ใบตองแห้ง-กฎหมายกับยางอาย

Home » ใบตองแห้ง-กฎหมายกับยางอาย


ใบตองแห้ง-กฎหมายกับยางอาย

ประยุทธ์ครบ 8 ปีเมื่อไหร่ ว่าตามหลักกฎหมาย ต้องนับจาก 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ กฎหมายใช้ย้อนหลังไม่ได้ เกลียดประยุทธ์เพียงไร ก็ต้องเคร่งครัดต่อกฎหมาย

พูดเช่นนี้อาจไม่ถูกใจฝ่ายค้าน ทั้งเพื่อไทยก้าวไกล 99 พลเมือง จตุพร นกเขา ฯลฯ แต่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องยึดหลักการ ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ใช่พันธมิตร กปปส. ไล่ทักษิณแล้วสนับสนุนให้บิดเบือนกฎหมายเล่นงาน

อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวไว้ก่อนนี้ว่า 8 ปีควรเริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากนับย้อนหลังก็ต้องใช้กับอดีตนายกฯ ทุกคน เช่นทักษิณเป็นได้อีก 3 ปี อภิสิทธิ์ 5 ปี แม้ทั้งคู่คงไม่ได้เป็นแล้วแต่ก็ไม่สมเหตุสมผล หากนับจากหลังเลือกตั้ง 62 ก็ขัดบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ให้รัฐบาล คสช.ขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเสมือนรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยรัฐธรรมนูญปี 2560

ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ถึง 6 เมษา 2568 ก็ยอมรับได้ในเหตุผลทางกฎหมาย ขณะที่ทางปฏิบัติ ประยุทธ์ก็จะไม่สามารถลงเลือกตั้ง 2566 เพียงเพื่อเป็นนายกฯ 2 ปี

แต่ถ้าศาลวินิจฉัยให้อยู่ถึงปี 2570 โดนวิจารณ์ถล่มแน่ เพราะโดยเครดิตขณะนี้ ต่อให้ศาลตัดสินถูกๆ แต่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลก็โดนวิจารณ์อยู่ดี

น่าเศร้า (และสะใจ) ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมา 16 ปี

กฎหมายกับการเมืองใช้คู่กัน แต่กฎหมายต้องใช้อย่างเคร่งครัด ใช้ในเรื่องที่ชี้ถูกชี้ผิดได้ชัดเจน ขณะที่ความถูกผิดทางการเมืองกว้างกว่า เพราะยังมีเรื่องของความเหมาะสม ความรับผิดชอบต่อประชาชน ความละอาย หิริโอตตัปปะ สังคมติเตียน โลกวัชชะ

ยกตัวอย่างง่ายๆ การที่นักการเมืองจะพ้นตำแหน่ง ในทางกฎหมาย คือทำผิดติดคุก หรือขัดรัฐธรรมนูญ ในทางการเมือง คือถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ถูกถอดถอน Impeachment ถูกประชาชนไล่ หรือไม่เลือกอีก โดยอาจไม่ผิดกฎหมายก็ได้

เช่นถ้าเป็นรัฐมนตรีญี่ปุ่น คานหล่นทับคนตาย ก็คงลาออกด้วยความละอาย ทั้งที่ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่เป็นวัฒนธรรมการเมือง

ขณะที่สังคมไทย ด้วยความเกลียดชังว่านักการเมืองไม่มียางอาย (ประกอบความเชื่อนักการเมืองซื้อเสียงไล่ไม่ได้) ก็เปิดเปิงไปอีกด้าน พยายามเขียนกฎหมายยัดเอาความไม่เหมาะสมไม่สมควรทางการเมือง เข้ามาอยู่ในกฎกติกา คุณสมบัติ เพื่อใช้ศาลองค์กรอิสระตัดสินการเมือง เช่นพิพากษาจริยธรรม จนวิบัติไปอีกด้าน

โดยเฉพาะเมื่อเกิดสองมาตรฐาน ใช้อำนาจรัฐประหารตุลาการภิวัตน์จัดการฝ่ายตรงข้าม

ม็อบไล่ทักษิณมีสิทธิชอบธรรมทางการเมืองจนยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่การปลุกศีลธรรมปลุกเกลียดชังสร้างความเชื่อว่าจะเป็นภัยต่อเสาหลักอนุรักษนิยม ทำให้เปิดเปิงไปสู่การใช้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ล้ำกรอบกฎหมาย หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ใช้อำนาจรัฐประหารและอำนาจกฎหมายล้ำกรอบการเมืองเพื่อเล่นงานนักการเมืองที่ประชาชนนิยม

รัฐประหารออกประกาศเป็นกฎหมายย้อนหลัง ตั้งตุลาการยุบพรรคแล้วตัดสิทธิ ตั้ง คตส.สอบทุจริตผู้ถูกโค่นด้วยปืนรถถังศาลตัดสิน “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” ฐานเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน ผิดจากการตีความกฎหมายแต่ไม่ได้ใช้อำนาจแทรกแซงการประมูลขายทอดตลาด ซึ่งสูงกว่าราคากลาง

พีกสุดคือคดียึดทรัพย์ ซึ่งในทางการเมือง ทักษิณถูกครหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ถูกมองเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก้สัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

แต่ในอีกด้านมันก็เป็นประโยชน์ร่วมทั้งรัฐ ประชาชน และคู่แข่ง มือถือนาทีละ 5 บาทลดเหลือ 1 บาท ทศท. กสท. โวยว่า “รัฐเสียประโยชน์”

ศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าทุจริต แต่วินิจฉัยได้ทรัพย์สินมาโดย “ไม่สมควร” เข้านิยาม “ร่ำรวยผิดปกติ” มาตรา 4 กฎหมาย ป.ป.ช.

ไม่เหมาะสม ไม่สมควร ขาดจริยธรรม เป็นความเห็นทางการเมือง เป็นเรื่องที่ประชาชนจะถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ม็อบขับไล่ ฯลฯ แต่ไม่ควรเป็นอำนาจศาล อำนาจกฎหมาย ซึ่งจะกลายเป็นการใช้ความเห็นทางการเมืองทางศีลธรรมของตุลาการ ซึ่งไม่ได้มีหลักประกันว่ามีความเห็นดีกว่า หรือมีจริยธรรมเหนือกว่าชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

วิกฤตกฎหมายนั้นยิ่งบานปลายเมื่อเกิดสองมาตรฐาน ข้างหนึ่งผิด อีกข้างทำอะไรไม่ผิด เพราะตีความเคร่งครัด

เช่นประยุทธ์อยู่บ้านพักหลวงไม่ผิด อ.วรเจตน์เห็นด้วยว่าศาลตัดสินถูกแล้ว ไม่มีผลถึงขั้นตกเก้าอี้นายกฯ แต่ อ.วรเจตน์เห็นว่า สมัครทำกับข้าวออกทีวีก็ไม่ควรตกเก้าอี้เพราะพจนานุกรมเช่นกัน

ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจไม่มีหลักฐานถึงขั้น ป.ป.ช.เอาผิดติดคุก แต่ ปชช.ที่ใหญ่กว่า ป.ป.ช.ฟังแล้วไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ในยุคที่ 250 ส.ว.ไม่ยอมให้ ศ.เศรษฐศาสตร์ที่วิพากษ์ยืมนาฬิกา เข้าไปเป็น ป.ป.ช.

รัฐมนตรีขายหุ้นให้ลูกจ้างก่อนสมัคร ส.ส. บริษัทรับเหมาก่อสร้างหน่วยงานในสังกัด บริษัทได้กำไรบริจาคเข้าพรรคผิดกฎหมายไหม ป.ป.ช.อาจไม่พบความผิด แต่ ปชช.ไว้วางใจไหม ก็รู้กัน แต่รัฐมนตรีลอยหน้าลอยตาอ้าง “ไม่ผิดกฎหมาย”

ก่อนนี้อ้างความไม่เหมาะสมไม่สมควรไปเล่นงานทางกฎหมาย ตอนนี้ทำอะไรก็อ้างไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ยอมพูดถึงความไม่เหมาะสม ความน่าเกลียด หรือความไร้ยางอาย

นั่นแหละปมประยุทธ์ 8 ปี ในทางกฎหมายยังไม่ครบหรอก แต่ในแง่หิริโอตตัปปะ ควรมีสำนึกบ้าง ควรตระหนักว่ายิ่งอยู่ยิ่งพัง ทั้งประเทศ ทั้งตัวเอง และสิ่งที่ต้องการปกป้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ