ฝนตก น้ำท่วม เป็นเรื่องที่เราเจอกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ นอกจากจะเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังนำมาซึ่งอันตรายที่เป็นภัยเงียบ คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อยอีกด้วย นั่นก็คือ “โรคฉี่หนู” นี่เองค่ะ
โรคฉี่หนู คืออะไร
โรคฉี่หนู หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ โรคเล็ปโตสไปโรซิส เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ โดยมีต้นเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชื่อเล็บโตสไปร่า ที่มักอาศัยอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของสัตว์ต่างๆ เช่น หนู สุนัข โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสัตว์เลี้ยงในบ้านอื่นๆ โดยเฉพาะที่ไต จึงทำให้เมื่อสัตว์เหล่านี้ขับถ่ายของเสียออกมาตามพื้นท้องถนนสาธารณะ ปะปนกับน้ำท่วมขังหลังฝนตก ทำให้เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางบาดแผลตามเท้า ซอกเล็บ ขาของมนุษย์ได้ นอกจากช่วงน้ำท่วมขังในหน้าฝนแล้ว ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน และพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ที่ต้องเดินย่ำในพื้นที่น้ำขังบ่อยๆ มีสิทธิ์ได้รับเชื้อนี้จากของเสียของสัตว์บนพื้น บนดินได้เช่นกัน
อาการของโรคฉี่หนู
หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อเป็นเวลา 5-14 วัน จึงจะสามารถสังเกตเห็นอาการได้ ดังนี้
- ระยะเชื้อเข้ากระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ บริเวณหน้าผาก หลังตา หรืออาจจะปวดขมับทั้งสองข้าง ปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณน่องขา โคนขา และมีไข้ ในบางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือตาแดงจากเนื่องจากเส้นเลือดขยาย โดยไม่มีอาการอักเสบ
- ระยะร่างกายสร้างภูมิ หลังจากมีไข้เป็นระยะเวลา 7 วัน ไข้จะลดลง 1-2 วัน และจะกลับมามีไข้สูงอีกครั้ง ปวดศีรษะ สับสน ซึม เบื่ออาหาร เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ มีผื่นแดง และการทำงานของตับ ไต ผิดปกติ
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วร่างกายอีกมากมาย เช่น ตัวเหลือง (ดีซ่าน) ม้ามโต เกล็ดเลือดต่ำ ฯลฯ
วิธีรักษาผู้ป่วยโรคฉี่หนู
พบแพทย์อย่างเร็วที่สุด เมื่อรู้ตัวว่าเคยลุยน้ำท่วมขังในระยะ 1-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการและความรุนแรงของโรค ยิ่งพบแพทย์เร็ว ยิ่งมีโอกาสหายเร็ว โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เสียชีวิต เกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป
วิธีป้องกันจากโรคฉี่หนู
- สวมรองเท้าบู้ทยาวทุกครั้ง เมื่อต้องลุยน้ำขัง หากไม่มีโอกาสได้สวมรองเท้าบู้ท เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องรีบล้างมือล้างเท้าด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคโดยเร็ว
- หลีกเลี่ยงการเดิน หรือสัมผัสน้ำขังในพื้นที่สาธารณะต่างๆ
- หมั่นทำความสะอาดบริเวณในบ้าน และนอกบ้าน หากเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน หรือบริเวณบ้าน หมั่นทำความสะอาด กำจัดของเสียของสัตว์อยู่เป็นประจำ
- ล้างมือล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง หากมีความจำเป็นต้องสัมผัส หรือจับภาชนะบรรจุของเสียของสัตว์
- พยายามอย่าตัดเล็บเท้าสั้นเกินไป จนเกิดบาดแผล เท้าเป็นตำแหน่งที่เชื้อโรคจากที่ต่างๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
รู้วิธีรักษาและป้องกันแล้ว คราวนี้ก็ไม่ต้องกลัวโรคฉี่หนูกันอีกต่อไปแล้วเนอะ อย่าลืมแบ่งปันข้อมูลดีๆ ให้กับคนที่คุณรัก จะได้ระมัดระวังตัวกันไว้ด้วยนะคะ