วันที่ 24 มิ.ย. 2567 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ โรคโควิด 19 และ ไข้หวัดใหญ่ ในช่วงนี้ ยังคงมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พบมากเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร วัด และโรงงานอุตสาหกรรม
โดยสถานการณ์ โควิด 19 ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 17 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 29,354 ราย และเสียชีวิตสะสม 12 ราย
สถานการณ์ล่าสุด โควิด 19 (Covid-19) พบผู้ป่วยมากที่สุด แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้
1.จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยมากสุด 13,636 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย
2.จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 7,090 ราย เสียชีวิตสะสม 8 ราย
3.จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 4,694 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
4.จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 3,934 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย
ซึ่งกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ
ส่วนสถานการณ์ โรคไข้หวัดใหญ่ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 17 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยสะสม 16,626 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย
- ไฟไหม้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ ที่ เกาหลีใต้ ดับ 1 ราย สูญหาย 21
- ผิดพลาดครั้งใหญ่ ครูเตือน ให้เด็ก ‘อ่านออก-เขียนได้’ อันตรายกว่าที่คิด
- รร.จัดร่วมไว้ทุกข์ เด็ก ม.2 ถูกไฟดูดดับ ด้านผอ.เศร้า สั่งรื้อตู้น้ำทิ้ง
สถานการณ์ล่าสุด โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยมากที่สุด แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้
1.จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วย 9,163 ราย เสียชีวิตสะสม 4 ราย
2.จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 3,019 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย
3.จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 2,438 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
4.จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 2,006 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ
วิธีป้องกัน ในช่วงการระบาดของ โควิด และ ไข้หวัดใหญ่
- เว้นระยะห่าง
- สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะรู้สึกไม่สบาย และอยู่ในสถานที่แออัด
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ วิธีนี้สามารถช่วยลดการแพร่เชื้อโรคโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ได้
- หากสงสัยว่าป่วย ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK ถ้าผลตรวจเป็นบวก ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น แล้วให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
สำหรับกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หากป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์
หากอาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 1-2 วันให้รีบไปพบแพทย์ และที่สำคัญคือ ควรรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกๆ ปี เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา