วันที่ 7 เม.ย. 2566 ที่สวนหลังบ้านคนในพื้นที่ จ.สุโขทัย ได้ทำการ ขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อทำการเกษตร ปรากฏว่าเจอน้ำมีรสชาติคล้ายโซดา ซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่น สามารถดื่มกินได้ สงสัยว่าอาจจะเป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก เหมือนกับที่พบในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2564 จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบ
พ.ท.คะเนตร รักวุ่น อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญสังกัด กอ.รมน.จว.สุโขทัยเจ้าของบ้าน บอกว่า เมื่อ 2 เดือนก่อนได้ว่าจ้างช่างให้มาขุดเจาะบ่อบาดาลตรงทุ่งนาติดกับสวนผลไม้หลังบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากประปาหมู่บ้านแค่ 200 เมตร โดยขุดเจาะลึกลงไป 70 เมตรก็เจอน้ำพุ่งขึ้นมา แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าน้ำมีรสซ่าคล้ายโซดา กระทั่งได้จ้างช่างมาติดตั้งปั๊มน้ำโซลาร์เซลล์ แล้วพวกช่างได้ลองดื่มน้ำจากบ่อที่เพิ่งขุดเจาะ จึงรู้ว่ามีรสชาติแปลกคล้ายโซดา และซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่นใดๆ พอลองเอาไปรดต้นไม้ ก็สังเกตพบว่าต้นไม้ใบหญ้าจะมีสีเขียวเข้มกว่าปกติ เหมือนกับว่าในน้ำมีแร่ธาตุบำรุง
- สรุปให้! แก๊งชายชุดดำปิดวัดบางคลาน คาด มีนักการเมืองหนุนหลัง
- ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ประกาศ Work from Home หลังค่า PM2.5 วิกฤต
- มาเฟียโชว์กร่าง ขายตั๋วผี บ.ข.ส.สายใต้
ด้านนายควร คำศรี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเชิงคีรี, นายสมหวัง โสภา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.นาเชิงคีรี และนายหมอน หนองหลวง ช่างติดตั้งปั๊มน้ำโซลาร์เซลล์ รวมทั้งชาวบ้านที่มาร่วมพิสูจน์ด้วยกันครั้งนี้ บอกว่าได้ลองดื่มน้ำแล้ว ปรากฏว่ามีรสซ่าคล้ายโซดาจริงๆ ยิ่งน้ำออกสีขุ่นก็จะยิ่งซ่ามาก แล้วก็ไม่มีกลิ่นสนิม หรือกลิ่นโคลน ชาวบ้านฮือฮา แอบลุ้นด้วยว่า นี่อาจจะเป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก ราคาขวดละ 3,000 บาท เหมือนกับที่เจอในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาพิสูจน์ ตรวจสอบว่าแท้จริงคืออะไร มีสารปนเปื้อน เป็นพิษหรือไม่ ให้หายข้องใจไปเลย
ในโซเชียลก็ได้มี เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้ออกมาพูดถึงการเจอบ่อน้ำนี้ยังไม่ควรรีบนำมาบริโภค ซึ่งน้ำบาดาลจะถูกกักเก็บอยู่ภายในช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอน หรือรอยแตกของชั้นหิน โดยจะมีชั้นกั้นน้ำปิดทับอยู่ด้านบนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเรียกส่วนที่เก็บน้ำและกั้นน้ำรวมกันว่าชั้นน้ำบาดาล สามารถจำแนกชนิดของชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญ ได้แก่ ชั้นน้ำบาดาลไร้แรงดัน และชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน
น้ำบาดาลไร้แรงดัน หมายถึง ชั้นที่มีน้ำบาดาลกักเก็บอยู่โดยไม่มีชั้นหินกั้นน้ำปิดทับอยู่ด้านบน เป็นชั้นน้ำบาดาลที่อยู่ถัดจากผิวดินลงไปโดยมีระดับน้ำบาดาลอยู่บนสุดของชั้นน้ำบาดาล
น้ำบาดาลมีแรงดัน หมายถึง ชั้นน้ำบาดาลที่มีชั้นกั้นน้ำปิดอยู่ด้านบนส่งผลให้น้ำบาดาลอยู่ภายใต้แรงดันที่มากกว่าแรงดันของบรรยากาศซึ่งพบว่าระดับน้ำบาดาลอยู่สูงกว่าระดับความลึกของชั้นน้ำบาดาล
ซึ่งเรียกว่าระดับแรงดันน้ำ ในกรณีที่มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลในตำแหน่งที่เป็นชั้นน้ำบาดาลมีแรงดันและมีระดับแรงดันน้ำสูงกว่าระดับภูมิประเทศ (พื้นดิน) น้ำในบ่อน้ำบาดาลก็จะพุ่งขึ้นมาโดยไม่ต้องมีการสูบ เรียกว่า บ่อน้ำบาดาลพุ (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดน้ำบาดาลพุในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
น้ำบาดาลพุ ในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจาเกิดจากการเจาะบ่อน้ำบาดาลในชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน และมีระดับแรงดันน้ำสูงกว่าระดับพื้นดิน อีกทั้งน้ำบาดาลได้รับความร้อนจากชั้นหินแกรนิตที่วางตัวอยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้น้ำบาดาลมีอุณหภูมิสูงขึ้น และไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียนแล้วแทรกดันขึ้นมาตามรอยแตกของหินแปรยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน (รูปที่ 2) ผ่านบ่อน้ำบาดาลขึ้นสู่บนผิวดิน ที่พบเป็นลักษณะของน้ำที่พุ่งสูงขึ้นจากปากบ่อ อีกทั้งยังพบว่าน้ำที่ออกจากบ่อน้ำบาดาลมีลักษณะซ่าคล้ายโซดา หรือที่เรียกกันว่า น้ำบาดาลโซดา
น้ำบาดาลโซดา เกิดจากน้ำบาดาลที่มีอุณหภูมิสูงไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียนที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เมื่อหินปูนได้รับความร้อนและเกิดปฏิกิริยาการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมาและสะสมอยู่ในน้ำบาดาล ทำให้น้ำบาดาลพุในบริเวณนี้มีความซ่าคล้ายกับโซดา
แต่หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในน้ำลดลง ความซ่าก็จะลดลงเช่นกัน ซึ่งคล้ายกับการเปิดฝาน้ำโซดาหรือน้ำอัดลมแล้วตั้งทิ้งไว้ ความซ่าก็จะลดลง
ดังนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า น้ำบาดาลโซดา ที่สุโขทัย อาจจะมีสารเคมีต่างๆ ในน้ำที่เป็นลักษณะเดียวกัน คือ น้ำบาดาลนี้อาจจะไหลผ่านชั้นหินปูน ที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) แล้วเกิดปฏิกิริยาคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมา และสะสมอยู่ในน้ำบาดาล ทำให้มีความซ่าคล้ายกับโซดาซึ่งถ้าเอามาทิ้งเอาไว้ ก็จะลดความซ่าลงไปครับส่วนที่ว่าจะนำไปใช้เป็น “น้ำแร่” สำหรับดื่มบริโภคได้หรือไม่ และจะมีราคาค่างวดเท่าไหร่ คงต้องขึ้นกับผลการวิเคราะห์ถึงปริมาณแร่ธาตุและสารปนเปื้อนต่างๆ ในนั้นครับ ถ้าเกิดมีสารเคมีที่เป็นอันตรายปนเปื้อนอยู่ (มีสิทธิสูง เพราะอยู่ในพื้นที่การเกษตรด้วย) ก็ไม่ควรนำมาบริโภคเด็ดขาดครับ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY