ในช่วงไม่นานมานี้ มีผู้คนออกมาประท้วงในหลายประเทศในยุโรปจนเกิดการปะทะรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากพวกเขาไม่พอใจที่ทางการกลับมาบังคับใช้มาตรการรับมือโควิด-19 อย่างเข้มงวดอีกครั้ง
การประท้วงเพื่อแสดงความคิดเห็นทั้งบนท้องถนนและในโลกโซเชียลมีเดีย มีการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของทางการในการตัดสินใจดำเนินมาตรการดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จโดยคนที่ออกไปร่วมการประท้วงด้วย อาทิ การกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย ตั้งแต่ การฉีดวัคซีนคือแผนการวางยาพิษต่อประชากร ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลราวกับว่า “เผด็จการในการปราบปรามการประท้วง” เป็นต้น
“จำเป็นต้องมีความรุนแรงเนื่องจากจำเป็นต้องทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น” ริคาร์โด ผู้จัดการประท้วงบอกกับรายการ BBC Newsnight หลังจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลในเนเธอร์แลนด์
ส่วนที่ออสเตรีย กลุ่มต่อต้านวัคซีนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ที่ชื่อ “People, Freedom, Fundamental Rights” (MFG – หรืออาจแปลได้ว่า กลุ่มประชาชน เสรีภาพ และสิทธิพื้นฐาน) ได้มีบทบาทสำคัญในการวางแผนการประท้วงบนถนนหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
กลุ่ม MFG เปรียบเทียบมาตรการล็อกดาวน์กับการปกครองสมัยนาซีเยอรมนี โดยมีการใช้คำแรง ๆ อาทิ เผด็จการและนโยบายการแบ่งแยกสีผิว
พรรคเสรีภาพแห่งออสเตรีย (FPOe) ซึ่งเป็นพรรคที่มีแนวคิดขวาจัดและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของรัฐสภาออสเตรีย ก็ต่อต้านมาตรการโควิดเช่นกัน หัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ระบุข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นเท็จและทำให้คนเข้าใจผิดหลายประการ อาทิ บอกว่าการฉีดวัคซีนเป็นการทดลองทางพันธุกรรม
ขณะที่ทางการสั่งล็อกดาวน์ทั่วออสเตรียอีกครั้ง คำกล่าวอ้างลักษณะนี้ไปปรากฏอยู่ในกลุ่มต่าง ๆ บนเฟซบุ๊ก และจากปากคนที่ไปร่วมประท้วงในออสเตรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
แต่จากข้อมูลโดย BBC Monitoring การต่อต้านการล็อกดาวน์ไม่ได้มีในหมู่คนที่มีแนวคิดขวาจัดอย่างเดียว แต่มาจากคนหลายกลุ่มในประเทศ
- อนามัยโลก “กังวลอย่างยิ่ง” หลังยอดโควิดในยุโรปพุ่งไม่หยุด
- ออสเตรียจำกัดเสรีภาพผู้ไม่ฉีดวัคซีนโควิดขณะยอดติดเชื้อพุ่ง
- ยุโรปวิกฤตเจอโควิดระลอก 4 เยอรมนีหวั่นมีผู้เสียชีวิตนับแสน
- มีกว่า 50 ประเทศที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าขององค์การอนามัยโลก
ความไม่เชื่อมั่นในผู้มีอำนาจ
ในทวิตเตอร์ แร็ปเปอร์ชาวออสเตรียคนหนึ่งโพสต์รูปการ์ตูนของชายสองคนในเรือนจำ คนหนึ่งถูกต้องขังเพราะฆ่าคน 6 คน ขณะที่อีกคนต้องมาอยู่ในนี้เพราะไม่ยอมฉีดวัคซีน ภาพดังกล่าวเป็นการจินตนาการว่าในอนาคตคนอาจโดนคุมขังเพียงเพราะไม่ยอมฉีดวัคซีนโควิด
ภาพดังกล่าวเผยให้เห็นความรู้สึกร่วมของคนหลายคนที่คิดว่ารัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิด
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำขึ้นในออสเตรียเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า ความไม่เชื่อมั่นต่อวัคซีนโควิดมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับระดับความไว้วางใจต่อทางการ
ที่เนเธอร์แลนด์ ผู้ประท้วงอ้างถึงสมัยที่นาซีเยอรมนีเข้ามาปกครอง โดยกล่าวหาอย่างไม่มีหลักฐานว่า วัคซีนมีพิษ หรือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการร้ายระดับโลก
แบบสำรวจซึ่งสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนการสำรวจความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และพบว่าคนมีระดับความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลออสเตรียและโครเอเชียต่ำลงมากระหว่างปี 2020 ถึง 2021 โดย 2 ประเทศนี้ มีผู้คนออกมาประท้วง เมื่อไม่นานมานี้
ในรัสเซีย แม้ว่าความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของประชาชนจะไม่สามารถแสดงออกผ่านการประท้วงบนท้องถนน เพราะถูกทางการสั่งห้าม แต่สัญญาณที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนบนโลกออนไลน์ ซึ่งชาวรัสเซียใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเห็น
โอลดา ไอดาโคโนวา ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษารัสเซียในกรุงมอสโก บอกว่ามีการประท้วงบนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลายต่อการให้ใช้ใบรับรองฉีดวัคซีน โดยเธอบอกว่าเกิดจากการที่คนทั่วไปไม่ไว้เนื้อเชื่อใจทางการ อัตราการฉีดวัคซีนในรัสเซียถือว่าต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป
ก่อนหน้านี้ปีนี้ ศ. เมลินดา มิลล์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ออกมาเตือนว่า พาสปอร์ตรับรองฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดความเสี่ยง “เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการว่าจ้างงาน การเข้าร่วมงานกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการยื่นเรื่องทำประกันและดำเนินการเรื่องที่อยู่อาศัย” แต่เธอบอกว่า ความกังวลเหล่านี้ก็ต้องถูกนำไปอย่างสมดุลอย่างเหมาะสม ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและหน้าที่เชิงศีลธรรมในการปกป้องสุขภาพของคนส่วนใหญ่
แต่ มิโร ดิททริช จากศูนย์สังเกตการณ์ การวิเคราะห์ และยุทธศาสตร์ (CeMAS) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในเยอรมนี เชื่อว่า ผู้ประท้วงกลุ่มที่น่ากังวลเหล่านี้ ไม่ได้สะท้อนว่าถึงผู้ประท้วงส่วนใหญ่บนท้องถนน แต่พวกเขาเป็นคนที่มีแนวคิดขวาจัดที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด
กลุ่มออนไลน์กลุ่มหนึ่งซึ่งมีส่วนในการจัดการประท้วงในออสเตรีย พยายามบอกว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วมีหลักฐานจากการทดลองและงานวิจัยมากมายว่าวัคซีนใช้ได้ผลจริง
โพสต์ทางโซเชียลมีเดียลักษณะดังกล่าวพยายามจะกล่าวถึงความเสี่ยงของวัคซีนให้เกินจริงและก็พยายามจะบอกว่าเชื้อไวรัสไม่ได้มีพิษมีภัยขนาดนั้น
เคียรัน โอคอนเนอร์ นักวิจัยจากสถาบันเพื่อการหารือเชิงยุทธศาสตร์ (Institute for Strategic Dialogue) บอกว่า แน่นอนว่ามีคนหลายคนที่มีความเป็นห่วงอย่างจริงใจว่ามาตรการรับมือโควิดจะส่งผลต่อประเทศของพวกเขาอย่างไร แต่เขาบอกว่า การประท้วงหรือกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการปูทางให้เกิดแนวคิดแบบสุดโต่ง เพราะคนเหล่านี้เคลื่อนไหวโดยอ้างอิงข้อมูลเท็จ และทฤษฎีสมคบคิด
……
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว