อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าปี 2566 นี้ บางกอก ไพร์ด 2023 จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 มิถุนายนนี้พร้อม บางกอกไพร์ดพาเหรดที่ขยับจากย่านสีลมมาที่แยกปทุมวัน ตั้งต้นกันบริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) สำหรับเดือนไพร์ด (Pride) ซึ่งก็คือมิถุนายนนอกจากจะเป็นเดือนแห่งความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ที่ได้มาร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month กันในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ จุดประสงค์สำคัญอีกอย่างคือการผลักดันเรื่องของความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริงในสังคม โดยเฉพาะในสังคมไทย
ปีนี้ บางกอก ไพร์ด 2023 มากับแคมเปญ Road To Bangkok World Pride 2028 เพื่อผลักดันให้กรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Pride ที่จะจัดขึ้นทุกๆ สองปีในปี 2028 ต่อจาก 3 เมืองใหญ่อย่าง ซิดนีย์ ที่เป็นเจ้าภาพในปีนี้ วอชิงตัน ดีซี ปี 2025 และอัมสเตอร์ดัม ในปี 2026 ซึ่งแคมเปญของปีนี้ก็เกิดขึ้นเพื่อย้ำเตือนว่ากรุงเทพมหานครและประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมที่จะเป็นสังคมที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายและเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดย วาดดาว – ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ก็ได้กล่าวว่าประเทศไทยมีเวลา 1 ปีในการเข้าเสนอชื่อเพื่อให้ได้เป็นประเทศแรกของเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพ WorldPride และอีก 5 ปีสำหรับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างเป็นทางการ
กิจกรรมหลักในปีนี้ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้เริ่มต้นจาก บางกอกไพร์ดพาเหรด ที่จะเริ่มตั้งขบวนในเวลา 14:00 น.บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขบวนพาเหรดจะเริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์พร้อมร่วมโบกสะบัดธงสีรุ้งยาว 144.8 เมตร และกิจกรรมไฮไลต์มาเพิ่มความสนุกตลอดเส้นทาง อีกทั้งในปีนี้ยังเป็นปีแรกที่มี Pride Stage จัดขึ้นบริเวณหน้าลานเซนทรัลเวิลด์ เหล่าศิลปิน ดีเจและ Drag Show จะมาเปิดฟลอร์ปาร์ตี้กลางสยามจนถึงเวลา 20:00 น. กันเลย แค่คิดก็น่าสนุกแล้ว
แน่นอนว่า Pride Month ไม่ใช่แคมเปญหรือสีสันที่เกิดขึ้นมาเพื่อการเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่เรายังต้องให้ความสำคัญเพื่อสนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกๆ คน ปีนี้ทางนฤมิตไพรด์ได้ร่วมมือกับทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐ ซึ่งทางด้าน ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าความท้าทายอย่างหนึ่งคือการผลักดันนโยบายและกฏหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสมรสเท่าเทียมที่รณรงค์กันมานานหรือกฏหมายคุ้มครองเพศสภาพ ไปจนถึงรัฐสวัสดิการที่อำนวยในด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQIAN+ ให้เกิดขึ้นจริงๆ ก่อนที่จะมีการจัดงาน World Pride ในฐานะเจ้าภาพปี 2028 บางกอก ไพร์ด ในปีนี้จึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นและนิมิตหมายที่ดีที่หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
แต่นอกจากกิจกรรมอย่างเต็มรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2566 นี้ ตลอดเดือนยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทุกคนได้ติดตามกันอยู่เรื่อยๆ โครงการหนึ่งที่น่าสนใจคือ Rainbow Sharing หรือโครงการที่ทางนฤมิตไพร์ดชวนผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยมาร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมและร่วมเปลี่ยนภาพ Rainbow Washing ให้เป็นการสนับสนุนชุมชนผู้มีความหลากหลายอย่างแท้จริง ไม่ใช่การออกแบบสินค้าเพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากการใช้สีรุ้งแล้วจบไป ฝั่งศิลปะได้มีโครงการจัดประกวดการสร้างสรรค์ภาพเพื่อสื่อสารถึงแคมเปญ Road To Bangkok World Pride 2028 โดยตอนนี้ได้มีการจัดแสดงผลงานที่ได้รับการคัดเลือกอันดับหนึ่ง ได้แก่ “The Road to Equality: Bangkok WorldPride 2028” โดยศิลปิน สรธร หวังนิตย์สุข บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และอีก 9 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกจะทำการจัดแสดงบริเวณชั้น 1 ของศูนย์การค้าสยาม เซ็นเตอร์ สามารถไปรับแรงบันดาลใจได้ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนนี้เลย
Fact File
ติดตามความเคลื่อนไหวของทุกกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/bangkokpride2023