ไขข้อสงสัย : การคัมแบ็กในวงการฟุตบอล แค่ปาฏิหาริย์ หรือมีหลักการซ่อนอยู่เบื้องหลัง?

Home » ไขข้อสงสัย : การคัมแบ็กในวงการฟุตบอล แค่ปาฏิหาริย์ หรือมีหลักการซ่อนอยู่เบื้องหลัง?
ไขข้อสงสัย : การคัมแบ็กในวงการฟุตบอล แค่ปาฏิหาริย์ หรือมีหลักการซ่อนอยู่เบื้องหลัง?

เมื่อนกหวีดหมดเวลาครึ่งแรกดังขึ้น สกอร์บอร์ดที่สนามอตาเติร์ก นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี แสดงผล 3-0 ท่ามกลางเสียงฉลองของแฟนบอล เอซี มิลาน ณ ตอนนั้น มันแทบไม่มีทางเลย ที่พวกเขาจะชวดถ้วยแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2004-05 ไปครองได้  

อย่างไรก็ตาม ลิเวอร์พูล ใช้เวลาเพียงแค่ 6 นาทีช่วงต้นครึ่งหลัง เพื่อยิงคืนให้สกอร์กลับมาเท่ากัน 3-3 ก่อนพลิกล็อกแซงคว้าแชมป์ ด้วยการดวลลูกโทษตัดสินชนะไป 3-2 เถลิงแชมป์บอลยุโรปสมัยที่ 5 ของสโมสรอย่างยิ่งใหญ่

“ปาฏิหาริย์ที่อิสตันบูล” คือหนึ่งในการคัมแบ็กครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ลูกหนัง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแค่ปาฏิหาริย์ที่บังเอิญเกิดขึ้น หรือมีทฤษฎีและหลักการใด ๆ เป็นองค์ประกอบอยู่เบื้องหลังหรือไม่ มาหาคำตอบได้จากในบทความนี้ของ Main Stand กัน

ทฤษฎี “มือขึ้น”?

ในวงการบาสเกตบอล มีทฤษฎีที่ชื่อว่า “Hot Hand Theory” ซึ่งกล่าวถึงความ “มือขึ้น” ของนักบาส เมื่อเขาสามารถทำสกอร์ได้แล้ว การชู้ตลูกครั้งถัดไป จะมีโอกาสเป็นคะแนนได้มากกว่า

หากพูดถึงในวงการฟุตบอล นั่นคือถ้าผู้เล่นคนหนึ่งสามารถยิงประตูเบิกร่องได้แล้ว ลูกที่เหลือจะหลั่งไหลมาดั่งสายน้ำเลย เหมือนกับในเกมนี้ ที่ลิเวอร์พูลสามารถยิงได้ 3 ลูกในเวลา 6 นาที

โดยมีการพูดถึงวลีดังกล่าวเป็นครั้งแรกในงานวิจัยเมื่อปี 1985 ที่ต้องการหาคำตอบว่า ทฤษฎีนี้เป็นความจริง หรือเป็นแค่เพียงหลักจิตวิทยาเท่านั้น

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดที่สุด เราต้องลองเทียบกับการโยนเหรียญเสี่ยงทาย ที่มีโอกาสออกหัวและก้อยอย่างละ 50% เท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม หากเหรียญออกด้านหัวสัก 4 ครั้งต่อเนื่องกัน เมื่อต้องเสี่ยงทายการโยนเหรียญครั้งถัดไป ย่อมเป็นปกติที่เราจะมองว่า เหรียญมีโอกาสออกด้านก้อยมากกว่าในครั้งที่ 5 ซึ่งแนวคิดแบบนี้ถูกเรียกว่าเป็น “Gambler Fallacy” หรือ “ตรรกะวิบัติของนักพนัน”

นั่นเพราะเรานำเอาข้อมูลในอดีต มาคำนวณความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เหรียญจะหล่นลงมาในด้านหัวหรือก้อย ก็ยังคงเป็น 50:50 อยู่ดี เพราะธรรมชาติไม่ได้ทำ Big Data เพื่อกำหนดการสุ่มให้มีความยุติธรรมแต่อย่างใด (ฮา)

ย้อนกลับมาที่งานวิจัยตัวนี้ ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลสถิติผู้เล่นทีม ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตีซิกเซอร์ส ประกอบไปด้วยการยิงรูปแบบต่าง ๆ ทั้งลูกที่เข้าและไม่เข้า ตลอดทั้งฤดูกาล 1980-81 เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า ทฤษฎี “มือขึ้น” เป็นจริงหรือไม่

น่าเสียดายที่เมื่อประมวลผลดูแล้ว ทีมวิจัยได้ข้อสรุปมาว่า “ทฤษฎีมือขึ้น” หรือ “Hot Hand Theory” ไม่มีหลักฐานมารองรับแบบจริงจัง และถูกสรุปรวมว่าเป็น “Hot Hand Fallacy” หรือ “ตรรกะวิบัติมือขึ้น” แทน  

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีหลายงานวิจัยที่มาโต้แย้งข้อสรุปดังกล่าวอยู่ ว่าอาจเป็นการด่วนสรุปแบบ “Confirmation Bias” โดยที่มีข้อมูลอยู่อย่างจำกัด และทฤษฎี “มือขึ้น” สามารถเป็นจริงได้ หากเปลี่ยนตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย เช่น ระยะห่างของเวลาที่ผู้เล่นใช้ในการทำสกอร์ ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาคำนวณในงานวิจัยชิ้นแรก เป็นต้น

จิตวิทยาของผู้ชนะ

แม้ทฤษฎี “มือขึ้น” จะยังไม่มีเหตุผลมาพิสูจน์ แต่สำหรับบทความนี้ เรามีตัวอย่างจาก 4 แมตช์พลิกนรก ทั้งในศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และ พรีเมียร์ลีก ที่พิสูจน์ว่าจิตวิทยาของผู้ชนะนั้น สำคัญขนาดไหน

ลองพิจารณาดูว่าทั้ง 4 นัดนี้ มีอะไรเหมือนกันบ้าง

เอซี มิลาน 3-3 ลิเวอร์พูล แชมเปี้ยนส์ ลีก นัดชิงชนะเลิศ ปี 2005
คริสตัล พาเลซ 3-3 ลิเวอร์พูล พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2013-14
อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม 2-3 ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบรองชนะเลิศ ปี 2019
ลิเวอร์พูล 4-0 บาร์เซโลน่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบรองชนะเลิศ ปี 2019

 

ในค่ำคืนที่อิสตันบูล ลิเวอร์พูลต้องเผชิญกับแผงกองหลังอย่าง เปาโล มัลดินี่, อเลสซานโดร เนสต้า, ยาป สตัม, และ คาฟู แน่นอนว่าการทวงคืนสักประตูก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว นับประสาอะไรกับการรัวให้ได้ 3 ลูก กับช่วงเวลาที่จำกัด

คริสตัล พาเลซ ตามหลังให้กับทีมที่กำลังตามหาแชมป์ลีกสมัยแรกในรอบ 24 ปี อย่าง ลิเวอร์พูล อยู่ 0-3 จนถึงนาทีที่ 79 แน่นอนว่าพาเลซรอดตกชั้นแล้ว พวกเขาลงเล่นอย่างไร้แรงกดดันตลอดทั้งเกม

ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ โดนออกนำไปก่อน 3-0 เมื่อรวมสกอร์ของทั้งสองนัด (นัดแรก สเปอร์ส แพ้มา 0-1 ก่อนโดนยิง 0-2 ในครึ่งแรกของนัดสอง) โดยที่เหลือเวลาให้พลิกเกมอีกราว 45 นาทีเท่านั้น และที่สำคัญ พวกเขาต้องบุกไปเยือน อาหยักซ์ อันสเตอร์ดัม ที่ผู้เล่นวัยรุ่นกว่าค่อนทีม กำลังโชว์ฟอร์มอย่างดุดัน

และ ลิเวอร์พูล ที่ต้องยิงให้ได้อย่างน้อย 3 ประตู พร้อมกับป้องกันไม่ให้ ลีโอเนล เมสซี่, หลุยส์ ซัวเรส, และ ฟิลิปเป คูตินโญ ทำประตูให้กับผู้มาเยือนจากแคว้นกาตาลันได้

 

เริ่มแรกเลย สิ่งที่ทีมตามหลังจำเป็นต้องมี คือทัศนคติว่าพวกเขาสามารถทำได้ ไม่ว่าอุปสรรคจะยากเย็นเพียงใด และต้องพึงรู้ถึงประสิทธิภาพในตัวเอง ว่าทีมของตนมีผู้เล่นที่ดี แท็คติก และแรงสนับสนุนที่เพียงพอต่อการคัมแบ็กได้

พวกเขาอาจมีชื่อชั้นเป็นรอง หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนยากเกินกว่าจะพลิกเกมได้ แต่สภาพจิตใจของทีมที่เปิดหน้าแลกเข้าใจเหล่านี้ ก็มีผลกระทบต่อทีมที่ได้เปรียบมาก่อนได้เช่นกัน

นั่นก็เพราะทีมที่อยู่ในตำแหน่งได้เปรียบ ซึ่งมักมีช่องว่างของผลสกอร์มากกว่า 3 ลูก จะลงเล่นเพื่อรักษาระยะห่าง มากกว่าพยายามทำประตูทิ้งห่างออกไป

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อาจเคยกล่าวไว้ว่า “เกมรุกทำให้คุณชนะ แต่เกมรับจะทำให้คุณเป็นแชมป์” อย่างไรก็ตาม เยนส์ ไคล์เนิร์ต นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน กลับเห็นต่างออกไป

 

“เมื่อคุณมีแนวคิดที่จะเล่นเกมรับกันทั้งทีม มันสามารถส่งผลให้ผู้เล่นก่อข้อผิดพลาดที่ไม่น่าเกิดขึ้นมาได้ และเมื่อไหร่ที่อีกทีมทำประตูตีตื้นมาได้ หรือยิ่งใกล้หมดเวลามากขึ้นเท่าไหร่ ผลกระทบจากความกลัวเสียประตูเหล่านี้ อาจนำพาหายนะมาสู่ทีมได้”

ลิเวอร์พูล ใช้เวลาแค่ 6 นาที เพื่อทวงสกอร์คืน 3 ลูก จากแผงแนวรับที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ณ เวลานั้น และรักษาโมเมนตัม จนสามารถไปชนะที่ฎีกาได้

คริสตัล พาเลซ ใช้ประโยชน์จากความกดดันของลิเวอร์พูล ด้วยการรัวยิง 3 ประตู ในเวลาเพียง 9 นาที ดับฝันการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2013-14 ของหงส์แดงลงอย่างเป็นทางการ

ในนาทีสุดท้ายของเกม ผู้รักษาประตูของอาหยักซ์ ตัดสินใจเปิดบอลยาวขึ้นไป จนทำให้สเปอร์ส ได้มีโอกาสขึ้นเกมบุกอีกครั้ง จนสามารถปิดบัญชีได้จากลูกยิงของ ลูคัส มูร่า ที่ส่งให้ทีมเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ ลีกได้สำเร็จ

ดิว็อก โอริกี ยิงประตูตีตื้นให้ลิเวอร์พูลได้ตั้งแต่นาทีที่ 6 ของเกม และเป็นเขาเองที่ทำประตูชัย จากจังหวะเปิดเตะมุมเร็วของ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ส่งให้ทีมเดินหน้าไปคว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 6 ได้สำเร็จ

สูตรสำเร็จการคัมแบ็ก

นอกจากการมีจิตวิทยาที่เหมาะสมของผู้ชนะนั้น เราก็ไม่อาจมองข้ามการแก้เกมมาสู้ของผู้จัดการทีม และโค้ชที่ต่างต้องทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เพื่อพยายามเก็บผลสกอร์ที่ต้องการมาให้ได้

ราฟาเอล เบนิเตซ เปลี่ยนแผนการเล่นจาก 4-4-1-1 เป็น 3-5-2 ในครึ่งเวลาหลัง, โทนี่ พูลิส ส่งดไวท์ เกย์ล ลงมาเพื่อยิง 2 ประตู เปลี่ยนเกมให้กับ คริสตัล พาเลซ, เมาริซิโอ โปเชตติโน ถอดกลางรับอย่าง วิคเตอร์ วานยาม่า เพื่อส่ง เฟร์นานโด ยอเรนเต ไปยืนค้ำในแนวหน้า, และ เยอร์เกน คล็อปป์ ถอดแบ็กซ้ายอย่าง แอนดี้ โรเบิร์ตสัน ที่มีอาการบาดเจ็บออก เพื่อส่ง จอร์จินโญ ไวจ์นัลดุม ลงไปซัด 2 ลูกสำคัญให้กับลิเวอร์พูล นี่คือเบื้องหลังการแก้เกมสำคัญ ๆ ที่มีผลต่อการคัมแบ็กทั้งสี่หน

และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือผู้เล่นคนที่ 12 อย่างแฟนบอล ที่คอยกระตุ้นและส่งเสียงเชียร์ให้กับทั้ง 11 คนในสนาม แน่นอนว่าการขาดหายไปของกองเชียร์ตลอดทั้งฤดูกาลที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับหลายทีมทั่วทั้งยุโรป โดยเฉพาะกับทีมที่ขึ้นชื่อว่าแฟนบอลของพวกเขาเป็นดั่ง “อาวุธลับ” อย่างลิเวอร์พูล ซึ่งผลงานโดยรวมดร็อปลงไปพอสมควรเลย (และยังมีปัจจัยอาการบาดเจ็บของกองหลังพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายอีกด้วย)

สุดท้ายแล้ว สูตรสำเร็จเหล่านี้ไม่สามารถกด ขึ้นขึ้น ลงลง ซ้ายขวา ซ้ายขวา บี เอ สตาร์ท แล้วสามารถนำไปใช้งานได้ในทันที มันยังคงจำเป็นต้องอาศัยการฝึกซ้อม และองค์ประกอบต่าง ๆ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อสร้างปาฏิหาริย์ครั้งยิ่งใหญ่เหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้จริง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ