ผู้ป่วยโรคหัวใจ อาจมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายอยู่บ้าง โดยเฉพาะคาร์ดิโอที่เป็นออกกำลัง “หัวใจ” หากไม่ระวัง หรือออกกำลังกายหนักเกินไป อาจทำให้หัวใจทำงานหนักเกินไป และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจก็ยังสามารถออกกำลังกายอย่างปลอดภัยได้ หากทำอย่างถูกวิธี และยังส่งผลดีต่อร่างกายโดยรวมมากขึ้นอีกด้วย
ผู้ป่วย “โรคหัวใจ” กับวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัย
ผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้ เช่น เดิน วิ่ง และว่ายน้ำ
เดิน
การเดินออกกำลังกาย เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นผู้สูงอายุ โดยการเดินเร็วสามารถทำได้สัปดาห์ละ 1-3 ชั่วโมง ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ราว 30%
วิ่ง
ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายด้วยการวิ่งได้ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ออกแรงสูบฉีดเร็วขึ้น ช่วยลดความเครียด และยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกายให้แข็งรงขึ้นได้ด้วย
ว่ายน้ำ
การว่ายน้ำเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย สามารถช่วยให้สุขภาพหัวใจโดยรวมดีขึ้นได้ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง และมีความยืดหยุ่น และการออกกำลังกายในน้ำจะช่วยพยุงน้ำหนักตัวได้ดี เหมาะกับผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กลัวว่าออกกำลังกายแล้วจะเกิดอาการบาดเจ็บ และแม้จะออกกำลังกายโดยใช้แรงมาก แต่ก็จะรู้สึกเหนื่อยน้อยกว่าการออกกำลังกายปกติ
คำแนะนำในการออกกำลังกาย
ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป
ข้อควรระวังในการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ควรอบอุ่นร่างกาย 10-15 นาทีก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง
- ไม่ควรออกกำลังกายขณะท้องว่าง แต่ควรหยุดกินอาหารก่อนออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง
- ควรออกกำลังกายในร่ม หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งที่แดดแรง
- เลือกออกกำลังกายเวลาเดิมๆ ทุกวัน
- ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย เช่น โรคหัวใจล้มเหลว ควรยกเว้นการออกกำลังกาย
- ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่
- หากรู้สึกเหนื่อยเกินไป หรือมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ควรหยุดออกกำลังกาย หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์