โอนไวจ่ายสะดวก : จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกฟุตบอลซื้อ-ขายผ่าน BITCOIN?

Home » โอนไวจ่ายสะดวก : จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกฟุตบอลซื้อ-ขายผ่าน BITCOIN?
โอนไวจ่ายสะดวก : จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกฟุตบอลซื้อ-ขายผ่าน BITCOIN?

19 มกราคม 2021 ข่าวการย้ายตัวของผู้เล่นสโมสรในเซกุนดา เบ ลีกระดับสามประเทศสเปน ถูกตีแพร่นำเสนอไปทั่วโลก

ไม่ใช่เพราะนักเตะรายนั้น มีดีกรีเป็นอดีตศูนย์หน้าเรอัล มาดริด แต่นี่เป็นครั้งแรกในโลกลูกหนังที่มีการซื้อ-ขาย เทรดผู้เล่นอาชีพ โดยใช้สกุลเงินดิจิตัล เช่น บิตคอยน์ 

เคสของ บาร์รัล ทำเอาหลายคนแอบคิดไปว่า คริปโตเคอเรนซี จะเข้ามาพลิกโฉมวงการฟุตบอลที่เรารู้จักให้เป็นอย่างไรในอนาคต ?

บล็อกเชน, คริปโต คืออะไร?

ในปัจจุบัน คริปโตเคอเรนซี เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง จากทั้งข่าวที่ เทสล่า ตัดสินใจยุติการรับชำระค่ารถผ่านบิตคอยน์ หรือแผนส่งเหรียญโดชคอยน์ ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ของ SpaceX จนทำให้เกิดความผันผวนในตลาดขึ้น


Photo : www.coinedict.com

บิตคอยน์ เป็นสกุลเงินดิจิทัลตัวแรก ที่ไม่ได้ขึ้นกับธนาคารกลางใด ๆ บนโลก มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยบล็อกเชน

บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจส่วนกลาง สามารถถูกตั้งค่าให้บันทึกข้อมูลแทบทุกสิ่งบนโลกใบนี้ได้ โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่องจากทั่วทุกมุมโลก ในการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลที่ถูกบันทึกและแบ่งปันกันระหว่างเครือข่าย

 

ในทุกการซื้อขายบิตคอยน์ มีการประกาศให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้ และข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกเก็บบันทึกไว้รวมกันเป็นบล็อก และนำไปผูกโยงเข้ากับเครือข่ายบล็อกเชน ประหนึ่งห่วงโซ่ข้อมูลที่ถูกต่อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ไร้ที่สิ้นสุด

นอกเหนือจากความโปร่งใสแล้ว การกระจายของ บล็อกเชน ช่วยลดความซับซ้อน และความเสี่ยงที่ข้อมูลในระบบอาจสูญหาย หรือเกิดล่มขึ้นมาได้ พร้อมกับลดอำนาจตัวกลางที่ตัดกำไรผู้บริโภค และป้องกันการฉ้อโกงทุจริตไปในเวลาเดียวกัน

ที่สำคัญคือ เทคโนโลยี บล็อกเชน ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่การซื้อขายคริปโตเคอเรนซีเพียงอย่างเดียว โดยวงการแพทย์, พลังงาน, การศึกษา, และอสังหาริมทรัพย์ ได้เริ่มมีการนำ บล็อกเชน มาประยุกต์ใช้บ้างแล้ว

เซ็นสัญญาด้วยบิตคอยน์

ย้อนไปในปี 2018 ฮารันนูสตาสปอร์ สโมสรสมัครเล่นในตุรกี ได้เซ็นสัญญาดึงตัว โอเมอร์ ฟารุก คิโรกลูว์ มาร่วมทีมด้วยค่าตัว 0.0524 บิตคอยน์ หรือประมาณ 53,000 บาท ณ เวลานั้น

 


Photo : turkish-football.com

หาก คิโรกลูว์ ยังเก็บ บิตคอยน์ จำนวนดังกล่าวไว้อยู่กับตัว ในตอนนี้มันจะมีมูลค่ามากกว่า 80,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในดีลดังกล่าวมีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด และไม่มีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางค้าแข้งของ คิโรกลูว์ หลังตัดสินใจแยกทางกับสโมสรต้นสังกัดเพียง 8 เดือนให้หลัง

กลับมาที่การเซ็นสัญญาของ เดวิด บาร์รัล ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายนักฟุตบอลอาชีพผ่านคริปโตเคอเรนซีครั้งแรกของโลก อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น

ดีลดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยความช่วยเหลือจาก Criptan สปอนเซอร์หลักของสโมสร อินเตอร์นาซิอองนาล เด มาดริด ผู้เป็นบริษัทซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลท้องถิ่นในสเปน ที่ต้องการโปรโมททีมในลีกล่างของแดนกระทิงดุ พร้อมกับแบรนด์ของตัวบริษัทเอง ออกสู่สายตาชาวโลก

 

น่าเสียดายที่ไม่มีการระบุถึงจำนวนเงิน หรือสกุลเงินในการซื้อขายครั้งนี้อย่างเป็นทางการ 

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือทั้ง คิโรกลูว์ และ บาร์รัล ต่างเป็นนักเตะที่ซื้อขายแบบไม่มีค่าตัว สโมสรจ่ายแค่ค่าเซ็นสัญญาให้กับตัวนักเตะเท่านั้น นั่นทำให้ยังไม่มีการคว้าตัวนักเตะระหว่างทีม ด้วยการใช้สกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้นเลย

การย้ายทีมด้วยบิตคอยน์?

ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Bitkub ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ทุกคนจะสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน การเปลี่ยนนักเตะหรือทีมเป็นโทเคน (Tokenisation) จะช่วยให้ทีมหรือนักเตะที่อาจจะไม่ค่อยโดดเด่นมีโอกาสได้เฉิดฉายมากขึ้น”


Photo : Bitkub.com @BitkubOfficial

 

“เนื่องจากในวงการกีฬา ความสนใจและเงินทุนมักจะไปกระจุกอยู่ที่ทีมหรือนักเตะระดับท็อป ๆ เท่านั้น ไม่ได้ถูกกระจายออกไปอย่างเท่าเทียมกัน”

ในปัจจุบัน การซื้อขายตัวผู้เล่นด้วยสกุลเงินปกติ ผู้ซื้อจะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวผ่านหน่วยงานกลาง อย่างสมาคมฟุตบอลของประเทศนั้น ๆ ก่อนส่งต่อให้กับผู้ขายในภายหลัง

แต่ถ้าในอนาคตมีดีลซื้อตัวนักเตะผ่านคริปโตเคอเรนซีเกิดขึ้น ทั้งสองสโมสรสามารถทำธุรกรรมถึงกันได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาทีเสียด้วยซ้ำ และใช้แค่เลข กระเป๋าตังค์ดิจิทัล ของทีมผู้ขายเท่านั้น

ด้วยเทคโนโลยี บล็อกเชน ที่สร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งลดความซับซ้อนในการทำธุรกรรมลงไป ทำให้โอกาสที่เราจะเห็นการซื้อขายผู้เล่นผ่าน บิตคอยน์ ก็อาจไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินเอื้อมไปเสียทีเดียว และช่องว่างระหว่างทีมใหญ่กับทีมเล็ก ในการได้ตัวนักเตะสักคนมาร่วมทีม ก็อาจถูกบีบให้แคบลงมากว่าเดิม


Photo : www.socios.com

 

หนึ่งในสิ่งสำคัญของสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ คือคุณไม่สามารถจ่ายมากกว่าเงินที่มีอยู่ ซึ่งอาจทำให้การปฏิบัติตามกฎ Financial Fair Play กลายเป็นงานสบายไปได้เลย

เช่นกันกับที่วงการฟุตบอลได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ตั้งแต่ จอร์จ ฮีสต์แฮม ผู้ปลดปล่อยนักฟุตบอลจากสัญญาทาส สู่ ฌอง มาร์ค บอสแมน ผู้สร้างกฎบอสแมน ให้ผู้เล่นสามารถย้ายทีมได้เมื่อหมดสัญญา 

การเข้ามาของคริปโตเคอเรนซี อาจหมายถึงการปรับเปลี่ยนกฎบางอย่าง เพื่ออำนวยให้การซื้อขายดำเนินไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการใช้สกุลเงินปกติเพียงอย่างเดียวแล้ว

คริปโตในวงการฟุตบอล

สมมติว่าในตลาดซื้อขายรอบนี้ เจดอน ซานโช ถูก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซื้อมาร่วมทีมด้วยค่าตัว 2,500 บิตคอยน์ ซึ่งเทียบเท่ากับเงินประมาณ 100 ล้านยูโร (ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2021)

แน่นอนว่าข้อดีที่ได้ คือความโปร่งใส รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่น้อยลง เมื่อเทียบกับระบบธุรกรรมผ่านส่วนกลางแบบปกติ


Photo : www.football365.com

แต่ในเวลาเดียวกัน การซื้อขายผ่านบิตคอยน์ ก็ย่อมมีความเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวนอย่างรวดเร็ว เพราะล่าสุดที่ทาง อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ เทสล่า ออกมาทวีตว่าบริษัทของเขาไม่รับซื้อรถผ่าน บิตคอยน์ แล้วนั้น ก็ส่งผลให้ราคาของ บิตคอยน์ ร่วงลงถึง 12% ในทันที กล่าวคือมูลค่าของ ซานโช จะเหลือแค่ 88 ล้านยูโรเท่านั้น แม้ทาง แมนฯ ยูไนเต็ด จะต้องจ่ายมูลค่าเต็ม 100 ล้านยูโร เพื่อแลกเป็นสกุลเงินบิตคอยน์ก็ตาม

นอกเหนือจากนั้น ข้อกฎหมายของหลายประเทศ ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่า บิตคอยน์ และคริปโตเคอเรนซีต่าง ๆ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ การอยู่ในพื้นที่สีเทาตรงนี้ อาจทำให้บริษัท หรือเจ้าของสโมสรของแต่ละทีม ยังคงมีความกังวลก่อนที่จะเข้ามาลงเล่นในวงการนี้แบบเต็มตัวได้

แม้โอกาศที่จะมี บิ๊กดีล การย้ายทีมผ่าน บิตคอยน์ อาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสกุลเงินดิจิทัล กำลังเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของใครหลายคน


Photo : koinsoko.com

โดยเฉพาะในวงการกีฬา ที่หลายสโมสรในลาลีกา ได้มีเหรียญคริปโตเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น แอตเลติโก มาดริด หรือ บาร์เซโลน่า ซึ่งแฟนบอลและผู้สนใจ สามารถซื้อขายเหรียญดังกล่าวได้ผ่านแอพ Socios และ Binance กันแล้ว

หรือในพรีเมียร์ลีก วัตฟอร์ด เป็นสโมสรแรกที่นำโลโก้ บิตคอยน์ ขึ้นไว้เป็นสปอนเซอร์บนแขนเสื้อ และในฤดูกาลหน้า เซาท์แฮมตัน จะนำคำว่า HODL ที่เล่นคำจาก Hold และมีการให้นิยามอีกแบบ ว่าเป็นการเก็งกำไรสิ่งนั้น ๆ ไว้ ขึ้นเป็นสปอนเซอร์แขนเสื้ออีกรายด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากนั้น ทีมอย่างเลสเตอร์ ซิตี้, เอฟเวอร์ตัน, และคริสตัล พาเลซ ต่างมีคอนเนคชั่นกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซีอยู่ในตอนนี้ 

แม้แต่ยูฟ่าเอง ก็ยังได้นำเทคโนโลยี บล็อกเชน มาพัฒนาระบบการซื้อขายตั๋วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกับลดโอกาสที่จะมีผู้ไม่หวังดีซื้อตั๋วไปปั่นราคาเพิ่มในภายหลังอีกด้วย


Photo : btcmanager.com

แม้ในตอนนี้ คริปโตเคอเรนซี ยังห่างไกลจากการมาแทนที่สกุลเงินปกติได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ด้วยโลกใบนี้ที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว 

เราอาจจะได้ซื้อตั๋วชมเกมการแข่งขันด้วยบิตคอยน์ ช็อปสินค้าสุดพิเศษจากสโมสรในรูปแบบ NFT  และได้ “Hodl” เหรียญสกุลของทีมรักกันเป็นเรื่องปกติ ก็เป็นได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ