หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมอีกทั้งยังอยู่ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ ผู้คนจึงต้องปรับตัวมาซื้อของกิน ของใช้ และสินค้าอื่น ๆ ผ่านทางออนไลน์แทน ทำให้ปัจจุบันการซื้อของออนไลน์กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของใครหลายคนไปแล้ว จนทำให้การค้าออนไลน์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยบริษัท ช้อปไลน์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดเผยว่า ผลของโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งสำคัญทำให้ผู้บริโภคคนไทยก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวสูง โดยภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยในปี 2564 จะมีการขยายตัว 15-20 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้งานโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทย และเทรนด์ที่มาแรงก็คือการไลฟ์สดเพื่อจำหน่ายสินค้า
ส่งผลให้ผู้ประกอบการเองก็ต้องเร่งปรับตัว โดยหันมาทำอีคอมเมิร์ซเพื่อรองรับความต้องการด้านนี้ด้วย แพลตฟอร์มที่ร้านนิยมไลฟ์สด ได้แก่ Facebook, Instagram, Tiktok, Shopee, Lazada เป็นต้น ซึ่งข้อดีของการไลฟ์สดเพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ก็คือไม่ต้องเช่าพื้นที่ แถมเป็นการเพิ่มช่องทางการขาย ที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านจริง รวมถึงยังโปรโมทสินค้าได้อย่างเต็มที่ และลูกค้าก็ติดต่อพูดคุยกับทางร้านได้โดยตรงอีกด้วย
อุปกรณ์ที่สำคัญในการไลฟ์สดขายของออนไลน์
1. สมาร์ทโฟนหรือกล้อง และอินเทอร์เน็ต, ขาตั้งโทรศัพท์หรือขาตั้งกล้อง
แน่นอนว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกในการไลฟ์สด ก็คือ สมาร์ทโฟนหรือกล้อง และอินเทอร์เน็ต สองสิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นอาวุธหลักเลยสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์ และอย่างที่ทราบกันดีว่าถ้าอินเทอร์เน็ตสัญญาณไม่ดี ก็อาจจะทำให้ภาพที่ไลฟ์ออกไปกระตุกหรือไม่ชัดได้
ดังนั้นก่อนไลฟ์สดควรต้องทดสอบให้ดีเพื่อความเสถียร สิ่งสำคัญรองลงมาก็คือ ขาตั้งโทรศัพท์หรือขาตั้งกล้อง เนื่องจากการไลฟ์สดโดยเฉพาะร้านที่มีสินค้าหลากหลาย จะใช้เวลาค่อนข้างนานประมาณ 1 ชั่วโมง จึงยิ่งจำเป็นต้องมี เพราะไม่งั้นอาจจะเมื่อยได้นั่นเอง
2. ไฟ (การจัดแสง), ไมค์สำหรับไลฟ์สด
ในส่วนของไฟ (การจัดแสง) ก็ถือว่าสำคัญต่อการไลฟ์สดเช่นกัน เพราะถ้าแสงมืดก็จะทำให้ลูกค้ามองไม่เห็นสินค้า หรือถ้าแสงสว่างไปก็อาจทำให้สีของสินค้าเพี้ยนได้ ยกตัวอย่าง เช่น การขายเสื้อผ้า ด้านไมค์อาจเป็นไอเทมที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากบางครั้งเสียงจากไมโครโฟนที่ติดกับโทรศัพท์หรือกล้องมา อาจจะกระจายเสียงได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นสำหรับการไลฟ์สดที่สมบูรณ์แบบไมค์แยกจึงควรมีเพิ่ม
3. ฉากหลัง, เอฟเฟกต์
ฉากหลังในที่นี้ไม่ได้หมายถึง Green Screen แต่ฉากหลังสำหรับการไลฟ์สดไม่ต้องไปหาจากที่ไหนไกล เพราะสามารถสร้างได้จากสินค้าที่จะขาย เช่น ขายเสื้อผ้า ก็อาจจะเอาเสื้อผ้ามาเรียงใส่ราวให้สวยงาม มีหุ่นใส่เสื้อผ้า หรือมีไฟประดับผ้าม่าน เป็นต้น ส่วนของเอฟเฟกต์ ก็สามารถเลือกใช้ได้จากแอปพลิเคชันที่ไลฟ์เลย
4. โปรแกรมช่วยไลฟ์สด
โปรแกรมช่วยไลฟ์สด จะสามารถใช้ได้กับร้านที่ไลฟ์สดโดยกล้องถ่ายภาพเท่านั้น เพราะโปรแกรมช่วยไลฟ์สดจะเป็นซอฟต์แวร์ช่วยเชื่อมต่อภาพจากกล้อง ให้สามารถไลฟ์สดผ่านคอมพิวเตอร์ได้ โปรแกรมไลฟ์สดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดจะเป็นโปรแกรม OBS เพราะเป็นโปรแกรมฟรี ใช้ได้กับคอมพิวเตอร์ทุกประเภท
5. ระบบดูด CF
สำหรับการไลฟ์สดบน Facebook จะมีระบบดูด CF คอมเมนต์ของลูกค้า เพียงพิมพ์ว่า “CF ตามด้วยรหัสสินค้าที่ร้านกำหนด” หรือ “CF รหัสสินค้า แล้วตามด้วยจำนวนสินค้า” ซึ่งร้านที่มียอดผู้ชมไลฟ์สดใน Facebook เยอะจะเลือกใช้ระบบนี้ เพื่อป้องกันการตกหล่นของออเดอร์ อีกทั้งระบบยังสามารถสรุปยอดรวมทั้งหมด ต่อการสั่งในแต่ละครั้งให้ได้อีกด้วย
เทคนิคสำคัญในการไลฟ์สด สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่
- อุปกรณ์ในการไลฟ์สดต้องพร้อม เช็กสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดี
- เช็กสต็อกสินค้าก่อนไลฟ์ขาย
- แจ้งเวลาก่อนไลฟ์ หรือเขียนแคปชันเพื่อเป็นการดึงดูดผู้คน
- เตรียมตัวสำหรับการพูดทักทาย ตอบโต้ลูกค้า และแนะนำสินค้า
- ถ้ามีผู้ช่วยหยิบสินค้า ผู้ช่วยดูคอมเมนต์หรือตอบ inbox ลูกค้าด้วยก็จะดี
- เปิดเพลงสร้างบรรยากาศในการขาย เพื่อให้ไม่เงียบเหงาจนเกินไป
- รบกวนขอให้ลูกค้าช่วยกดแชร์ไลฟ์ เพื่อเพิ่มการมองเห็นที่มากขึ้น
- ใกล้จบไลฟ์อย่าลืมบอกให้ผู้ชมกดติดตาม หรือเข้ามาดูไลฟ์ต่อไปได้อีก