ได้เห็นเป็นบุญตา "เวน คอร์ต" พระตำหนัก ร.7 พำนักหลังสละราชสมบัติ ที่ประกาศขายล่าสุด!

Home » ได้เห็นเป็นบุญตา "เวน คอร์ต" พระตำหนัก ร.7 พำนักหลังสละราชสมบัติ ที่ประกาศขายล่าสุด!
ได้เห็นเป็นบุญตา "เวน คอร์ต" พระตำหนัก ร.7 พำนักหลังสละราชสมบัติ ที่ประกาศขายล่าสุด!

เปิดราคาและภาพด้านใน ประกาศขาย “เวน คอร์ต” พระตำหนัก ร.7 ที่พำนักหลังสละราชสมบัติ 

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เว็บไซต์ขายบ้านในประเทศอังกฤษ inigo.com ได้มีการประกาศขายพระตำหนัก เวน คอร์ต พระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ที่เคยประทับหลังการสละราชสมบัติ ในช่วงระหว่างปี 2480-2482 โดยทรงสร้างสวนน้ำที่งดงามราวกับสรวงสวรรค์ และสะพานหินที่ทอดข้ามสระน้ำนั้น

คฤหาสน์สองชั้นที่มีเพดานสูงหลังนี้ เชื่อกันว่ามีอายุกว่า 1,419 ปี ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบิ้ดเด็นเด็น (Biddenden) ใกล้เมืองแอชฟอร์ด (Ashford) ในจังหวัดเคนท์ (Kent) ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 200 ไมล์

ตัวบ้านหลักมีพื้นที่ภายในมากกว่า 6,500 ตารางฟุต ประกอบด้วยห้องนอน 7 ห้อง ห้องนั่งเล่นและห้องอเนกประสงค์หลายห้อง บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 5.36 เอเคอร์ ล้อมรอบด้วยสวนและสระอันเงียบสงบ พร้อมสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส และโรงจอดรถสำหรับรถ 4 คัน โดยเจ้าของปัจจุบันได้ปรับปรุงซ่อมแซมอย่างครอบคลุม และตั้งราคาขายไว้ที่ 3,950,000 ปอนด์ (ประมาณ 172,988,470 บาท)

ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ library.stou  ณ พระตำหนักเวนคอร์ตนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระสำราญมาก พระจริยวัตรประจำวันที่ทรงโปรดปรานมากที่สุด คือ เสด็จลงทำสวนและปลูกต้นคาร์เนชั่น ทั้งสองพระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างสามัญชน โปรดเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรดอกไม้ในสวน มีสะพานเล็กๆ มีบ่อน้ำทรงเลี้ยงเป็ดเทศไว้หลายพันธุ์ ทรงประทับริมบ่อน้ำและประทานขนมปังโยนลงให้เป็ด

ขณะที่ หนังสือพิมพ์ Sunday Dispatch เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2481) ได้รายงานจากหมู่บ้านบิ้ดเด็นเด็น ระบุว่า “บรรดาชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ต่างรักและเทิดทูนพระองค์ด้วยทรงพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณ (generosity and kindness) พวกเขาได้เฝ้าฯ บ่อย ๆ เพราะแทนที่จะทรงสั่งซื้อของและให้ร้านในเมืองไปส่งที่พระตำหนัก กลับทรงจักรยานตามถนนเล็ก ๆ ของหมู่บ้าน เพื่อทรงจับจ่ายจากร้านในหมู่บ้าน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมมาก เพราะสัปดาห์หนึ่งจะทรงซื้อของที่ร้านหนึ่ง อีกสัปดาห์หนึ่งที่อีกร้านหนึ่ง อีกสัปดาห์ที่อีกร้านหนึ่ง โปรดที่จะทรงซื้อช็อคโกแลตที่ร้านกาแฟประจำหมู่บ้านทำเองและบางครั้งเสวยพระกระยาหารมื้อย่อมๆ ที่ร้านนั้นด้วยในช่วงฤดูร้อน ทรงพระกรุณาทำหน้าที่ ‘มูลนาย’ (Squire) ประจำหมู่บ้าน โดยทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานถ้วยรางวัลในงานประกวดดอกไม้ และงานแข่งม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง

‘มูลนาย’ พระองค์นี้ทรงรถยนต์แทนที่จะทรงม้าล่าสัตว์อย่างมูลนายอังกฤษดั้งเดิมทั้งหลาย นอกจากนั้นยังทรงเป็นขวัญใจของพวกเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน แม่หนูโอล์เว่น โจนส์ (Olwen Jones) วัย 4 ขวบ อวดตุ๊กตาตัวใหญ่ซึ่งเธอได้รับพระราชทาน เธอจะถวายบังคม (Salaam) ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ เธอพูดคำภาษาไทยที่ทรงสอนเธอได้หลายคำ เช่น ‘มือเปื้อน’ หรือ ‘น้ำชา’ และชื่อวันต่าง ๆ ในสัปดาห์ … ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้มีความมั่นใจว่า ไม่มีวันเสด็จกลับสู่ประเทศสยาม เพราะทุกครั้งที่เขาเห็นพระองค์ทรงพระดำเนินไปตามถนนในหมู่บ้านกับสุนัขพันธุ์ แอร์เดล (Airedalr) ที่ชื่อ แซม (Sam) ของพระองค์แล้ว เขาเชื่อว่าพระองค์โปรดที่จะประทับในประเทศอังกฤษอย่างเงียบ ๆ มากกว่า”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ