โรคเนื้อเน่า หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคน ระบาดหน้าฝน เสี่ยงเสียอวัยวะ-ชีวิต

Home » โรคเนื้อเน่า หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคน ระบาดหน้าฝน เสี่ยงเสียอวัยวะ-ชีวิต
โรคเนื้อเน่า หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคน ระบาดหน้าฝน เสี่ยงเสียอวัยวะ-ชีวิต

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ชี้ โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่จะระบาดในฤดูฝน ช่วงเกษตรกรลงดำนา ลุยโคลน การติดเชื้อมักมีอาการรวดเร็ว และรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง อาจนำมาซึ่งการสูญเสียอวัยวะและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โรคเนื้อเน่า หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคน คืออะไร ?

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเนื้อเน่า หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว หรืออาจเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลาย ๆ ชนิดพร้อมกัน พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีประวัติไปดำนา ลุยโคลน และโดนหอย หรือเศษแก้วบาด เศษไม้ตำเท้า และไม่ได้ทำแผลหรือรักษาใด ๆ เนื่องจากต้องทำนาให้เสร็จ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในบาดแผล และเพิ่มจำนวนจนเกิดอาการรุนแรงได้ ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางบาดแผล หรือรอยแตกของผิวหนัง และเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะสามารถสร้างเอนไซด์มาย่อยสลายเนื้อเยื่อในร่างกายของผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไป ทำให้มีการกระจายของเชื้อไปได้อย่างรวดเร็วในชั้นใต้ผิวหนังภายในระยะเวลาไม่นานนัก

กลุ่มเสี่ยงโรคเนื้อเน่า

โรคเนื้อเน่าพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่คนที่มีโรคประจำตัวบางชนิดพบมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งโรคดังกล่าวได้แก่

  • โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจ
  • โรคตับแข็ง
  • โรคมะเร็ง
  • โรคไตวาย
  • คนที่มีภาวะกดภูมิจากการใช้สารสเตียรอยด์
  • คนที่ใช้สารเสพติดฉีดเข้าเส้น
  • คนที่มีปัญหาของหลอดเลือดบริเวณขา
  • คนอ้วน
  • คนสูบบุหรี่
  • คนที่ติดแอลกอฮอล์

อาการโรคเนื้อเน่า

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการดังนี้

  • ผิวหนังบวม แดง ปวด กดเจ็บในตำแหน่งที่มีการติดเชื้อ
  • ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะบวมแดง หรือเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำอย่างรวดเร็วภายใน 36 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อ
  • พบมีตุ่มน้ำพองที่ผิวหนัง
  • มีการตายของชั้นใต้ผิวหนังและผิวหนังบริเวณดังกล่าว
  • เมื่อเป็นมากขึ้นเชื้อจะทำลายเส้นประสาท ทำให้อาการปวดที่พบในตอนแรกหายไป กลายเป็นชาบริเวณผิวหนังส่วนที่ติดเชื้อตามมาแทน
  • อาจมีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ถ้าเป็นมากอาจมีหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • กรณีไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายล้มเหลว ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกตัวลดน้อยลง ช็อค และเสียชีวิต การรักษาต้องรีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว

การรักษาโรคเนื้อเน่า

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่สงสัยโรคนี้ควรนอนรักษาในโรงพยาบาล โดยการรักษาหลักคือการผ่าตัดให้ลึกจนถึงชั้นฟาสเชีย คือชั้นพังผืดที่ห่อหุ้มชั้นกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในของร่างกายและเอาเนื้อเยื่อบริเวณที่ตายออก ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด ซึ่งมักต้องให้ร่วมกันหลายชนิดเพื่อให้ครอบคลุมเชื้อที่ก่อโรค มีการให้สารอาหารอย่างเพียงพอในระหว่างการรักษา และต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาได้ บางครั้งถ้าการติดเชื้อลุกลามมากอาจต้องมีการตัดอวัยวะที่ติดเชื้อทิ้งไปเพื่อควบคุมไม่ให้การติดเชื้อลุกลามมากขึ้นได้

การป้องกันโรคเนื้อเน่า

  1. ระมัดระวังดูแลทำความสะอาดบาดแผลบริเวณผิวหนัง
  2. ไม่แกะเกาบริเวณผื่นหรือแผลที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญเพื่อลดโอกาสของการเกิดโรคดังกล่าว
  3. หมั่นสังเกตตนเอง ถ้าพบว่ามีบาดแผล ที่มีอาการปวดบวมแดง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ บริเวณแผล ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาก่อนที่โรคจะมีการลุกลามติดเชื้อรุนแรงมากยิ่งขึ้น

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ โรคเนื้อเน่า

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ