ้นบริเวณด้านบนของนิ้วเท้า ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า แต่อาจเกิดขึ้นในบริเวณอื่นของร่างกายได้เช่นกัน แม้ตาปลาที่เท้าจะไม่เป็นอันตราย แต่อาจสร้างความรำคาญและความเจ็บปวดเวลาเดิน หรือวิ่งได้ เพราะตาปลาถูกกดให้ลึกเข้าไปในผิวหนัง
ตาปลาที่เท้า คืออะไร
ตาปลาที่เท้า คือ ชั้นผิวหนังที่นูนขึ้นมาเป็นก้อน มีทั้งชนิดแข็งหนาและชนิดอ่อน เกิดจากผิวหนังพยายามป้องกันตัวเองจากการเสียดสีและแรงกดที่เกิดขึ้นเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใส่รองเท้าผิดไซส์ เป็นต้น ตาปลาที่เท้าสามารถพบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ
อาการของตาปลาที่เท้า
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของตาปลาที่เท้า เช่น
- มีตุ่มหนา แข็งกระด้าง บริเวณด้านบนของนิ้วเท้า ง่ามเท้า หรือฝ่าเท้า
- ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งเป็นขุยหรือมีผิวคล้ายกับขี้ผึ้ง
- ตุ่มที่ขึ้นจะมีอาการเจ็บเมื่อกด สัมผัส เดิน วิ่ง หรือสวมใส่รองเท้าที่พอดี
สาเหตุของตาปลาที่เท้า
สาเหตุของตาปลาที่เท้ามาจากเท้าถูกเสียดสีหรือกดทับเป็นเวลานานหรือเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยเหล่านี้
- เดินไม่สวมรองเท้า
- สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะกับเท้า เช่น คับเกินไป หลวมเกินไป จนอาจทำให้เท้าเลื่อนไปมาและเสียดสีกับรองเท้า
- สวมรองเท้าส้นสูง หรือรองเท้ารัดส้นนานเกินไป
- สวมรองเท้าโดยไม่สวมถุงเท้า อาจทำให้เท้าเสียดสีได้ หรือหากสวมถุงเท้าที่ไม่พอดีเท้า ก็อาจทำให้เกิดตาปลาที่เท้าได้เช่นกัน
- เดินไกล หรือยืนนานๆ
- โครงสร้างของเท้าผิดปกติ เช่น นิ้วเท้าหงิกงอ นิ้วเท้างุ้ม
วิธีการรักษาตาปลาที่เท้า
การรักษาตาปลาที่เท้าอาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เท้าถูกเสียดสีหรือถูกกดทับซ้ำๆ อย่างไรก็ตาม หากรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง อาจบรรเทาอาการได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- ใช้แผ่นรองรองเท้า สำหรับผู้ที่เท้าผิดปกติ ควรใช้อุปกรณ์หรือแผ่นรองรองเท้าที่ทำมาเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดตาปลาที่เท้าซ้ำ
- ใช้ยากำจัดตาปลาที่เท้า เช่น พลาสเตอร์ที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิไซลิก 40% โดยทั่วไปควรใช้หินขัดเท้าในการขัดผิวหนังที่ตายแล้วออกก่อนค่อยแปะพลาสเตอร์แผ่นใหม่
- ตัด หรือลอกผิวหนังส่วนเกินออก โดยตัดเอาผิวหนังที่แข็งหนา หรือตาปลาที่เท้าที่มีขนาดใหญ่ด้วยออกมีดผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตัดหรือลอกตาปลาด้วยตัวเองเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษา
- ผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นตาปลาที่เท้า เนื่องจากความผิดปกติของกระดูก ทำให้กระดูกเสียดสีกัน แต่เป็นกรณีที่พบไม่บ่อย
หากผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิตเป็นตาปลาที่เท้า ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอ เพราะบาดแผลเพียงเล็กน้อย ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และเป็นหนองได้
การป้องกันการเป็นตาปลาที่เท้า
วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันตาปลาที่เท้าได้ เช่น
- เลือกรองเท้าให้พอดีกับขนาดของเท้า ไม่คับหรือหลวมเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดการเสียดสี
- สวมใส่ถุงเท้าเนื้อหนาที่พอดีกับขนาดของเท้าและรองเท้า เพื่อช่วยลดแรงกดที่เท้า
- พยายามแช่เท้าในน้ำอุ่นเป็นประจำ เพื่อให้เท้านุ่ม
- ใช้แผ่นรองส้นเท้าในรองเท้า เพื่อให้พื้นรองเท้านุ่มและลดแรงกด
- ทาครีมบำรุงเท้าหลังอาบน้ำเสร็จ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้เท้า
- ใช้หินขัดเท้าเป็นประจำ เพื่อขจัดผิวหนังที่แห้งแตกและแข็ง
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง และยืนนานๆ