“แสวง” ตอบแล้ว กกต.มีไว้ทำไม? ย้ำโจทย์ทำให้การเมืองดี เลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม บอกไม่มีอำนาจตัดสินปมหุ้น “พิธา” โยนศาล รธน.ดู
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดอภิปรายหัวข้อ “กกต.มีไว้ทำไม” โดยมีนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นผู้อภิปราย ดำเนินอภิปรายโดย นายบากบั่น บุญเลิศ พิธีกรรายการเนชั่นอินไซต์
นายแสวง กล่าวว่า คำถาม “กกต.มีไว้ทำไม” ไม่น่าจะต้องการคำตอบ แต่น่าจะเกิดจากความรู้สึกผิดหวัง และไม่ชอบบทบาท กกต. ซึ่ง กกต.ไม่ค่อยมีเวทีอธิบาย กกต.มีหน้าที่ทำการเมืองให้ดี ทำการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ให้ความรู้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพัฒนาการเมือง กกต.จะทำไม่สำเร็จหากไร้ความร่วมมือจากทุกคน โจทย์เราคือทำอย่างไรให้การเมืองดี
นายแสวง กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาตนพอใจระดับหนึ่ง เพราะมีปัญหาพอสมควร เลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการ แต่เป้าหมายคือ การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาการเมือง หลักการสำคัญที่เน้นย้ำคือความโปร่งใส โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้ 1.เห็นกับตา 2.ระบบตรวจสอบ 3.ประสิทธิภาพและการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
โดยการเลือกตั้งครั้งถัดไปที่ต้องพัฒนาคือ การบริการประชาชนที่หน่วยเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่กระทบกับความรู้สึกประชาชน โดยเฉพาะคดีที่มีการวินิจฉัย เช่น การส่งคุณสมบัติต้องห้ามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ข้อร้องเรียนเรื่องการยุบพรรค ซึ่ง กกต.ยกคำร้องไปแล้ว 111 เรื่อง ยืนยันว่าเราปฏิบัติตามกฎหมาย กกต.จะไม่หน้าที่ทำเกินกฎหมาย เพราะอาจมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่ทำตามกฎหมายแล้วไม่ได้ผลตามต้องการ
นายแสวง กล่าวว่า การเลือกตั้งปี 2566 เราเห็นพัฒนาการการเลือกตั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะจำนวนผู้มาใช้สิทธิ และพฤติกรรมของผู้มาใช้สิทธิ ที่มีการเลือกตั้งตามอุดมคติ และเลือกตั้งเชิงนโยบายมากขึ้น ทั้งนี้ยังมีข่าวปลอมเยอะมาก และมีบางส่วนที่ไม่พอใจ ใช้โซเชียลมีเดียมาด่า เรายอมรับสภาพนี้ได้ สำหรับความผิดพลาดของ กกต.ขอย้ำว่าเรารักษาสิทธิของประชาชน ทุกคะแนนเสียงไปถึง เราทำงานกับอาสาสมัครชาวบ้านเป็นล้านอาจมีข้อผิดพลาดบ้าง
แต่ทั้งหมดจะเป็นบทเรียนครั้งต่อไปก็ต้องบริหารความเปราะบางนี้ให้ได้ นายแสวง ยังชี้แจงกรณีของคดีหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยระบุว่า ไม่ใช่คนชนะเลือกตั้งจะทำอะไรก็ได้แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แม้การเลือกตั้งคือความชอบธรรมที่จะมาบริหารประเทศก็ตาม สำหรับแนวทางการตัดสินการถือหุ้นสื่อเป็นลักษณะต้องห้ามของ สส. กกต.ไม่มีอำนาจในการตัดสิน แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสิน เพื่อวางบรรทัดฐานกรณีเกิดเหตุคล้ายกันในอนาคต ส่วนตรวจสอบข้อร้องเรียน 82 สส. กกต.ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ เป็นไปตามกระบวนการสืบสวนสอบสวน
เมื่อถามถึงกฎการห้ามก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีพรรคการเมืองหนึ่งถูกร้องเรียนจากการนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียง โดยระบุจะแกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แนวทางการพิจารณาในชั้นของนายทะเบียน จะพิจารณาว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมีอำนาจหรือไม่ และปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนกรณีการยุบพรรคขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ