"ไทยร่วมใจ" นัดคิวใหม่ ผู้ที่ถูกเลื่อนฉีดวัคซีนโควิด 19-23 มิ.ย. เผยโควตาสูงอายุยังเหลือ

Home » "ไทยร่วมใจ" นัดคิวใหม่ ผู้ที่ถูกเลื่อนฉีดวัคซีนโควิด 19-23 มิ.ย. เผยโควตาสูงอายุยังเหลือ
"ไทยร่วมใจ" นัดคิวใหม่ ผู้ที่ถูกเลื่อนฉีดวัคซีนโควิด 19-23 มิ.ย. เผยโควตาสูงอายุยังเหลือ

กทม. ลุยฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ เผยโควตายังเหลือ พร้อมนัดประชาชนที่ถูกเลื่อนคิว ช่วง 19-23 มิ.ย. ให้มาฉีดในวันพรุ่งนี้ จนถึง 23 ก.ค. ส่วนที่เหลือรอวัคซีนเข้ามาจะนัดอีกครั้ง

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย พร้อมด้วย ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าว สรุปการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ตามกำหนดการแต่เดิม กทม. จะได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตราซิเนกา จำนวนรวม 5 ล้านโดส ในวันที่ 5 พ.ค. 64 แต่มีปัญหาไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด ส่งผลให้กทม.ต้องประกาศเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ได้ลงทะเบียนผ่านโครงการไทยร่วมใจ

กระทั่ง กทม. ได้รับวัคซีนจำนวน 5 แสนโดส และได้ดำเนินการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มแรกคือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ขึ้นไป เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าผู้ที่ลงทะเบียนไว้เดินทางเข้ารับการฉีดต่อเนื่อง แต่มีผู้สูงอายุบางกลุ่มได้ลงทะเบียนไว้กับโครงการอื่น จึงส่งผลให้ขณะนี้โควตาวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุในโครงการไทยร่วมใจเหลือ หากผู้สูงอายุคนใดยังไม่ได้ลงทะเบียนเข้าฉีดวัคซีนสามารถลงทะเบียนได้ที่โครงการไทยร่วมใจได้ทันที

ส่วนประชาชนกลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่ลงทะเบียนและมีคิวฉีดวัคซีนเดิมระหว่างวันที่ 19-23 มิ.ย. 64 ให้เข้าฉีดได้ตามวันนัดใหม่ คือ 22-26 ก.ค. 64 นี้ ส่วนผู้ที่มีคิวนัดเดิมตั้งแต่ 24 มิ.ย. 64 เป็นต้นไปให้รอแจ้งนัดหมายใหม่อีกครั้งหลังได้รับการจัดสรรวัคซีนเข้ามาเพิ่ม

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. พบว่าในพื้นที่ กทม. ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนไปแล้วจำนวน 63,700 ราย ฉีดให้ผู้ที่มีโรคประจำตัว กว่า 46,000 ราย รวมทุกกลุ่มอายุฉีดไปแล้วเกิน 50% โดยตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนเกิน 70% ภายในสิ้นเดือนนี้

นพ.สุขสันต์ ยังระบุถึงการบริหารจัดการเตียงในพื้นที่ กทม. ว่า สำหรับประชาชนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด แต่ไม่แสดงอาการ หรือเป็นผู้ป่วยสีเขียวนั้นในขั้นแรกสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะให้เข้าสู่ระบบกักตัวที่บ้าน โดยจะมีแพทย์ติดต่อดูแลอย่างใกล้ชิด แต่หากไม่สะดวกหรือไม่มีพื้นที่สำหรับกักตัว ก็จะนำไปเข้าสู่การกักตัวที่ Hospital

ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดงจะนำเข้าสู่การรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป พร้อมยอมรับว่าปัญหาการขาดแคลนเตียงนั้นพบในผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอาการและต้องเข้าสู่การรักษาในสถานพยาบาล ขณะนี้ทางสำนักการแพทย์อยู่ระหว่างการดำเนินการเพิ่มเตียงให้เพียงพอต่อการรักษา

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ