พรรคเพื่อไทยเปิดตัว 400 ผู้สมัคร ส.ส. อย่างยิ่งใหญ่ ประกาศ “แลนด์สไลด์” 310 เสียง พร้อมนโยบาย “เติมเงิน” รายได้ขั้นต่ำครอบครัวละ 20,000 บาท “ฟาด” ยิ่งกว่าพรรคไหน
ทำไมประกาศ 310 เสียง ก็เพื่อสยบเสียงวิเคราะห์คาดการณ์ ว่าจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ อาศัย “ป้อม เกาะโต๊ะ” ก้าวข้าม 250 ส.ว. ซึ่งทำให้มวลชนหวั่นไหวไม่วางใจ
ปรากฏว่าได้ผล หลังประกาศไม่กี่วัน ป้อมเปิดบ้านป่ารอยต่อ กินข้าวกับอนุทิน ศักดิ์สยาม แม้ปากบอกไม่มีอะไร แต่ก็น่าประหวั่นใจ ป้อมมีคอนเน็กชั่นอำนาจ ขณะที่พรรคบุรีรัมย์ถนัดวิชาใต้ดินใต้น้ำ ถ้าสองพรรครวมกันได้ +250 ส.ว. การเมืองไทยก็จะเข้าสู่วงจรที่ดูไม่จืด
เพื่อไทยแลนด์สไลด์ 310 ส.ส. 17.5 ล้านเสียง ยังทำให้เพื่อไทยกลับมาเป็นเป้าเกลียดกลัว ของฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งยังคลั่งไม่หาย ทั้งที่ไม่ได้บริหารประเทศมา 9 ปี “เกลียดนักการเมืองเลว” แต่ยอมรับพรรคการเมืองอื่นได้ ทั้งที่มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าทุจริตฉ้อฉลเต็มไปหมด
ในขณะเดียวกัน การเรียกร้องให้เลือกอย่างมียุทธศาสตร์ “เลือกเพื่อไทยพรรคเดียว กาเพื่อไทยทั้งสองใบ” ก็กระทบพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และ “ติ่งส้ม”
เพราะต้องยอมรับว่า สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว 4 ปีหลังกำเนิดพรรคอนาคตใหม่ เราไม่ได้อยู่ในยุค “ประชาธิปไตยพรรคเดียว” อีกแล้ว ก้าวไกลกลายเป็นพรรคของคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย
ซึ่งใน 4 ปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลและคนรุ่นใหม่ เป็นกองหน้าชู 3 นิ้วท้ารบอำนาจอนุรักษนิยม ขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นเพียงกองหนุนเท่านั้น
แม้แน่ละเป็นธรรมดา พรรคการเมืองแม้ฝ่ายเดียวกันลงสนามเลือกตั้ง ไม่มีใครหรอกบอกว่า เว้นที่ให้เพื่อนบ้าง ก้าวไกลก็ประกาศ “แลนด์สไลด์” ใน กทม. ไม่ไว้เพื่อไทยเหมือนกัน ตั้งเป้าสู้ให้ถึงฎีกาทั้ง 400 เขต ไม่สนว่าจะ “ตัดคะแนน” เพื่อไทยทำให้แพ้พรรคอื่นทั้งคู่
ในทางยุทธศาสตร์ อันที่จริง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ควรชั่งน้ำหนัก เลือก ส.ส.ที่มีโอกาสมากกว่าในเขตเลือกตั้งนั้น แล้วบัตรใบที่สองค่อยเลือกพรรคที่ตัวเองรัก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครยอมรับหรอกว่าอีกพรรคมีโอกาสมากกว่า คนที่ใจกว้างจะเลือกทางยุทธศาสตร์ก็ต้องชั่งน้ำหนักเอง
ประเด็นสำคัญคือแม้ต้องแข่งกันเอง แต่ก็ควรจะประกาศ “แนวร่วมประชาธิปไตย” ว่าถ้าแลนด์สไลด์หรือรวมได้เกินครึ่งจะเจรจาตั้งรัฐบาลด้วยกันก่อน (ไม่จำเป็นต้องผูกมัด เพราะเจรจาแล้วอาจไม่ลงตัวก็ได้ แต่เลือกคุยฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก่อน)
ซึ่งไม่ยักมี ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งนี้ควรจะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับรัฐประหารสืบทอดอำนาจและพรรคที่สนับสนุน
ซึ่งพอไม่มี มันจึงเกิดกระแสวิเคราะห์วิแคะ แบบจะเกี้ยเซี้ยจับมือป้อมยืม 250 ส.ว. ฯลฯ สื่อบางเจ้าเพ้อกระทั่งว่าเพื่อไทยจะให้ป้อมเป็นนายกฯ
ในขณะเดียวกัน ความต้องการแลนด์สไลด์ ชนะให้ขาด ก็ทำให้เพื่อไทย “ดูดกลับ” ส.ส.บ้านใหญ่ อย่างชลบุรี โคราช สุริยะ สมศักดิ์ “รัฐธรรมนูญนี้ร่างมาเพื่อพวกเรา”
อันที่จริงมันเป็นวิถีประชาธิปไตย ใครก็อยากอยู่พรรคอันดับหนึ่ง พรรครัฐบาลเสื่อม “บ้านใหญ่” วัดคะแนนนิยมแล้วอยู่พรรคเดิมหืดขึ้นคอ ย้ายมาเพื่อไทยดีกว่า มีฐานเสื้อแดงฐานมวลชนประชาธิปไตยทุกเขต
แต่มันก็ฉุดความชอบธรรมทางอุดมการณ์ลงไป โดยเฉพาะบางเขตเอาอดีต กปปส. ไทยภักดี มาให้คนเสื้อแดงเลือก
ปัญหาลึกลงไปของพรรคเพื่อไทยคือ คนในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง ไม่วางใจว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแล้วจะไปทำ “ดีล” เจรจาต่อรองกับเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยมอย่างไร
เข้าใจตรงกันก่อน “ดีล” ไม่ใช่สิ่งผิด “ดีล” มีความจำเป็น ชนะเลือกตั้งแต่ไม่มีปืนไม่มีกฎหมาย ต่อให้พรรคก้าวไกลแลนด์สไลด์ ก็ต้องทำ “ดีล” กับผู้มีอำนาจ
สำคัญว่าดีลอย่างไร แลกอะไร ตรงไหนจะหยวนยอม ตรงไหนจะยืนหยัดในหลักการ และแข็งแกร่งพอไหมที่จะยืนหยัด เช่นแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ (แก้ 112 อึกอักมาตั้งนานเพิ่งพูดชัดขึ้น)
ซึ่งสิ่งที่คนไม่วางใจ ก็อย่างป้ายพาเหรดนิสิตเกษตร “ตั้งเป้าแลนด์สไลด์เพื่อคนแดนไกลได้กลับบ้าน?” หรืออีกด้าน นักการเมืองในพรรค ทั้งบ้านใหญ่เก่าบ้านใหญ่ใหม่ สนใจหลักการประชาธิปไตยแค่ไหนหรือขอแค่ได้เป็นรัฐมนตรี
ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะต้องหาทางนิรโทษกรรมม็อบคนรุ่นใหม่ แต่ก็จะถูกตั้งแง่นิรโทษทักษิณด้วยไหม ฯลฯ ขณะที่คนฝ่ายเดียวกันก็จะจับจ้องว่า เพื่อไทยกล้ารื้อล้างโครงสร้างอำนาจอนุรักษ์แค่ไหน
ต้องเข้าใจว่าเพื่อไทยนั้นเป็นพรรคประชาธิปไตยกินได้ จึงชนะทุกครั้ง แต่เพราะเหตุนั้นเพื่อไทยจึงเป็นพรรค Mass ไม่สามารถแหลมคมทางการเมือง ต่างจากก้าวไกลที่เป็นกองหน้าทะลุทะลวง แต่ก็เป็นองค์ประกอบที่ต้องไปด้วยกันอย่างขาดไม่ได้
ชนะเลือกตั้งต้องเพื่อไทย ยกระดับเป้าหมายคือก้าวไกล เพื่อไทยต้องได้เกินครึ่งเพื่อเป็นรัฐบาล ก้าวไกลต้องได้ 50 บวกลบ เพื่อเป็นพลังรุกกดดัน นั่นคือยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย