โลกร้อนขั้นวิกฤต ยูเอ็นชี้ผลกระทบถาวรผุดอื้อ เหลือแค่โอกาสลดรุนแรง

Home » โลกร้อนขั้นวิกฤต ยูเอ็นชี้ผลกระทบถาวรผุดอื้อ เหลือแค่โอกาสลดรุนแรง


โลกร้อนขั้นวิกฤต ยูเอ็นชี้ผลกระทบถาวรผุดอื้อ เหลือแค่โอกาสลดรุนแรง

โลกร้อนขั้นวิกฤต ยูเอ็นชี้ผลกระทบถาวรผุดอื้อ เหลือแค่โอกาสลดรุนแรง

โลกร้อนขั้นวิกฤต – วันที่ 1 มี.ค. บีบีซีรายงานว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เตือนประชาคมโลกถึงผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน ว่าหลายการเปลี่ยนแปลงนั้นสายเกินไปที่จะแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิมแล้ว แต่ยังพอเหลือเวลาที่สามารถลดความรุนแรงลงได้

ข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เปิดเผยรายงานการประเมินโลกร้อนฉบับล่าสุด พบว่ามนุษยชาติกำลังถูกผลักดันให้ต้องปรับตัวอย่างสุดขั้ว โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของโลก

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า หากนานาชาติสามารถร่วมมือร่วมแรงกันไม่ให้ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของโลกปรับเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็จะสามารถลดความสูญเสียลงได้

ศาสตราจารย์เดบรา โรเบิร์ต หนึ่งในคณะจัดทำรายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่า โลกร้อนจะส่งผลให้ผู้คนสูญเสียภูมิลำเนาที่ตัวเองเติบโตมา หรือแม้ที่กำลังทำงานและใช้ชีวิตอยู่ ตลอดจนสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ และสัตว์ต่างๆ ที่คุ้นเคยอาจหายไปตลอดกาล

“ข้อมูลจากรายงานของเรานั้นชัดเจน ว่าช่วงเวลาต่อจากนี้จะต้องเป็นทศวรรษแห่งการลงมือแก้ไข หากมนุษยชาติยังต้องการรักษาระบบนิเวศของตัวเองไว้” ศ.โรเบิร์ต กล่าวเตือน

รายงานระบุว่า รายงานฉบับล่าสุดของ IPCC ถือเป็นฉบับที่สองจากทั้งหมดที่จะจัดทำสามฉบับ โดยฉบับแรกเพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนส.ค. 2564 เป็นผลการศึกษาถึงขนาดของผลกระทบต่อมนุษย์จากภาวะโลกร้อน

สำหรับฉบับล่าสุดนั้นผลการศึกษาเจาะลึกลงไปถึงสาเหตุ ผลกระทบ และหนทางการแก้ไขภาวะดังกล่าว ทั้งยังเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดถึงกลไกของภาวะโลกร้อนที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนดาวเคราะห์โลก เช่น ปริมาณผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น

ทว่า การศึกษายังพบว่ามนุษย์ยังพอมีเวลาเหลืออีกระยะหนึ่งเพื่อจะดำเนินการแก้ไขและหลีกเลี่ยงฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดจากภาวะโลกร้อนได้

ดร.เฮเลนส์ อดัมส์ ประธานคณะจัดทำรายงานฉบับนี้ จากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ข้อสรุปหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดจากการรายงาน คือ สถานการณ์ปัจจุบันมีความเลวร้าย แต่อนาคตจะเลวร้ายกว่านี้หรือไม่ มนุษยชาติสามารถเป็นผู้กำหนดได้

รายงานฉบับนี้พบด้วยว่า ผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำท่วมฉับพลัน และคลื่นความร้อนนั้นมีความรุนแรงมากกว่าที่นักวิทยาศาตร์เคยประเมินเอาไว้ โดยหลายพื้นที่นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกินกว่าความสามารถที่มนุษย์จะปรับตัวได้แล้ว

แม้ประชากรโลกทั้งหมดจะได้รับผลกระทบจากโลกร้อน แต่บางพื้นที่นั้นจะมีความรุนแรงมากเป็นพิเศษ สะท้อนจากข้อมูลช่วงปี 2553 ถึง 2563 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และพายุ เพิ่มเป็น 15 เท่า ในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกากลาง และละตินอเมริกา

ภาพสะท้อนถึงผลกระทบของโลกร้อนในธรรมชาติยังสามารถพบได้ชัดเจน อาทิ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น และต้นไม้จำนวนมหาศาลที่ตายจากความแห้งแล้ง ถือเป็นว่าเป็นไปตามที่คาดไว้กรณีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่ม 1.1 ถึง 1.5 องศา

ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อเนื่องจะทำให้ชุมชนริมทะเลถูกน้ำทะเลกลืนหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากโลกยังร้อนขึ้นด้วยอัตราคงที่เช่นนี้จะทำให้มีประชากรโลกถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มอีก 1 พันล้านคน ภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

การประเมินพบว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ถึง 1.8 องศา จะส่งผลให้ประชากรโลกครึ่งหนึ่งต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่อันตรายถึงชีวิตจากความชื้นสูงและความแห้งแล้ง

นายอันโตนีโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า รายงานฉบับนี้เป็นเสมือนกาลานุกรมที่รวบรวมเอาความทุกข์ยากของมนุษยชาติเอาไว้

“ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่สามารถถูกปฏิเสธได้ และสภาวะไร้ผู้นำในการแก้ไขปัญหานี้ก็เทียบได้กับอาชญากรรม เสมือนผู้ที่กำลังสร้างมลพิษให้โลกมากที่สุดตอนนี้ กำลังวางเพลิงเผาบ้านเดียวที่พวกเราทุกคนมี” นายกูเตร์เรส ระบุ

สัตว์โลกทยอยสูญพันธุ์ โรคระบาดแพร่กระจายรวดเร็ว

รายงานยังพบอีกว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้โรคระบาดแพร่กระจายได้รวดเร็วมากขึ้นในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า โดยเฉพาะโรคที่มากับยุง เช่น ไข้เลือดออก ที่จะมีผู้เสี่ยงเพิ่มอีกหลายพันล้านคน

โลกร้อนยังสร้างผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วย เนื่องจากการปรับตัวที่อาจนำไปสู่ภาวะเครียดสูง หรือความบอบช้ำทางจิตใจจากภัยธรรมชาติ ทำให้สภาพสังคมที่น่าอยู่ถูกทำลาย

นอกจากนี้ คณะผู้ศึกษายังพบว่า สัตว์ป่าครึ่งหนึ่งของที่นักวิจัยพบนั้นกำลังโยกย้ายถิ่นฐานขึ้นไปใกล้ขั้วโลกมากขึ้น หรือขึ้นไปยังที่ราบสูงมากขึ้นเพื่อหนีอากาศร้อน

ภาวะโลกร้อนปัจจุบันทำให้สัตว์โลกคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 14 อยู่ในเสี่ยงสูญพันธุ์ แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปถึง 3 องศา จะทำให้สัดส่วนข้างต้นเพิ่มเป็นร้อยละ 29

รายงานฉบับนี้ยังแสดงความกังวลถึงข้อเสนอของนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มที่มองว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกทะลุ 1.5 องศาเพียงระยะเวลาสั้นๆ นั้นจะไม่ส่งผลร้าย หากมนุษย์สามารถดึงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกกลับลงมาได้อย่างรวดเร็ว

คณะผู้จัดทำรายงานย้ำว่า วิธีการข้างต้นมีอันตราย เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่สูงมากอาจก่อให้เกิดผลกระทบสุดขั้วอื่นๆ เช่น การละลายของน้ำแข็งแบบถาวร ทำให้การลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทำได้ยากยิ่ง หรืออาจเป็นไปไม่ได้อีก

นอกจากนี้ รายงานยังปฏิเสธแนวคิดการแก้ไข เช่น การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศด้วยการดูดอากาศมาสกัดแยก ไปจนถึงการสร้างแผ่นสะท้อนแสงอาทิตย์คลุมผืนดิน ว่าอาจยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลงกว่าเดิม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ