กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งกับ ภาพยนต์แอนิเมชั่นชื่อดังอย่าง “ก้านกล้วย” หลังจากที่บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น ออกมาประกาศว่า “ก้านกล้วย 3” กำลังอยู่ในกระบวนการสร้าง เชื่อว่านี่คงเป็นข่าวดีของใครหลาย ๆ คน ที่ตั้งตารอการกลับมาในรอบ 15 ปี ของพี่ช้างสุดหล่อตัวนี้
ถึงแม้ว่าก้านกล้วยจะมีความนิยมในหมู่คนไทยมานาน แต่ก็ยังมีอีกเรื่องนี้ที่บางคนอาจยังเข้าใจผิดอยู่ นั่นคือ “ก้านกล้วย เป็นชื่อจริง ๆ ของช้างพระที่นั่งพระนเรศวร” ด้วยความที่แอนิเมชั่นเรื่องนี้เล่าย้อนไปถึงสมัยสงครามยุทธหัตถี ทำให้หลายคนอาจเข้าใจผิด
Sanook จึงอยากพาทุกคนมารู้จักช้างคู่บุญของสมเด็จพระนเรศวร ว่ามีนามว่าอะไร? แอบกระซิบว่ามีเปิดชื่อพี่ช้างตาแดง แบดบอยขวัญใจโซเชียลด้วยนะ จะเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย!
ตัวจริง “ก้านกล้วย” ชื่อว่าอะไร?
ในภาพยนต์ ก้านกล้วย เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งหากนำมาเทียบกับประวัติศาสตร์ พบว่าช้างคู่บุญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”
โดยในแต่ละบันทึกระบุว่ามีชื่อเดิมต่างกันออกไป มีทั้งชื่อ พลายภูเขาทอง, พลายมิ่งเมือง และพลายพุทรากระแทก แต่ส่วนใหญ่จะระบุว่าชื่อ “พรายภูเขาทอง“
ในพงศาวดาร ระบุว่า ช้างตัวนี้ เป็นช้างที่มีความจงรักภักดี และมีความกล้าหาญเสียสละ ช่วยกอบกู้ชาติโดยได้ร่วมรบในสงครามยุทธหัตถีระหว่าง “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และ “พระมหาอุปราชา”
สงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135
ฉากสงครามยุทธหัตถี ในก้านกล้วย ถือได้ว่าเป็นฉากที่อยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน และเรียกได้ว่าเป็นไคลแมกซ์ของก้านกล้วย 1 จำได้ว่าดูแล้วลุ้นตัวโก่งสุด ๆ ซึ่งในประวัติศาสตร์เองก็มีการจารึกเหตุการณ์นี้ไว้ด้วยเช่นกัน
ในปี 2135 “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และ “พระมหาอุปราชามังกะยอชวา” แห่งกรุงหงสาวดี (พม่า)ได้มีการทำยุทธหัตถี ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยในตอนนั้นไทยเสียเปรียบ เนื่องจากช้างของพระอุปราชา ที่มีนามว่า “พลายพัทธกอ” (หรือที่รู้จักกันในก้านกล้วย อย่าง “ช้างตาแดง”) มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” มาก
ทั้งนี้สาเหตุที่ช้างพม่า มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าของอยุธยา คาดว่าเป็นเพราะพม่ามีธรรมเนียมให้ประเทศราชส่งช้างไปให้ 30 เชือกทุกปี โดยมีเงื่อนไขว่าช้างที่ส่งไปต้องผ่านการคัดกรองมาอย่างดี ซึ่งอยุธยาเป็นหนึ่งในประเทศราช จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องส่งช้างดี ๆ ไป
ประกอบกับพระมหาอุปราชาสามารถเลือกช้างที่มีคุณลักษณะอันโดดเด่นและเพียบพร้อมในการออกศึก จึงทำให้อยุธยาเสียเปรียบในเรื่องขนาดตัวช้าง
นอกจากนี้จำนวนของทหาร เข้าร่วมในครั้งนี้ยังเสียเปรียบอีกด้วย โดยฝั่งหงสาวดีมีทหารเข้าร่วม 240,000 คน แต่ไทยเพียง 100,000 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในการทำยุทธหัตถีครั้งนี้ฝั่งอยุธยาเป็นฝ่ายชนะ โดยพระนเรศวรได้อาศัยจังหวะ ใช้พระแสงของ้าว(อาวุธ) ฟันพระมหาอุปราชา บริเวณพระอังสะขวา (บ่า) จนพระมหาอุปราชาจนสิ้นพระชนม์กับคอช้าง
หลังจากสงครามยุทธหัตถีได้ 4 ปี (พ.ศ.2139) เจ้าพระยาปราบหงสาวดีก็ล้มลง พระนเรศวรได้โปรดให้มีการจัดงานมหรสพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน และมีการสร้างเมรุ เพื่อพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติยศ