ไอเดียเจ๋ง! นักศึกษาอาชีว ประดิษฐ์หลอดผงวุ้น ใช้ได้จริง ย่อยสลายง่าย 

Home » ไอเดียเจ๋ง! นักศึกษาอาชีว ประดิษฐ์หลอดผงวุ้น ใช้ได้จริง ย่อยสลายง่าย 


ไอเดียเจ๋ง! นักศึกษาอาชีว ประดิษฐ์หลอดผงวุ้น ใช้ได้จริง ย่อยสลายง่าย 

อุตรดิตถ์ เจ๋ง นักศึกษาอาชีวศึกษา ประดิษฐ์หลอดจากผงวุ้น ใช้ได้จริง ย่อยสลายง่าย ทดแทนการใช้หลอดพลาสติก การันตีรางวัลระดับประเทศ

21 พ.ย. 65 – ที่โดมแก้วเจ้าจอม ภายในวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ นายบัณฑิตย์ สิงห์ช่างชัย ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ ประธานเปิด “บ้านวิชาการ วิชาชีพ” (Open House 2022)

เพื่อให้นักศึกษาแต่ละแผนก แต่ละสายชั้น นำเสนอผลงานทั้งด้านวิชาการและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ได้ร่วมคิด ประดิษฐ์ขึ้น ตามความชื่นชอบ ความถนัด และตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม รองรับหลังสำเร็จการศึกษา

โดยมีผู้ประกอบการภาคเอกชน ร่วมชมผลงาน เพื่อเปิดโอกาสด้านการจ้างงาน การตลาด และต่อยอดผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษา หลังการเปิดเศรษฐกิจการค้าเสรี และยังมีนักเรียนระดับชั้น ม.ตอนต้น และ ม.ปลายร่วมชมผลงานจำนวนมาก พร้อมแนะแนวการเรียนการสอนในสายวิชาชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศคึกคัก นักศึกษาแต่ละแผนกวิชาต่างจัดบูธนำเสนอผลงานอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ โดยเฉพาะที่บูธ “หลอดชีวภาพจากผงวุ้น” ประกอบด้วย น.ส.ณัฐธิดา เกตุวังแดง และ น.ส.นฤพร มีสุข นักศึกษาระดับ ปวช. 2 สาขาวิชาการบัญชี

สาธิตขั้นตอนการประดิษฐ์ “หลอดชีวภาพจากผงวุ้น” ทดแทนการใช้หลอพลาสติก โดยมี น.ส.จันทร์จิรา ภมรศิลปธรรม และ น.ส.รัชนก เกตุบางลาย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ทั้งนี้ “หลอดชีวภาพจากผงวุ้น” จากแนวคิดของนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ กำลังเป็นที่สนใจของภาคเอกชน เนื่องจากการันตีด้วยรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังเป็นหลอดต้นแบบที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ที่สำคัญไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ ไม่มีสารเคมี เนื่องจากทำจากผงวุ้น

น.ส.นฤพร มีสุข กล่าวว่า ครอบครัวทำขนมจากวุ้นขาย จึงเกิดแนวคิดว่า หากนำวุ้นมาทำหลอดกาแฟ จะเป็นไปได้หรือไม่ จึงปรึกษากับอาจารย์ ทดลองกันหลายครั้งหลายรอบ กว่าจะประสบความสำเร็จ ขั้นตอนเตรียมผงวุ้น เติมน้ำสะอาด และเติมกลีเซอรีน ละลายผสมให้เข้ากันด้วยความร้อน จากนั้นเทลงแบบพิมพ์ และนำเข้าเครื่องอบลมร้อน ก็จะได้หลอดชีวภาพจากผงวุ้น ทั้งนี้ทุกขั้นตอนผ่านการทดลอง ศึกษา ไม่แนะนำให้ลอกเลียนแบบ

โดยหลอดต้นแบบที่ได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 6.25 มิลลิเมตร หนา 0.66 มิลลิเมตร ยาว 18.14 เซนติเมตร ทนต่อการหักงอได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทนต่อแรงดึง และอยู่ในน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีความเย็นได้ประมาณ 2 ชั่วโมง รูปทรงจะเปลี่ยนไป เนื่องจากเป็นผงวุ้น

น.ส.จันทร์จิรา ภมรศิลปธรรม อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า ในปี 2568 ประเทศไทยจะยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก จึงเป็นประเด็นให้นักศึกษาคิดโครงการ เพื่อรองรับ ทดแทน และเป็นทางเลือกในการนำวัสดุจากธรรมชาติ หรือวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาผลิตเป็นหลอดชีวภาพ ลดการใช้หลอดพลาสติก

ปัจจุบันพบเป็นขยะมากเป็นอันดับ 2 ถูกใช้มากกว่าล้านหลอดต่อวัน ไม่สามารถรีไซเคิลได้และใช้เวลานานถึง 200 ปีในการย่อยสลาย แต่หลอดจากผงวุ้นใช้เวลาย่อยสลาย 45 วัน ซึ่งเป็นเพียงต้นแบบ ที่กำลังเตรียมต่อยอดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ