ไอติม-ปิยบุตร ผิดหวังร่างรธน.ไม่ผ่านสภา ยันไม่สุดโต่ง ขอสู้ต่อ ยังมีหวัง

Home » ไอติม-ปิยบุตร ผิดหวังร่างรธน.ไม่ผ่านสภา ยันไม่สุดโต่ง ขอสู้ต่อ ยังมีหวัง


ไอติม-ปิยบุตร ผิดหวังร่างรธน.ไม่ผ่านสภา ยันไม่สุดโต่ง ขอสู้ต่อ ยังมีหวัง

ไอติม-ปิยบุตร ผิดหวังร่างรธน.ฉบับประชาชนไม่ผ่านสภา ย้ำล้มกี่ครั้ง ก็จะลุกสู้ต่อ ยันร่างไม่สุดโต่ง เป็นหลักการปกติในประเทศประชาธิปไตย

วันที่ 17 พ.ย.2564 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังจากที่รัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนในวาระที่ 1 โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่า การที่รัฐสภาโหวตไม่รับร่างนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง ที่ข้อเสนอของเราไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติในสังคม

ทั้งนี้ตนได้ย้ำไว้ในการอภิปรายตลอดทั้งวัน เมื่อวานนี้ว่า ข้อเสนอของเราไม่ได้เป็นข้อเสนอที่สุดโต่งหรือพยายามให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เราเพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น

โดยคำว่าควร สะกดด้วย ค-ว- ร โดย ค.หมายถึง ความพยายามคืนศักดิ์ศรีให้สถาบันการเมือง หลายคนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเสื่อมศรัทธากับกลไกทางการเมืองและสถาบันการเมืองต่างๆ ที่หวังจะเป็นที่พึ่งและต้องการเปลี่ยนแปลง

เราหวังว่าข้อเสนอนี้จะเป็นการปรับกลไกของสภาให้เป็นสภาเดี่ยว รวมถึงปรับที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระให้มีความเป็นกลางมากขึ้น เพื่อคืนศักดิ์ศรีสถาบันเหล่านี้และเพื่อให้เป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้อีกครั้ง

ส่วนคำว่า ว.มาจากคำว่าไว้ใจ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกคิดค้นบนพื้นฐานที่พยายามสร้างระบบการเมืองที่ไว้ใจประชาชน ให้เขามีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเองมากกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มาครอบงำไว้ ถ้าพรรคการเมืองไหนไม่ดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ เราไว้ใจให้ประชาชนเป็นคนลงโทษพรรคการเมือง ส่วน ร.มาจากระบบที่เป็นกลางที่ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะมีความคิดทางการเมืองแบบไหนก็มีสิทธิ มีเสียงเท่าเทียมกัน

เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ร่าง ซึ่งเราพยายามนำเสนอ ไม่ได้ถูกยอมรับไว้ในหลักการเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม ดังนั้นในฐานะที่ผมเป็นผู้ริเริ่มกฎหมาย จึงขอใช้พื้นที่นี้ในการขอบคุณสมาชิกรัฐสภาหลายท่านที่โหวตรับหลักการ ขอบคุณสมาชิกบางท่านที่แม้จะไม่ได้โหวตรับหลักการ แต่ก็อภิปรายและแสดงความคิดเห็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

รวมทั้งขอบคุณเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่อำนวยความสะดวกให้การอภิปรายราบรื่น รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชนเข้าชื่อมาเสนอกฎหมายได้ ขอขอบคุณและขอโทษจากใจจริงกับประชาชน 1.3 แสนกว่าคน ที่มาร่วมเดินทางกับเราและประชาชนที่คาดหวังอยากจะให้ร่างฉบับนี้ผ่าน

ต้องยอมรับว่าภารกิจยังไม่สำเร็จ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเราเชื่อว่าถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่มีกระบวนการและเนื้อหาที่ไม่ชอบธรรมเช่นนี้ จะไม่สามารถแก้วิกฤตทางการเมืองได้

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ผ่านมาเกือบ 3 ปีตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 รอบและร่างแก้ไขเดียวที่ผ่านเป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ นี่หรือคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน

นี่หรือคือเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้รัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค กล่าวไว้ว่าเป็นนโยบายประเทศและจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่แตะเรื่องวุฒิสภา การสืบทอดอำนาจก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้จริง

ทั้งนี้ไม่อยากให้ติดกับดักที่ใช้ในการอภิปรายว่าร่างของเราเป็นร่างที่สุดโต่ง ขอยืนยันว่าร่างของเรามีเนื้อหาที่ไม่ได้สุดโต่ง เป็นอะไรที่ปกติมากในระบอบประชาธิปไตย และไม่อยากให้สังคมมองว่าการที่ร่างฉบับนี้ถูกปัดตกเป็นเพราะร่างของเราไกลหรือสุดโต่งเกินไป เหมือนอย่างที่สมาชิกรัฐสภาบางคนทำให้เข้าใจผิด

ด้านนายปิยบุตร กล่าวว่า เราคาดหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีข้อพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนข้างนอกสภา และเราหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะเงี่ยหูฟังเสียงที่ก่นร้องอยู่ข้างนอกสภาดังๆ บ้าง แต่ผลการลงมติก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากยังไม่ยินยอมเปิดประตูให้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ผ่านในวาระที่ 1

ดังนั้นประชาชนที่ร่วมลงชื่อและติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่าเพิ่งสิ้นหวัง พวกเรายังมีลมหายใจ ยังมีความคิด ยังมีกำลังที่จะรณรงค์ต่อไป เพราะทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำได้ยากแต่หากเราไม่เคลื่อนไหว ไม่รณรงค์ต่อไป พวกเขาก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบมาได้อย่างต่อเนื่องตลอดกาล

นี่จึงเป็นภารกิจของพวกเรา ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริงเสียงจริง จำเป็นต้องรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้ต่อไปแม้ว่าจะไม่ประสบความ สำเร็จ ล้มเหลว แม้ว่าจะล้มลงกี่ครั้งก็ตาม เราต้องลุกขึ้นมาใหม่แล้วต่อสู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จจนได้

ในเมื่อประชาธิปไตยแบบทางตรงหรือการมีส่วนร่วมถูกปิดประตูไปในครั้งนี้ ตนคาดหวังอย่างยิ่งว่าระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทนจะทำหน้าที่ในส่วนนี้ต่อ คือส.ส.ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมดหรือเห็นด้วยทั้งหมดก็ตามท่านมีโอกาส

เพราะอีกไม่กี่เดือน ไม่กี่ปีก็จะมีการเลือกตั้งส.ส. จึงฝากความหวังไว้กับส.ส.ที่สนับสนุนร่างฉบับนี้ว่า หากจะนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไปออกแบบเป็นนโยบายและหาเสียงการเลือกครั้งต่อไป พวกเราจะตัดสินใจเลือกท่านกลับเข้ามาเป็นส.ส. มาเป็นเสียงข้างมาเพื่อช่วยกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ

ส่วนเรื่องความรุนแรงต่อจากนี้นั้น ตนประเมินไม่ได้ เพราะตนไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่คนตัดสิน ไม่ใช่ผู้ควบคุมต่างๆ แต่เชื่อว่าสังคมแม้กระทั่งสมาชิกรัฐสภาก็คงคาดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหลายเรื่องเป็นความต้องการของประชาชน และการชุมนุมก็เรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจนถึงวันนี้ก็สามารถแก้ไขได้เพียงแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ คือเรื่องระบบเลือกตั้งเท่านั้น

“การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ และหวังเสมอว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ต้องลงเลือกตั้งตลอดเวลา หูของเขาทั้งสองข้างจะต้องฟังประชาชนตลอด ฉะนั้นนักการเมืองที่จะต้องลงเลือกตั้งจะต้องมีการตอบรับ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนโดยเร็ว”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ