ศาล ยกฟ้องคาร์ม็อบกำแพงเพชรไล่ บิ๊กตู่ ชี้ไม่ใช่ผู้จัด ไม่กระทบความมั่นคงของรัฐ ไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชร อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีของ นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ อดีตผู้สมัคร นายก อบจ.กำแพงเพชร ของคณะก้าวหน้า วัย 45 ปี กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ #กำแพงเพชรจะไม่ทน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564
คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 10-11 พ.ค. 2565 โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้ชักชวน นัดหมาย จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ให้บุคคลประมาณ 400 คน มาร่วมกันทำกิจกรรมขับยานพาหนะไปตามถนน และไปรวมกลุ่ม ที่บริเวณลานอนุรักษ์วัฒนธรรม สวนสาธารณะสิริจิตอุทยาน ซึ่งเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
ข้อต่อสู้ของจำเลย ได้แก่ จำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงผู้มาร่วมชุมนุมเท่านั้น การชุมนุม เป็นลักษณะการขับยานพาหนะของตนเองไปตามท้องถนนตามปกติ เป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด และการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ก็ไม่มีผลบังคับใช้ในห้วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม
สำหรับคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาของศาล ได้วินิจฉัย สรุปได้ว่า พิเคราะห์พยานโจทก์แล้ว มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยชักชวนผู้อื่นและไปเข้าร่วมชุมนุมคาร์ม็อบ ส่วนจำเลยรับว่าไปเข้าร่วมชุมนุมจริง เห็นว่าเนื่องจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันแก้ไขให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติได้โดยเร็ว ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการดำรงชีวิตโดยปกติสุข ให้เกิดความสงบเรียบร้อย
ดังนั้น การชุมนุมจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคงต่อรัฐ การที่จำเลย ชักชวนและมาร่วมการชุมนุม จึงไม่เป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 บุคคลจะต้องได้รับโทษต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด แต่ตามคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชร ที่ 1810/2564 ข้อที่ 20 ระบุผู้ใดฝ่าฝืนอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และอาจมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่มีสภาพบังคับเด็ดขาด
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 3 (6) บัญญัติไม่ให้ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ บังคับใช้ในระหว่างที่พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศใช้ จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้องจำเลย