“ไหลตาย” เป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย (พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่) สาเหตุมาจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจตั้งแต่กำเนิด ที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อวางแผนป้องกันโรค
เมื่อหลายปีก่อนเราได้ทราบข่าวจากเพื่อนต่างสถาบันว่า เพื่อนของเพื่อนที่อยู่ในหอพักเดียวกันเสียชีวิตก่อนวันสอบเพียงคืนเดียว สาเหตุมาจากการ “ไหลตาย” เพราะนอนหลับหลังอ่านหนังสืออย่างหนักติดต่อกันหลายวัน และไม่ตื่นขึ้นมาในเช้าวันสอบ และทราบว่าชีพจรไม่เต้นไปเสียเฉยๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้ยินคำว่า “ไหลตาย” และลงมือหาข้อมูลเดี๋ยวนั้นว่าไหลตายคืออะไร ใครที่เคยได้ยินแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร Sanook Health นำข้อมูลมาฝากกัน เพราะเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นใกล้ๆ ตัวคุณในวันหนึ่งเหมือนเราก็ได้
ไหลตาย คืออะไร
อาการไหลตาย เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะอย่างกะทันหัน ทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจกะทันหัน จนทำให้เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน หรือเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นการสืบทอดมาจากพันธุกรรมในครอบครัวนั่นเอง
อาการไหลตาย เป็นอย่างไร
คนส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยในร่างที่เสียชีวิตแล้ว เพราะมักเกิดอาการในขณะที่กำลังนอนหลับพักผ่อน เสมือนนอนหลับแล้วจากไปโดยไม่ตื่นขึ้นมาเสียเฉยๆ มักเป็นการเสียชีวิตอย่างฉับพลันในช่วงเวลากลางคืน
- 6 สัญญาณอันตราย ก่อน “ไหลตาย”
กลุ่มเสี่ยงอาการไหลตาย
อาการไหลตาย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนอายุ 30-50 ปี นอกจากนี้ยังอาจเกิดกับคนที่เคยมีประวัติเกิดภาวะหัวใจเต้นระริกไม่มีการบีบตัว ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือด ไม่มีการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือภาวะกระแสไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ รวมทั้งอาการหายใจเป็นเฮือกๆ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นหลังหัวใจหยุดเต้น คนกลุ่มนี้แม้มีชีวิตรอดจากการช่วยปั๊มหัวใจมาได้ครั้งหนึ่ง ก็ยังมีความเสี่ยงจะเกิดซ้ำอีก
นอกจากนี้ หากพบว่าเคยมีคนในครอบครัว หรือเครือญาติมีประวัติเสียชีวิตจากอาการไหลตาย รวมไปถึงเคยสังเกตตัวเองว่ามีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ก็ถือว่ามีตวามเสี่ยงที่จะเกิดอาการไหลตายได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงต่ออาการไหลตาย
- มีไข้สูง และไม่รีบรักษาให้ไข้ลดลงอย่างเร่งด่วน
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้ยานอนหลับ
- ใช้สารเสพติด
- ทานอาหารประเภทแป้งมากเกินไป รวมถึงอาหารรสเค็มจัด ทำให้ขาดโพแทสเซียม ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบหัวใจให้ทำงานเป็นปกติ
วิธีป้องกันอาการไหลตาย
- หากทราบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กสุขภาพ และคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่เสมอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- หากมีไข้สูง ควรรีบทานยาลดไข้ และหากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ อย่าปล่อยให้ตัวเองมีไข้ไปนานๆ
- ในกรณีที่ตรวจสุขภาพพบว่ามีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาให้ฝังเครื่องกระจุกหัวใจไว้ในตัว
- ทำอย่างไร ไม่ให้ “ไหลตาย”
- “ไหลตาย” แก้ได้ด้วยการจี้หัวใจ ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง