ไม่เก่งอะไร ให้ไปฝึกทุ่ม : ลูกทุ่มกับฟุตบอลยุคใหม่ "แค่ไกลไม่ตอบโจทย์"

Home » ไม่เก่งอะไร ให้ไปฝึกทุ่ม : ลูกทุ่มกับฟุตบอลยุคใหม่ "แค่ไกลไม่ตอบโจทย์"
ไม่เก่งอะไร ให้ไปฝึกทุ่ม : ลูกทุ่มกับฟุตบอลยุคใหม่ "แค่ไกลไม่ตอบโจทย์"

ไม่มีใครทุ่มไกลได้เก่งเท่ากับ รอรี่ ดีแลป อดีตนักเตะของ สโต๊ค ซิตี้ อีกแล้ว ลูกทุ่มของเขาสมบูรณ์แบบ สร้างประตูมากกว่า 10 ลูกในฤดูกาล … แต่เหตุใดยุคนี้จึงไม่มีใครทำอย่างเขาได้ แล้วทำไมไม่มีทีมไหนใช้สูตรทุ่มไกลจากนักเตะคนเดียวดูบ้างล่ะ ?

นี่คือเรื่องราวของการทุ่มในโลกฟุตบอลยุคใหม่ที่ไม่ได้ใช้แรงอย่างเดียว เพราะทุกวันนี้แค่ไกลอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องทุ่มอย่างเป็นมืออาชีพด้วย 

หากการฝึกซ้อมสำเร็จเมื่อไหร่ นักเตะธรรมดา ๆ อาจจะกลายเป็นตัวอันตรายระดับที่ ดีแลป ทำไว้ได้เลยทีเดียว

 

เคล็ดลับนั้นคืออะไร ? หาคำตอบได้ที่นี่กับ Main Stand

ทุ่มไกล … “ใช่” แต่ไม่ 100% 

พูดถึงเรื่องลูกทุ่ม ไม่มีใครจะไม่นึกถึง รอรี่ ดีแลป นักเตะกองกลางของทีม สโต๊ค ซิตี้ ที่สร้างตำนานทุ่มไกลเขย่าพรีเมียร์ลีก จนทำให้หลายคนรับรู้ถึงความอันตรายของลูกทุ่มที่แม่น แรง และหวังผลได้พอ ๆ กับลูกตั้งเตะเลยทีเดียว


Photo : www.90min.com

อย่างไรก็ตาม กรณีความเทพระดับ “เกิดมาเพื่อทุ่ม” อย่างดีแลปนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ทุกคน แม้แต่เขาเองยังบอกไม่ได้ว่าเคล็ดลับคืออะไร ทำไมเขาถึงสามารถทำให้วิถีลูกทุ่มพุ่งเข้าเป้าได้ขนาดนั้น หลัก ๆ แล้ว ดีแลปต้องการแค่ผ้าขนหนูสักผืนเพื่อเช็ดบอลให้แห้ง กันบอลลื่นออกจากมือเวลาทุ่มออกไป ส่วนเทคนิคที่เขาบอกได้ก็คือ เขาได้รับอิทธิพลมาจากการพุ่งแหลน กีฬาที่เขาเล่นมาตั้งแต่อายุ 15 ปี มันทำให้วงสวิงในการเหวี่ยงแขนของเขามีพลัง

ในฤดูกาล 2007-08 ดีแลปและลูกทุ่มของเขา ช่วยให้สโต๊คได้ประตูถึง 8 ลูก ในการแข่งขันพรีเมียร์ลีก แม้ไม่ใช่ตัวเลขที่มากมายนัก แต่สำหรับทีมท้ายตารางอย่างสโต๊ค ทุกประตูล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป การทุ่มไกลก็เริ่มจะห่างหายไปจากฟุตบอลอังกฤษพร้อม ๆ กับดีแลป ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

คำตอบของเรื่องนี้มันเป็นเหตุและเป็นผลอย่างที่สุด ดีแลปบอกว่าการทุ่มของเขา ทำให้สโต๊คไม่ต้องกลัวใครหรือทีมหน้าไหน เพราะพวกเขาสามารถสร้างโอกาสลุ้นประตูได้ทุกครั้งเมื่อบอลออกข้าง แต่สิ่งนั้นก็ต้องแลกมาด้วยอาการบาดเจ็บที่หลังของเขา ในช่วงท้ายอาชีพ ดีแลปไม่สามารถทุ่มได้อย่างเดิม เพราะหลังของเขามีอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง แพทย์บอกว่าการทุ่มส่งผลต่อแผ่นหลังของเขา หลังจากนั้นเขาก็หยุดใช้ลูกทุ่มไกลแบบที่เคยทำ

สโต๊คเสียจุดเด่นเรื่องนี้ไปแล้ว และมันส่งผลถึงขั้นทำให้พวกเขาตกชั้นในฤดูกาล 2017-18 หรือ 5 ปีหลังดีแลปย้ายออกจากทีมไปเพราะทุ่มไกลไม่ได้เหมือนเคย และผลกระทบยังไม่จบแค่นั้น อาการบาดเจ็บที่หลังของดีแลป ส่งผลให้เขาต้องแขวนสตั๊ดในช่วงปล่ายปี 2013 หลังออกจากทีมช่างปั้นหม้อไม่ถึงปี

เรื่องนี้ทำให้เราเห็นได้ว่าการทุ่มไกลนั้นแม้จะสร้างโอกาสได้ แต่การหวังจากลูกทุ่มไกลเพียงอย่างเดียวเป็นทางเลือกที่ผิด ฟุตบอลคือกีฬาที่คุณจะชนะได้ด้วยการใช้เท้าเป็นหลัก คุณต้องควบคุมบอลด้วยให้ได้ก่อนเป็นอย่างแรก ตำนานของดีแลป กลายเป็นเรื่องเล่าขานในแบบที่ยังหาใครทำซ้ำไม่ได้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ 

สิ่งที่น่าแปลกประหลาดใจคือ ในขณะที่ทุกคนพูดว่าสโต๊คอยู่ได้ด้วยลูกทุ่มของเขา และหลายคนจำเขาในภาพอื่น ๆ ไม่ได้เลยนอกจาก “บุรุษหนังสติ๊ก” แต่ ดีแลป พูดเองเสมอว่า การทุ่มไกลเป็นเพียงอาวุธเสริมเท่านั้น สิ่งที่ทำให้เขาเล่นฟุตบอลในระดับสูงได้ 13-14 ปี คือความเข้าใจเกม และทำหน้าที่หลัก ๆ ด้วยการใช้เท้ามากกว่า

 

ในขณะที่หลายคนบอกว่า หากมีคนทุ่มไกลอย่างดีแลปอยู่ในทีมก็คงจะดี เขากลับตอบไปว่านั่นคือแนวคิดที่ค่อนข้างจะหลุดโลกและเกินความจริงไปมาก เพราะแม้แต่เขาที่กลายเป็นโค้ชหลังจากแขวนสตั๊ดก็ยอมรับว่า เขาเองไม่สามารถสอนให้ลูกทีมทุ่มไกลได้ และเขาก็ไม่เคยคิดจะให้ลูกทีมเน้นซ้อมเรื่องการทุ่มไกลเป็นพิเศษด้วย 


Photo : www.the42.ie

“การทุ่มเป็นส่วนหนึ่งของเกมก็จริงอยู่ แต่คุณจะได้ทุ่มได้สักกี่ครั้งกันในเกม 90 นาที ผมว่าน่าจะราว ๆ 20-25 ครั้งได้ ยิ่งการได้ทุ่มจากระยะที่สามารถทุ่มไกลจนถึงประตูได้ก็ไม่น่าจะเกิน 6-7 ครั้ง ดังนั้นผมคงไม่แนะนำให้นักเตะในทีมของผมซ้อมเล่นลูกทุ่มไกลวันละเป็นชั่วโมง ๆ หรอก สิ่งสำคัญของฟุตบอลคือคุณจะเป็นฝ่ายครอบครองบอลได้อย่างไรต่างหาก” ดีแลป ที่ครั้งหนึ่งรับบทกุนซือขัดตาทัพของสโต๊คกล่าว 

ถ้าเจ้าพ่อต้นตำรับเรื่องการทุ่มไกลยังบอกว่า “ไปฝึกอย่างอื่นดีกว่า” ดังนั้นลูกทุ่มยังสำคัญอยู่ไหม ทุ่มไกลยังอันตรายอยู่หรือเปล่าในโลกฟุตบอลปัจจุบันนี้ … และนี่คือคำตอบ

ถ้าทุ่มไกลแล้วเจ็บ … ทำไมการทุ่มยังสำคัญ ? 

การทุ่มไกลทำให้เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ และเป็นการเน้นที่ผิดจุดเกินไปหากจะใช้มันเป็นอาวุธหลัก ดังนั้นลูกทุ่มยังมีประโยชน์อะไรอีกนอกจากการพยายามทุ่มเพื่อเอาบอลลงนิ่ง ๆ และเล่นจังหวะต่อไปให้ได้ ? 


Photo : thesefootballtimes.co

เรื่องนี้อาจจะยังไม่แน่ชัดนักในช่วงหลังจากที่ดีแลปเลิกเล่น เมื่อเขาเลิก คนก็พูดถึงเรื่องการทุ่มน้อยลง ทว่าฟุตบอลก็เหมือนกับเทรนด์การแต่งตัวนั่นแหละ สิ่งเก่า ๆ วนกลับมาเป็นของใหม่ได้เสมอ ผ่านการปรับปรุงโน่นนิดนี่หน่อย ลูกทุ่มกลับกลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่หลายสโมสรระดับโลกเริ่มพิจารณาเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว

“ถ้าทุ่มไกลไม่ได้ ก็จงทุ่มใกล้ ๆ แต่ให้ได้ประโยชน์ แม้แรงแขนของคุณจะทุ่มแบบโป้งเดียวถึงหน้าปากประตูแบบผมไม่ได้ ก็จงทุ่มให้เพื่อนร่วมทีมเล่นง่ายที่สุด มันอาจจะต้องเพิ่มจังหวะการเล่นอีกเล็กน้อย แต่ปลายทางคือหากคุณทุ่มดีแล้วเพื่อนเล่นง่าย และซักซ้อมการรับส่งมาอย่างเข้าใจ เพื่อนของคุณก็สามารถโยนบอลเข้าไปในกรอบเขตโทษได้เหมือนกัน” นี่คือสิ่งที่ดีแลปทิ้งท้ายหลังจากผ่านยุคทุ่มไกลของเขามา 

คำกล่าวของเขาตรงใจและบังเอิญเกิดขึ้นจริงกับทีม ลิเวอร์พูล ภายใต้การนำทีมของ เยอร์เก้น คล็อปป์ พวกเขาเป็นทีมแรก ๆ ที่ยอมเพิ่มตำแหน่งโค้ชในทีม เพื่อให้พื้นที่กับผู้เชี่ยวชาญด้านการทุ่มโดยเฉพาะ

 

หลังจากจบฤดูกาล 2017-18 ลิเวอร์พูล กำลังอยู่ในช่วงที่ “เกือบสำเร็จ” พวกเขาทำอันดับติดท็อป 4 ของพรีเมียร์ลีกหวุดหวิด และได้รองแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกจากความพ่ายแพ้ต่อ เรอัล มาดริด 1-3 … คล็อปป์สำรวจและเพ่งพิจารณาจนเขาพบว่า มีบางสิ่งที่ทีมของเขายังทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ เมื่อเขารู้ข่าวการมีอยู่ของโค้ชการทุ่มบอลที่ชื่อว่า โธมัส กรอนเนมาร์ค ชายผู้ทำสถิติทุ่มไกลที่สุดใน กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์

ไหนว่าการทุ่มไกลมันตกยุคไปแล้ว ทำไมคล็อปป์ยังต้องจ้างโค้ชเพื่อมาทุ่มไกลอีก ? … คำตอบของเรื่องนี้คือ คล็อปป์เข้าใจชัดแจ้งเมื่อได้นัดคุยกับกรอนเนมาร์คเป็นการส่วนตัว ประเด็นคือเขาไม่ได่เก่งแค่ทุ่มไกล แต่เขาคือคนที่ศึกษาเรื่องการทุ่มในทุกรูปแบบ 


Photo : www.standard.co.uk

“ฟุตบอลก้าวหน้าได้ช้ากว่ากีฬาอื่น ๆ ในความคิดของผม ถ้าคุณดูสถิติ คุณจะเห็นว่าลูกตั้งเตะมีส่วนสำคัญกับฟุตบอลสมัยใหม่มากขึ้น แต่หลายคนมองข้ามลูกทุ่มไป งานของผมและสิ่งที่ผมอยากทำคือการทำให้ทีมสามารถเล่นลูกทุ่มด้วยความน่ากลัวเหมือนกับที่ดีแลปทำ แม้จะแตกต่างด้วยวิธีการ แต่ผลลัพธ์เหมือนกัน” กรอนเนมาร์ค ว่าถึงงานของเขา 

กรอนเนมาร์คพบว่าการทุ่มใกล้คือสิ่งที่หลายคนมองข้าม มีการทุ่มบอลเกินกว่า 50% ที่ฝ่ายรุกเสียบอลให้คู่ต่อสู้ และบางครั้งมันร้ายแรงไปจนถึงขึ้นเสียประตู อาทิ ในเกมนัดชิงแชมเปี้ยนส์ลีกปี 2011 ที่ บาร์เซโลน่า พบกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเกมนั้น เอริค อบิดัล ทุ่มบอลพลาดในแดนตัวเอง พวกเขาโดนตัดบอลและจบด้วยการยิงประตูตีเสมอของยูไนเต็ด โดย เวย์น รูนี่ย์ (แม้สุดท้าย บาร์ซ่าจะเอาชนะแบบไม่ยากเย็นนักด้วยสกอร์ 3-1 ก็ตาม)

 

สิ่งที่เขาพยายามจะบอกคือ หลายทีมมองข้ามการทุ่มจนกลายเป็นความกลัวลูกทุ่ม เมื่อพวกเขาต้องทุ่มในแดนตัวเอง พวกเขากลัวที่จะต้องทำมันเพราะอาจจะเป็นการเสียบอลได้ สิ่งที่จะช่วยแก้จุดนี้ได้คือการซ้อม ไม่ว่าจะทุ่มใกล้ ที่เน้นตั้งแต่คนทุ่ม ไปจนถึงจังหวะที่เพื่อนร่วมทีมขยับเข้ามารับบอล พวกเขาจะส่งบอลต่อไปทางไหน และจะแก้เพรสซิ่งออกได้อย่างไร 

การซ้อมทุ่มใกล้ทำให้ทีมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องรอช้า พวกเขาไม่ต้องรอให้ฟูลแบ็กขึ้นมาเล่นลูกทุ่มอีกแล้ว หากผ่านการฝึกซ้อมทุกคนสามารถเล่นลูกทุ่มสั้นให้มีประสิทธิภาพ และจบลงด้วยการพาบอลไปสร้างโอกาสยิงประตูได้

ขณะที่ฟูลแบ็กกลายเป็นตำแหน่งที่สามารถเพิ่มทางเลือกในการทุ่มได้ดีมากกว่าเดิม หากอ้างอิงจากการสอนของกรอนเนมาร์ค เขาทำให้ โจ โกเมซ, เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และ แอนดี้ โรเบิร์ตสัน สามารถทุ่มไกลได้ในยามที่จำเป็น ลูกทุ่มไกลที่มีประสิทธิภาพแบบที่เขาสอนคือการทุ่มที่ไม่โด่งหรือบอลลอยค้างเพราะจะง่ายต่อการป้องกัน แต่ต้องเป็นการทุ่มไกลที่พุ่งและราบไปยังเป้าหมายที่เล็งไว้ 


Photo : www.thisisanfield.com

มีการเปิดเผยจากเว็บไซต์ statbomb.com ที่พูดถึงเรื่องการทุ่มใกล้และไกลว่า หลังจากที่กรอนเนมาร์คเข้ามารับตำแหน่งโค้ช จากทีมที่เคยซ้อมทุ่มเพียง 15 นาทีต่อสัปดาห์ กลายเป็นทีมที่ซ้อมจังหวะทุ่มทุกวัน หนึ่งปีเท่านั้น ลิเวอร์พูล ได้ประตูที่มีจุดเริ่มต้นจากลูกทุ่มทั้งหมด 15 ลูก พวกเขาจบฤดูกาล 2018-19 ด้วยการเป็นแชมป์แชมเปี้ยนส์ลีก ต่อด้วยการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกในปีถัดมา

ไม่ใช่แค่ลิเวอร์พูลทีมเดียวเท่านั้นที่เล่นลูกทุ่มได้เก่งกว่าที่เคย สโมสรอย่าง มิดทิลลันด์ ทีมในลีกสูงสุดของประเทศเดนมาร์ก ที่ใช้เวลาตั้งแต่ฤดูกาล 2015 ถึง 2018 ได้ประตูจากลูกทุ่มทั้งหมด 30 ประตู, แอตเลติโก มาดริด ในฤดูกาล 2014-15 สร้างประตูจากลูกทุ่มไกลทั้งหมด 3 ลูก และสร้างโอกาสเข้าทำจากการทุ่มใกล้อีกนับไม่ถ้วน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่า 20% จากที่พวกเขาเคยทำได้

จากทุ่มไกลสู่การทุ่มใกล้ … ทำให้คุณเป็นนักเตะที่ดีขึ้น

อิมแพกต์จากความสำคัญของลูกทุ่มในฟุตบอลสมัยนี้ จะเปลี่ยนแปลงโลกฟุตบอลไปทีละนิด ๆ อย่างที่กรอนเนมาร์คเคยบอกว่า ฟุตบอลยังล้าหลังหากเทียบกับกีฬาอื่นเพราะไม่เคยสนใจรายละเอียดอย่างลูกทุ่ม แต่เมื่อพวกเขาเห็นความสำคัญไม่ว่าจะจากการแข่งขันจริงหรือสถิติตัวเลข มันเป็นหลักฐานที่แน่ชัดที่ทำให้มันมีเหตุผลมากพอสำหรับการซ้อมทุ่ม หรือการทำให้นักเตะสักคนกลายเป็นนักเตะที่ดีขึ้นด้วยการทุ่มบอล 


Photo : www.givemesport.com

ดีแลปเคยกล่าวไว้ในยุคของเขาว่า การเอาแต่ฝึกแต่ทุ่มเป็นทางเลือกที่ผิด แต่ตอนนี้เขาอาจต้องคิดใหม่ เพราะไม่ใช่แค่การทุ่มไกลเท่านั้นที่สามารถสร้างโอกาสในเกมรุก หรือลดโอกาสเสียประตูได้อีกต่อไปแล้ว การทุ่มสั้น การดึงจังหวะช้าเร็ว จะส่งผลยิ่งกว่าที่เคย โดยเฉพาะในเกมที่มีการทุ่มเกิน 40-50 ครั้ง หากคุณเลือกช็อตเล่นได้ดี มีไกล มีใกล้ มีทุ่มเร็ว มีดึงจังหวะ มีการใช้ลูกซ้อม มันย่อมดีกว่าการมองข้ามสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว 

ปัจจุบันทีมอย่าง เบรนท์ฟอร์ด น้องใหม่ในพรีเมียร์ลีก เลือกเอาการทุ่มมาเป็นหนึ่งในอาวุธลับของพวกเขา และเคยเล่นงานในนัดเปิดสนามใส่ อาร์เซน่อล ที่พวกเขาชนะ 2-0 ในเกมนั้น เบรนท์ฟอร์ดได้ทุ่มไกล 3 ครั้ง จากนักเตะ 2 คนคือ อีธาน พินน็อค กับ แมดส์ เบ็ค โซเรนเซ่น และนำไปสู่จังหวะลุ้นประตู 2 ครั้ง และได้ประตูมา 1 ลูก นอกจากนี้พวกเขายังใช้การทุ่มที่ซักซ้อมกันมาเพื่อแกะเพรสซิ่ง ทำให้แทบไม่เสียบอลให้กับอาร์เซน่อล จนเป็นเกมที่ทำให้น้องใหม่ข่มทีมใหญ่ได้ตลอด 90 นาที


Photo : www.reuters.com

ทุกประตู ทุกแต้มมีค่า โดยเฉพาะสำหรับทีมเล็ก ๆ ที่ไม่มีเงินซื้อนักเตะคุณภาพมากมายนัก หากพวกเขาฝึกนักเตะให้ทุ่มเก่ง ทุ่มได้เปรียบได้เมื่อไร จากนักเตะธรรมดา ๆ ก็กลายเป็นตัวอันตรายเมื่อพวกเขาได้โอกาสเล่นลูกทุ่มขึ้นมาทันที 

เพราะฟุตบอลยุคปัจจุบันคือทุนนิยมเต็มรูปแบบ ทุกประตูมีคุณค่า ทุกอันดับมีเงินรางวัลเป็นเดิมพัน ทุกการอยู่รอดยิ่งแล้วใหญ่ การได้เล่นในลีกสูงสุดสร้างเงินให้พวกเขาได้มากกว่า 100 ล้านปอนด์ ดังนั้นไม่ว่าจะทุ่มสั้นหรือยาว หากฝึกซ้อมจนชำนาญ และรู้วิธีเปลี่ยนจังหวะทุ่มในการสร้างโอกาสได้แล้ว อย่างไรเสียมันย่อมดีกว่าการทุ่มบอลไปให้พ้นตัวอยู่แล้ว 

“1 ประตูในพรีเมียร์ลีกตอนนี้มีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านปอนด์ ความสามารถในการคิดเป้าหมายพิเศษเหล่านี้ด้วยเวลาและการทำงานหนักนั้นมีค่ามหาศาล” เท็ด คนุตสัน นักเขียนของเว็บไซต์ statbomb กล่าวในบทความที่เขาเขียนขึ้นภายใต้ชื่อ “เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการเล่นลูกนิ่ง” คนุตสัน เขียนบทความนี้ไว้เมื่อปี 2016 ซึ่งในตอนนี้ภาพที่เขาบอกมันก็ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการทุ่มสำคัญขนาดไหน และการซ้อมทุ่มสร้างความแตกต่างได้อย่างไร 

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันกับมุมมองนี้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ