ชวนปาฐกถา เล่นการเมือง 54 ปี ไม่แพ้เลือกตั้ง ลงทุกครั้ง ขอให้กำลังใจกกต. ชี้รัฐธรรมนูญดีแค่ไหน คนก็ต้องดีตามด้วย เพราะระบบต้องการคนดี
วันที่ 9 มิ.ย.2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดแถลงผลงาน ปาฐกถาพิเศษ
พิเศษ และเสวนาวิชาการ เนื่องในโอกาสวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครบรอบ 24 ปี
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การเสริมสร้างเสถียรภาพและธรรมาภิบาลทางการเมือง” ว่า ตนมาพูดในฐานะคนหนึ่งที่อยู่ในการเลือกตั้ง ตนอยู่ในวงการเมืองมานาน 54 ปี แล้วยังไม่แพ้เลือกตั้ง ไม่หยุดการเมืองเลือกตั้ง ตนคือคนที่ลงเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2512 จนบัดนี้ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 จนถึงฉบับที่ 2560 ก็ขอให้กำลังใจ กกต. เพราะในประสบการณ์คนลงเลือกตั้งนั้นบอกได้ว่าได้ผ่านกระบวนการของผู้ที่ทำหน้าที่การบริหารการเลือกตั้ง ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ ความจริงแล้วประสิทธิภาพของสมัยก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้ แม้จะไม่ได้อยู่ในองค์กรอิสระ ตนขอย้ำเป็นพิเศษว่าแม้เราจะมีองค์กรสำนักงาน กกต.มาแล้วก็ตามอย่ามองข้ามความสำคัญของคน โดยคนในที่นี่คือนับตั้งแต่กรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งตนไม่ค่อยห่วงเพราะกฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดในการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลเหล่านั้น แต่ในสำนักงานฯมีบุคลากรถึง 1,987 คน ถือว่าไม่น้อย เราใช้เงินงบประมาณปีหนึ่งเกือบ 1,700 กว่าล้านบาท
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเราได้มีการพิจารณางบประมาณขั้นรับหลักการในเบื้องต้นมีการของบไป 9,000 ล้านบาท ได้รับอนุมัติ 1,700ล้านบาท ที่กกต.ได้เตรียมไว้ถึง9,000 ล้านบาทนั้นเพื่อปฏิบัติไปตามภารกิจที่รู้ล่วงหน้าว่าตอนนี้เหลือเวลาอยู่ไปถึงปีแล้วที่วาระสภาในชุดนี้อยู่ครบ 4 ปี เมื่อเรามีสำนักงาน กกต.มาตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องยอมรับว่ากระบวนการเลือกตั้งนั้นความดูแลรับผิดชอบโดยองค์กรพิเศษจากเดิมเป็นกระทรวงมหาดไทย ถ้าถามว่าประสิทธิภาพขององค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่กับกระทรวงมหาดไทยนั้นสามารถจะเปรียบเทียบได้ไหมนั้นตนว่ามีความเห็นที่ต่างกัน หลายคนมองว่าระบบเดิมน่าจะดีกว่า
อีกส่วนหนึ่งก็บอกว่าองค์กรใหม่เป็นอิสระไม่เป็นเครื่องมือฝ่ายการเมือง แล้วแน่ใจหรือว่าจะเป็นแบบนั้นเสมอไป นั่นก็ขึ้นอยู่ที่คนอีก ไม่ใช่เราจะวางใจได้ทุกองค์กร ไม่ใช่เฉพาะกกต. แต่ทุกองค์กร เพราะสุดท้ายแม้กลไกเงื่อนไขจะดีก็ตาม แต่ถ้าบุคคลมีปัญหาก็จะมีปัญหา อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ก็ล้วนประกอบด้วยคนทั้งสิ้นและต้องการคนดีทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามแม้เราจะมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ดีอย่างไรก็ตามมันจะมาลงท้ายว่า กฎเกณฑ์ที่ดี คนที่ดี อันไหนสำคัญกว่ากัน ในสังคมเราไม่ต่างกันในที่สุดเราก็คิดว่าเรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ดี แต่มันเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เพราะคน คนที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองด้วยหลักกฎหมาย มันโยงกันได้ว่าทั้งคนและกฎหมายมีความเกี่ยวข้องกัน ถ้าคนใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ กติกา ปัญหาก็ตามมา
ในยุคที่ตนลงเลือกตั้งครั้งแรกมันไม่มีคำว่าซื้อเสียง 100 , 200 บาท มันไม่มี จะชัดก็เห็นจากที่มีนักเลงมีการเลี้ยงเหล้า ผมจำได้ไปเดินหาเสียงชาวบ้านขอเหล้าผมไม่ให้ แต่หนักสุดในสมัยนั้นคือ ส.ส.ปลาทูเค็ม เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่นักธุรกิจส่งปลาทูเค็มไปแจกที่ศรีสะเกษแล้วก็ได้เป็นส.ส.ปลาทูเค็ม จากนั้นก็ไม่มีอะไร เพราะสถานการณ์ขณะนั้นมันไม่มีสิ่งจูงใจให้คนต้องลงทุน เพราะใครมาคิดเล่นการเมืองก็เหมือนคนคิดสั้น ตนนั้นก็เลือกที่จะรอรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะเชื่ออยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง จะเห็นว่าหลายเรื่องเกิดขึ้นจากการเป็นนักการเมืองทั้ง เด็กมีเงินกู กยศ. เด็กได้กินนม ผู้สูงอายุมีเบี้ย รักษาฟรีเด็กผู้ใหญ่ มีกองทุนหมู่บ้านที่ยากจน สิ่งเหล่านี้มาจากพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยที่เรามีนักการเมืองที่มาจากประชาชน ฉะนั้นสิ่งนี้จึงมาคู่กันระหว่างการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
ประเทศต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และต้องการธรรมาภิบาลของฝ่ายการเมืองทุกฝ่าย แต่เราต้องแยกให้ออกระหว่างเสถียรภาพของการเมือง กับนักการเมือง พูดง่ายๆ ว่ารัฐบาลควรจะมีเสถียรภาพจึงจะสามารถบริหารบ้านเมืองไปได้โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหามากเกินไป
แต่นั้นก็ไม่ได้หมายถึงเสถียรภาพของประเทศ เพราะเสถียรภาพของการเมืองระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องการระบบนี้มีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ พูดง่ายๆ ว่าเสียงข้างมากได้ตั้งรัฐบาล และรัฐบาลจึงมาจากสภาที่เป็นเสียงข้างมาก ถ้าสภาที่มาจากเสียงข้างมากมาจากระบบการเลือกตั้งที่มั่นคง ถูกต้องยุติธรรม เราจะได้รัฐบาลที่มาจากความชอบธรรม พูดง่ายๆอีกว่าถ้าเราได้นักการเมืองที่ไม่โกง ไม่ทุจริตการเลือกตั้งรัฐบาลก็จะได้คนที่มาจากการไม่โกงไม่ซื้อเสียง แต่ถ้ารัฐบาลมาจากนักการเมืองที่ซื้อมาโกงมาเราจะได้รัฐบาลโกง แล้วรัฐบาลชุดนั้นจะทำอย่างยุติธรรมได้หรือ เสถียรภาพบ้านเมืองจะไปได้หรือ
เรามีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 90 ปี แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแนวมีทั้งบวกและลบตลอดเวลา ซึ่งมีความหลากหลายของนักการเมืองและมาจากระบบที่ไม่เหมือนในอดีต เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำกับ กกต.ว่า เราต้องให้ความสำคัญกับตัวแทนขององค์กรเราในต่างจังหวัดอีกพันกว่าคน ถ้าเราได้ตัวแทนของเราที่มีปัญหาก็ยากนักที่เราจะทำภารกิจเลือกตั้งยุติธรรมสำเร็จ คนนั้นอาจจะไปหาผลประโยชน์ร่วมกับนักการเมือง แต่เชื่อว่าไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่กกต. แต่ต้องให้ความสำคัญและจัดการ
ไม่เช่นนั้นด่านที่จะกรองจะกลายเป็นว่ากรองของรั่ว กรองแล้วกรองสกปรก แล้วแบบนี้จะเป็นตัวกรองของดีได้อย่างไร อย่างในท้องถิ่นเราต้องยอมรับความจริงว่า แพงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น อบต. ผู้ใหญ่บ้าน แต่ใช่ว่าระดับท้องถิ่นจะเป็นแบบนั้นเสียหมด แต่เราจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมโดยไม่ได้ต้องแก้ไข ปราบปราม นั่นมันจะเป็นการส่งสัญญาณว่าคุณมาอย่างไรก็ได้
ในที่สุดคนที่จ่ายเงินก็ชนะไป เราคงไม่ต้องการคนที่จ่ายเงินแล้วมาเอาคืน แต่เราต้องการคนที่มาจากประชาชนและไม่เอาคืน แต่ทำงานคืนประชาชน บ้านเมืองเรามีคนดีเยอะมีคนไม่ซื้อตำแหน่ง ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ดังนั้นตนขอให้กำลังใจ กกต. เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องการเลือกตั้งในต่างจังหวัดทั่วประเทศขอให้ยึดความชอบธรรม ถูกต้อง นั้นคือสิ่งที่คนดีต้องการ