เดือด! ส.ส.ก้าวไกล ลุกประท้วงวุ่นหลังโดนพาดพิง ท้า ส.ว.เสรี หมดหนี้คสช.มาลงเลือกตั้งแข่งกัน ด้าน เสรี ยัน ไม่เห็นด้วยร่างแก้รธน. ชี้ ส.ว.มีที่มาถูกต้อง
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจำนวน 4 ฉบับ ต่อเป็นวันที่ 2 โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยทั้ง 4 ร่าง ส่วนเพื่อนส.ว.หลายท่าน ก็มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แสดงให้เห็นว่าส.ว.มีความเป็นอิสระ มีความคิดของตัวเอง ไม่ได้ถูกครอบงำสั่งการ หรือไม่ได้มาชดใช้หนี้ใครอย่างที่ถูกกล่าวหา ตนอดทนฟังสิ่งที่สมาชิกที่บอกเป็นผู้ทรงเกียรติ ได้เสนอความเห็นในทำนองด่าทอใส่ร้ายป้ายสีส.ว.ทั้งวัน และจะไม่เอามาเป็นสาระต่อการตัดสินใจลงมติ
ทั้งนี้ การเสนอแก้ไขโดยไม่ให้สิทธิส.ว.เลือกนายกฯ ท่านให้เหตุผลว่าส.ว.ชุดปัจจุบัน ไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เลือกนายกฯ ได้ เพราะไม่ได้ผูกพันหรือมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งที่จริงแล้วส.ว.ปัจจุบันมาตามรัฐธรรมนูญ 60 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกมา นี่คือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ตนเป็นคนหนึ่งที่มาจากการเลือกของคสช. แต่ส่วนตัวก็เคยผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนในปี 40 มาแล้วเช่นกัน แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 60 ที่ผ่านการทำประชามติจากประชาชน 19 ล้านเสียง กำหนดแบบนี้เราก็มาแบบนี้
“ส.ว.ชุดปัจจุบันถูกกล่าวหาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ว่าไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถูกกล่าวหาตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ แต่ส.ส.ที่อภิปรายแบบนี้ ซึ่งอยู่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ทั้งสองพรรคมีคนที่มีคุณสมบัติส.ส.ที่ดีจำนวนมาก แต่คงมีบางคนที่บอกว่าเป็นตัวแทนพรรคมาอภิปรายกล่าวหาส.ว. ว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ที่พูดก็มาจากพรรคก้าวไกล” นายเสรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายของนายเสรี มีการพูดถึงพรรคก้าวไกลหลายครั้ง ทำให้ส.ส.พรรคก้าวไกล อาทิ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้สิทธิพาดพิงว่า นายเสรีกำลังพูดพาดพิงพรรคก้าวไกลว่าอภิปรายใส่ร้ายส.ว. จึงขออย่ามาก้าวล่วงพรรค และขอให้ถอนคำพูด เพราะทำให้พรรคเสียหาย ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พยายามควบคุมการประชุมให้เรียบร้อย โดยระบุว่า นายเสรีไม่ได้พูดจาหยาบคาย ก้าวร้าว แต่ขอให้พูดอยู่ในประเด็น
จากนั้น นายเสรี กล่าวตอบโต้ส.ส.พรรคก้าวไกล ว่า ตนไม่ได้ใส่ร้ายพรรคก้าวไกล ไม่ได้ทำให้ท่านเสียหาย เมื่อวาน (6 ก.ย.) ท่านเอ่ยถึงส.ว.ทั้งวัน พอเราพูดถึงพรรคก้าวไกลบ้างท่านกลับประท้วง ท่านเสนอแก้มาตรา 272 โดยให้เหตุผลว่าส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่ในอดีตท่านมาจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งโดนอุบัติเหตุทางการเมืองและถูกยุบพรรค จริงๆ เมื่อถูกยุบไป สมาชิกในพรรคนั้นต้องพ้นจากความเป็นส.ส. แต่ด้วยอานุภาพของรัฐธรรมนูญ 60 บัญญัติให้พรรคการเมืองที่ถูกยุบสามารถหาพรรคอื่นได้ภายใน 60 วัน พวกท่านจึงมาอยู่พรรคปัจจุบัน อยากถามว่าพรรคก้าวไกลเคยได้มาสักคะแนนเสียงจากประชาชนหรือไม่ ซึ่งก็ไม่เคย เพราะท่านก็มาจากรัฐธรรมนูญ 60 เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องประชุมได้วุ่นวายขึ้น และเกิดการปะทะคารมกันอีกครั้ง โดยนายณัฐวุฒิ ท้านายเสรีว่า “หมดหนี้คสช. ให้ลาออกมาลงเลือกตั้งแข่งกันดีกว่า” ขณะที่ นางอมรัตน์ ลุกขึ้นประท้วงว่า แบบนี้หรือที่เรียกว่าตัวเองมีวุฒิภาวะ ก็สมควรแล้วที่ประชาชนจะรังเกียจ ประธานฯไม่ให้พูดก็ยังจะพูด แบบนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างที่เลว
จากนั้น นายเสรี ได้ประท้วงว่านางอมรัตน์ใช้คำพูดไม่เหมาะสมขอให้ประธานฯ วินิจฉัยให้ถอนคำพูดดังกล่าว แต่นายพรเพชรระบุว่าไม่ได้ยิน และนางอมรัตน์ได้เดินออกจากห้องไปแล้ว ขอให้นายเสรีดำเนินการอภิปรายต่อ
นายเสรี อภิปรายต่อว่า ท่านเสนอให้ตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ แต่ท่านไม่ได้บอกว่าบ้านเมืองก่อน 5 ปี เกิดวิกฤตอย่างไร ซึ่งเป็นวิกฤตของประเทศที่ไม่สามารถหานายกฯ ได้ บ้านเมืองแตกแยกไม่มีความสามัคคีปรองดอง มีการชุมนุมทำร้ายกัน รัฐธรรมนูญ 60 จึงกำหนดว่า 5 ปีนี้ ให้มีส.ว.ที่แต่งตั้งขึ้นมาแก้ปัญหา ดูแลสถานการณ์บ้านเมืองยามเกิดวิกฤต นอกจากส.ว.จะทำหน้าที่เลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปี ยังมีเรื่องการปฏิรูปประเทศ มีกฎหมายที่ต้องทำร่วมกันของสองสภา และภารกิจอื่นๆที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น การทำหน้าที่ของส.ว.ชุดปัจจุบันคือการทำหน้าที่พิเศษ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เพราะบ้านเมืองมีวิกฤต ซึ่งวิกฤตจะพ้นไปหรือไม่ยังไม่มีใครตอบได้ อนาคตหากสถานการณ์บ้านเมืองมีปัญหาเลือกนายกฯไม่ได้ ก็เป็นวิกฤตที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ เขาจึงกำหนดให้ส.ว. มาทำหน้าที่
“เราไม่ได้หวงอำนาจ เราเดินออกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เรารู้ภาระหน้าที่ ตอนเข้ามาเป็นส.ว.เรายินยอมเข้ามา เราก็จะทำตามหน้าที่ภารกิจของเราให้เสร็จสิ้นลุล่วง 5 ปี ผมไม่ได้ไม่เคารพเสียงประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขเข้ามา แต่เรามีเหตุผลของเรา หากท่านเสนอมาหลังจากนี้อีกรอบ ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาใกล้ครบ 5 ปี เชื่อว่าเราจะสนับสนุนเต็มที่ ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขทั้ง 4 ฉบับนี้ และถ้าผมเสนอความเห็นกับเพื่อนสมาชิกได้ ก็จะเสนอว่าไม่ต้องรับทั้ง 4 ร่างนี้” นายเสรี กล่าว