ปชป. เปิดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่แจกสุดโต่ง แต่แก้จนได้ ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ ชงขยายอายุเกษียณไปอีก 5 ปี แก้ขาดแคลนแรงงาน ยันธนาคารชุมชน ไม่ซ้ำรอยกองทุนหมู่บ้าน
24 เม.ย. 66 – ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต และนายเกียรติ สิทธีอมร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทีมนโยบายพรรคฯ
ร่วมกันแถลงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการอัดฉีด 1 ล้านล้านบาทเข้าระบบ
โดยไม่มีการแจกเงินแบบสุดโต่ง ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ ไม่รีดภาษีจากผู้มีรายได้น้อย แต่จะทำให้จีดีพีเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และช่วยแก้ปัญหาความยากจน
ซึ่งสิ่งที่จะต้องทำทันที คือการปรับโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ จะต้องสร้างกติกาให้ผู้ที่มีฐานะปานกลางและบริษัทรายย่อย สามารถระดมทุนผ่านไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ง่ายขึ้น โดยไม่จำกัดขนาด ฐานะการเงิน หรือผลประกอบการ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านั้นขยายใหญ่ขึ้น มีรายได้เพิ่ม เสียภาษีได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มงบประมาณในการดูแลกลุ่มฐานราก
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เราสนับสนุนจัดตั้งธนาคารที่มีลักษณะเป็นไมโครไฟแนนซ์ เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่กลุ่มฐานราก และธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยธนาคารนี้สามารถดำเนินการผ่านไปรษณีย์ไทยมาเป็นสาขาของธนาคารดังกล่าว เพราะไปรษณีย์ไทยมีสำนักงานที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอยู่แล้ว
รวมถึงจะต้องสนับสนุนการระดมทุนขนาดใหญ่ เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการก่อสร้างบรรดาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเราสามารถโน้มน้าวหรือเชิญชวนผู้เงินฝากในระบบสถาบันการเงิน ที่ปัจจุบันมีกว่า 18 ล้านล้านบาท โดยเอามาเพียง 1.2 ล้านล้านบาท เปลี่ยนจากเงินฝากมาเป็นการลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
อีกทั้ง ควรกระจายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เพื่อกระจายความเจริญ และจะทำให้แรงงานทำงานในพื้นที่ตัวเองได้ ไม่ต้องย้ายถิ่น
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า ส่วนการแก้หนี้สินเกษตรกร จะส่งเสริมเกษตรกรให้ความรู้และมีคุณภาพ จนสามารถกลายเป็นนักธุรกิจ หรือที่เรียกว่านักธุรกิจเกษตร รวมถึงต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมมากขึ้น และเรามีนโยบายจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท นำไปปล่อยกู้ในกับคนในชุมชนเพื่อนำไปทำทุนค้าขาย โดยไม่ต้องมีหลักประกัน กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
ด้านนายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้เพิ่มอายุการเกษียณ ทั้งภาครัฐและเอกชนไปอีก 5 ปี ต่อไปแรงงานจะลดน้อยลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรต่อจากนี้จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงต้องให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ แต่ผู้สูงอายุต้องให้มีการตรวจสุขภาพเพราะต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์ และทำงานตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาหรือไกด์
นอกจากนี้ต้องปรับแก้ระบบประกันสังคมให้ยืดหยุ่นขึ้น แก้โครงสร้างให้เป็นระบบคล้ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ประกันตนสามารถเลือกบำเหน็จหรือบำนาญ สนับสนุนให้ไรเดอร์เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้ พร้อมแก้มาตรา 39 ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไม่เสียสิทธิ์ที่ได้จากมาตรา 33 โดยต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อเราจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาแรงงานต่างประเทศมากเกินไป
“ขณะนี้ทุกพรรคยองรับว่า ต้องดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เพราะเราจะปล่อยให้มีคนจนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ คนที่้สูงอายุน่าสงสาร เพราะกฎหมายบีบบังคับไม่ให้เขาทำงาน ต้องออกจากงาน จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากทำให้คนไม่มีงานทำ ซึ่งประชาธิปัตย์เราคิดเรื่องนี้ว่าจะต้องแก้ไขโดยด่วน
ดังนั้น หากประชาธิปัตย์มีโอกาสได้เข้าไปบริหารประเทศ เราจะปรับอายุการเกษียณในทุกกลุ่มอีก 5 ปี อย่างน้อย เพื่อยืดอายุการทำงาน เพราะเชื่อว่า ผู้สูงอายุมีประสบการณ์ มีความรู้ มีความสามารถอยู่ หากปล่อยให้ออกจากงานก็น่าเสียดาย เชื่อว่า ผู้สูงอายุอยากทำงานมากกว่าแบมือขอเงินไม่กี่พันบาทจากรัฐ
ซึ่งประชาธิปัตย์จะมีการเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุด้วย แต่เราจะไม่ประกาศตัวเลข เพราะเราไม่ต้องการไปแข่งกับใคร บางพรรคอาจจะประกาศ 3 พัน 5 พัน 8 พัน หรือหนึ่งหมื่นก็ได้ ซึ่งเป็นการแข่งขันกันแบบไม่มีสาระ แต่ประชาธิปัตย์จะดูตามความเป็นจริงว่า อนาคตข้างหน้าเราจะช่วยผู้สูงอายุปีต่อปีต่อเนื่องได้อย่างไร”นายพิสิฐ กล่าว
ส่วนข้อกังวลในเรื่องการตั้งธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน จะเกิดปัญหาเหมือนกองทุนหมู่บ้านที่มีบางแห่งพบความไม่โปร่งใส และอาจสร้างหนี้เสียได้ นายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนและหมู่บ้านตัดสินใจเองได้ แต่จะอยู่ในระบบการควบคุมตรวจสอบได้
โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินในชุมชนไปเข้าเป็นเหมือนพี่เลี้ยงกำกับดูแลให้ดำเนินงานตามพ.ร.บ.สถาบันการเงิน จึงเชื่อว่า จะไม่เกิดปัญหาเหมือนโครงการในอดีต
ขณะที่นายเกียรติ กล่าวว่า ข้อแตกต่างของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคการเมืองอื่นๆ ว่า ข้อแรก นโยบายพรรคปชป. ที่ไปดูแลฐานรากให้เข้มแข็ง ลดเลื่อมล้ำ ซึ่ง ลักษณะนโยบายบางพรรคกลับเป็นการเพิ่มความเลื่อมล้ำ เช่น 1. กรณีนโยบายเอาเงินงบประมาณไปให้คนที่มีรายได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องช่วยแบบนี้เป็นการเพิ่มความเลื่อมล้ำทันที
2. ใช้เงินน้อย ได้ผลเยอะ เม็ดเงินงบประมาณต้องใช้ด้วยความระวัดระวังและต้องชัดเจนว่า ใครได้รับประโยชน์ไม่ใช่หว่านไปทั่ว ซึ่งประชาธิปัตย์เน้นใช้เงินน้อยได้ผลมาก เพราะอาชีพอิสระ เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด เงินทุกบาทจะลงไปสู่กลุ่มที่ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
นายเกียรติ กล่าวอีกว่า 3. ธนาคารชุมชน หลักคิด คือ ชุมชนดูแลชุมชน คนในชุมชนรู้ดี ใครน่าเชื่อถือ ซึ่งหลักการนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ เป็นระบบดีที่สุดที่กำกับไมโครเครดิต หรือสินเชื่อรายเล็กรายน้อย อันนี้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นจุดต่างเมื่อเทียบนโยบายกับพรรคการเมืองอื่นๆ
และ 4. ระบบขนส่งภาคเกษตร เมื่อลดต้นทุน ส่วนต่างกลับไปที่เกษตรกร เช่น หากขนส่งอ้อยด้วยรถบรรทุก 200 บาทต่อตัน แต่ถ้าเป็นการขนส่งระบบราง 40 บาทต่อตัน ส่วนต่างต้องกลับไปที่เกษตรกร
ส่วนการตั้งศูนย์กลางทางการเงินทำได้อีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่ดูแลเรื่องการค้าชายแดน เช่น อุดรธานี หนองคาย ก็สามารถเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าและและเป็นศูนย์กลางการเงินของผู้ประกอบการได้