ทุกคนน่าจะเคยเป็นไข้หวัดกันมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเคยเป็นไข้หวัดใหญ่ แถมไข้หวัดใหญ่ยังอันตรายมากกว่าไข้หวัดธรรมดาหลายเท่า นอกจากจะอาการหนักกว่า หายยากกว่าแล้ว ยังมีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจคร่าชีวิตคนได้ทุกเมื่อ แล้วเมื่อไรที่เราจะรู้ว่านี่เราเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือเราเป็นไข้หวัดใหญ่ เมื่อไรที่เราซื้อยาทานเองได้ เมื่อไรที่เราต้องหาหมออย่างเดียว Sanook! Health มีวิธีสังเกตง่ายๆ มาฝากค่ะ
1. อาการไข้
ไข้หวัดธรรมดา – เป็นไข้ต่ำๆ ทานยาลดไข้ 1-2 วันก็หาย และไม่กลับมามีไข้อีก
ไข้หวัดใหญ่ – เป็นไข้สูง และนานกว่า 3-4 วันขึ้นไป ไข้ลดเฉพาะเมื่อทานยาลดไข้เท่านั้น
2. ปวดศีรษะ
ไข้หวัดธรรมดา – อาจปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการปวดเลย
ไข้หวัดใหญ่ – อาจปวดศีรษะมากกว่าปกติ
3. ปวดเมื่อยตามตัว
ไข้หวัดธรรมดา – มีอาการปวดเมื่อยตามตัวเพียงเล็กน้อย
ไข้หวัดใหญ่ – ปวดเมื่อยตามตัวมาก
4. อ่อนเพลีย
ไข้หวัดธรรมดา – มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย และไม่นานเพียง 1-2 วัน
ไข้หวัดใหญ่ – อ่อนเพลียมาก อาจมีอาการยาวนานเป็นสัปดาห์ได้
5. อาการไอ
ไข้หวัดธรรมดา – ไอไม่มาก ไอแห้งๆ
ไข้หวัดใหญ่ – ไอหนัก ไอบ่อย และมีเสมหะเหนียวข้น
6. น้ำมูก
ไข้หวัดธรรมดา – น้ำมูกใส เหลว หรืออาจไม่มีน้ำมูกก็ได้
ไข้หวัดใหญ่ – น้ำมูกข้น เหนียว
7. เจ็บคอ
ไข้หวัดธรรมดา – พบอาการเจ็บคอได้บ่อยในช่วงแรกๆ ที่เป็น
ไข้หวัดใหญ่ – อาจไม่พบอาการเจ็บคอ หรือพบได้น้อยมาก
8. โรคแทรกซ้อน
ไข้หวัดธรรมดา – ไซนัส หรือหูอักเสบ
ไข้หวัดใหญ่ – หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม
9. การรักษา
ไข้หวัดธรรมดา – ไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้เพียงทานยารักษาตามอาการเท่านั้น
ไข้หวัดใหญ่ – ให้ยา Amantadine หรือ Rimantadine หลังจากตรวจพบอาการภายใน 1-2 วัน
10. การป้องกัน
ไข้หวัดธรรมดา – ไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง
ไข้หวัดใหญ่ – มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตาม วิธีหลีกเลี่ยงอาการเป็นไข้หวัดไม่ว่าจะชนิดใด คือการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ (โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซีสูงๆ) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ชีวิตก็ห่างไกลจากไข้หวัดได้ง่ายๆ แล้วล่ะค่ะ