สุธาสินี เสวตรบุตร และ อรวรรณ พาระนัง คือ 2 นักเทเบิล เทนนิส หญิงของไทยที่สามารถผ่านเข้าไปในแข่งขันในโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวได้อย่างน่าชื่นชม และอาจจะทำให้วงการปิงปองของบ้านเรากลับมาคึกคักอีกครั้ง หากพวกเธอทั้งคู่นำเหรียญกลับมา
เพราะความสำเร็จในรายการระดับโลกคือต้นแบบและจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ได้เสมอ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศสวีเดนและแถบสแกนดิเนเวียที่เคยเก่งกาจด้านกีฬาลูกเซลลูลอยด์ จากกระแสฟีเวอร์จนพวกเขาสามารถโค่นล้มมหาอำนาจอย่าง จีน และ ญี่ปุ่น ได้
สวีเดนเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้ยังไง? และชาติในแถบสแกนดิเนเวียมีสโมสรปิงปองรวมกันเกือบ 500 สโมสรได้อย่างไร? ติดตามที่นี่..
เกิดที่อังกฤษ แต่เทพที่เอเชีย
ปิงปอง หรือ เทเบิล เทนนิส เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ในปี 1860 เดิมทีไม่ใช่กีฬาที่ยิ่งใหญ่เอาไว้แข่งขันชิงความเป็นเลิศอะไร นอกเสียจากเป็นกีฬาที่ใช้เล่น และออกกำลังกายหลังจากมื้ออาหารของชนชั้นสูง ทว่าด้วยความสนุกและเล่นง่าย ทำให้มันกลายเป็นกีฬาที่กองทัพอังกฤษใช้เพื่อสันทนาการเหล่าทหาร ในช่วงที่ไปยึดอำนาจในประเทศอินเดีย ซึ่ง ณ จุดนั้นคือจุดเริ่มต้นของการขยายตัวทางวัฒนธรรมของกีฬาชนิดนี้โดยแท้จริง
ทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเอาเมื่อเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการค้นสิ่งใหม่ที่ทำให้ ปิงปอง กลายเป็นกีฬาที่เริ่มจะเล่นกันสนุกขึ้นและสามารถใช้ในการแข่งขันได้ นั่นคือการคิดค้นไม้ปิงปองแบบใหม่หันมาใช้ไม้ปิงปองติดยางเม็ดแทนหนังสัตว์ รวมถึงลูกปิงปองที่ทำจากลูกเซลลูลอยด์ จากนั้นก็เกิดการแข่งขันในระดับนานาชาติ และการแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งแรกในปี 1926
การเปลี่ยนไม้ และ ลูก ทำให้เกิดเทคนิคใหม่ขึ้นมากมายสำหรับวงการปิงปอง ไม่ว่าจะหน้ามือ (โฟร์แฮนด์) หรือหลังมือ (แบ็คแฮนด์) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ชาวยุโรปคิดค้นกันขึ้นมาก่อน และทำให้พวกเขาเก่งกาจค้ำฟ้าได้กว่า 50 ปี จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ของวงการ เมื่อชาวเอเชียก้าวเข้ามาในยุทธภพ
ญี่ปุ่น และ จีน คือผู้เข้ามาใหม่ในวงการหลังปี 1950 เทคนิคการเล่นของสองชาตินั้นแปลกใหม่แบบที่ชาวยุโรปทำไม่ได้ นั่นคือการตบลูกที่แม่นยำหนักหน่วง มีการใช้ฟุตเวิร์กที่คล่องแคล่วว่องไว และเทคนิคการจับไม้ที่เราเรียกกันว่า “ไม้จีน” ขึ้นมา ซึ่งความเร็วนั้นเองที่เป็นขุมพลังที่ทำให้ ญี่ปุ่น และ จีน ก้าวขึ้นมาเป็นยิ่งใหญ่ในวงการปิงปอง ณ ยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะจีนที่มีผู้เล่นปิงปองมากกว่า 100 ล้านคนทั่วประเทศ เพราะเป็นนโยบายผลักดันจาก เหมา เจ๋อตุง และ โจว เอินไหล 2 ผู้นำของชาติที่อยากให้มีนักกีฬาเก่งระดับโลก เพื่อลบปมด้อยและสอนเชิงชาวตะวันตกที่มักจะดูแคลนเรื่องกีฬาของชาวเอเชียนั่นเอง
เหตุผลของความยิ่งใหญ่ของชาวเอเชียไม่ใช่แค่สไตล์ แต่ทั้ง 2 ประเทศมีการผลักดันการแข่งขันในประเทศและบรรจุลงหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน จนสามารถสลับหมุนเวียนเอาชนะในการแข่งขันติดต่อกันได้หลายปี เรียกได้ว่าเป็นยุคมืดของยุโรปเลยทีเดียว
20 ปีผ่านไปที่เหล่าเทพจากเอเชียไม่เคยเว้นที่ว่างให้กับผู้คิดค้นกีฬานี้ ชาวยุโรปแพ้ให้กับความเร็วของชาวเอเชียแบบไม่มีทางสู้ได้ พวกเขามือไม้แข็งเกินไป เอวก็ไม่อ่อนพอ ตัวใหญ่เทอะทะ สปริงข้อเท้าก็ไม่ดีเท่า ดังนั้น จะให้เล่นตามสไตล์ของคนเอเชียก็เห็นจะยากหน่อย แต่จะทำอย่างไรล่ะ? จะมีวิธีเอาชนะสไตล์ของเทพจากเอเชียแบบไหนบ้าง? เพราะฝั่งยุโรปส่งมือเก๋าคนไหน ไม่ว่าใครก็แทบจะแพ้กลับมาทั้งหมด
จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากเด็กหนุ่มชาวสวีเดนชื่อ สเตลัง เบงค์สัน (Stellan Bengtsson) ที่เคลมตัวเองว่า “เกิดมาเพื่อเล่นปิงปอง” เขาคนนี้คือชาวยุโรปคนแรกในรอบ 20 ปี ที่สามารถ “ล้มเทพ” ได้สำเร็จ และเมื่อมีคนถามเขาว่าเขาทำได้อย่างไร? เบงค์สัน ตอบเป็นปริศนาธรรมว่า..
“ถึงเวลาที่พวกเราต้องย้อนกลับมาประเมินเรื่องเทคนิคของเราใหม่ตั้งแต่บทเรียนแรก” เขาว่าเช่นนั้น ไม่ใช่เพราะเขาอวดโอ้ เขาฝึกในแบบที่แตกต่างเพื่อกลายเป็นเบอร์ 1 ของโลกและทำได้จริง เบงค์สันคว้าแชมป์โลกได้ถึง 3 ครั้ง เขาคือคนยุโรปที่ผู้เล่นชาวจีนต้องเกรงกลัว เพราะ เบงค์สัน ไม่เหมือนใครที่พวกเขาเคยเจอโดยแท้จริง
2 สแกนดิเนเวียนผู้ครองโลก
ถ้าเร็วเท่าเขาไม่ได้ เทคนิคการควบคุมลูกก็ต้องดีกว่า เบงค์สัน มีกฎง่ายๆแค่นั้น เขาคือผู้เปลี่ยนแปลงวงการเทเบิล เทนนิส ในยุโรป และเชื่อว่าความใจเย็นนั้นคือกุญแจสำคัญของการแก้ลำนักปิงปองจากเอเชีย
“เวลามีพอเสมอ อย่ารีบ อย่าไปกดดันตัวเอง ตาดูที่ลูกบอล มีสมาธิ และค่อยๆไปทีละจุด ทีละจุด” เบงค์สัน ให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการเล่นปิงปองของเขา และสิ่งที่เขาใช้แก้ลำนักปิงปองจากจีนและญี่ปุ่นในยุค 70s
แม้จะพูดง่าย แต่ทำจริงนั้นยากไม่ใช่เล่น เบงค์สัน เล่าว่าเขาใช้เทคนิคของจิตวิทยาเข้ามาช่วยในการเล่นของตัวเองเยอะมาก เขามีนักจิตวิทยาส่วนตัวในยุคที่นักกีฬาสมัยนั้นยังไม่เห็นค่า นอกจากนี้ เบงค์สัน ยังเริ่มทำงานกับนักสรีรวิทยาด้านการกีฬาโดยเฉพาะ เพื่อให้เรียกจุดแข็งทางกายของตัวเองมาให้ได้มากที่สุด วิธีที่ เบงค์สัน ใช้ไม่ต่างจากนักกีฬายุคปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่านั่นคือเรื่องราวเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
“สภาวะทางจิตใจสำคัญมากเลย ผมสามารถคิดภาพในหัวได้ตลอดเวลาถ้ามีสมาธิและสติที่แน่วแน่พอ ผมสามารถเอาเทคนิคใหม่ๆออกจากสมองมาใช้ได้ทันที ต่อให้ผมตีเสีย ผมก็สามารถลืมช็อตนั้นไปได้อย่างรวดเร็ว”
“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเอาชนะคือ ไม่ว่าสถานการณ์จะบีบคั้นแค่ไหน คุณต้องสามารถเล่นให้ได้เหมือนกับที่ซ้อมมา มองโลกในแง่บวกเสมอ สนุกกับความท้าทายที่เผชิญในระหว่างการแข่งขันให้ได้ ถ้าทำได้ สภาวะจิตใจที่เข้มแข็งจะส่งให้คุณไม่เคยกลัวใคร ต่อให้ซ้อมหนักแค่ไหนคุณก็เพลิดเพลินกับมันได้ สุดท้าย คุณจะมีอิทธิพลมากพอที่จะควบคุมการแข่งขันนั้นได้เอง”
เบงค์สัน ผู้สร้างยุคสมัยใหม่ให้วงการเทเบิล เทนนิส ของสแกนดิเนเวียน หรือแม้กระทั่งชาวยุโรป กล่าวถึงความแตกต่างของเขาที่ทำให้เจ้าตัวสามารถคว้าแชมป์โลก 3 ครั้ง แชมป์ยุโรป 7 ครั้ง รวมถึงรายการทัวร์นาเมนต์ต่างๆทั่วโลกอีกถึง 65 ครั้ง
อิทธิพลของ เบงค์สัน แผ่ออกไปทั่วประเทศ เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กชาวสแกนดิเนเวียน โดยเฉพาะที่ สวีเดน อย่างรวดเร็ว กระแส เบงค์สัน ฟีเวอร์ที่ว่าแรงมากในระดับหนึ่งจนทำให้เกิดนักปิงปองที่เรียกได้ว่า “เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์” ขึ้นมานั่นคือ ยาน โอว์ วัลด์เนอร์ (Jan-Ove Waldner)
วัลด์เนอร์ คือคนที่โตขึ้นมากับความยิ่งใหญ่ของ เบงค์สัน แต่เก่งยิ่งกว่า เรียกได้ว่าเก่งกว่าในระดับคูณ 2 เลยก็ว่าได้ เขายอมรับว่าอิทธิพลของ เบงค์สัน มีผลอย่างมากในการพัฒนาฝีมือของเขา แต่ วัลด์เนอร์ คืออัจฉริยะที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ คว้าแชมป์ระดับประเทศตั้งแต่อายุ 14 ปี เข้าไปแข่งรอบชิงแชมป์ระดับยุโรปตั้งแต่อายุ 16 ปี และสิ่งสำคัญที่ทำให้ วัลด์เนอร์ ก้าวข้ามเบงค์สันคือ เขาเข้าไปหาวิทยาการการเล่นเทเบิล เทนนิส ของชาวจีนด้วยตัวเอง
วัลด์เนอร์ ได้ร่วมเดินทางไปเข้าร่วมแคมป์เก็บตัวกับนักกีฬาจีน และเขาจึงได้เข้าใจว่าทำไม จีน จึงแตกต่าง เขาได้เห็นกับตาว่านักกีฬาของจีนนั้นทุ่มเทแบบยอมแลกชีวิตเพื่อได้เป็นตัวแทนของชาติ ซึ่งเมื่อเห็นเช่นนั้น เด็กอัจฉริยะจึงรู้ว่าพรสวรรค์ของเขาคงไม่มีค่าอะไร หากเขาไม่ขวนขวายเหมือนกับที่นักปิงปองจากจีนเป็น
นับตั้งแต่นั้นมา วัลด์เนอร์ ก็ได้เรียนรู้มากมายและตั้งเป้าหมายว่าเขาจะเป็นเบอร์ 1 ของโลก ด้วยความพยายามระดับเดียวกับที่ผู้เล่นจีนทำ
นับตั้งแต่เข้าสู่ปลายยุค 80s วัลด์เนอร์ กลายเป็นยอดฝีมือที่เก่งที่สุดในปฐพี เขาถูกเรียกว่า “โมซาร์ท แห่งวงการเทเบิล เทนนิส” และแม้แต่ที่จีนดินแดนรวมเทพ เขายังถูกยกย่องในฐานะผู้ยิ่งใหญ่โดยมีฉายา “โอลด์ วัลด์เนอร์” และ “เอเวอร์กรีนทรี” (สมบูรณ์แบบตลอดกาล) โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 90s นั้น วัลด์เนอร์ เป็นที่รู้จักของคนจีนทั้งประเทศ มากกว่า บิล คลินตัน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในตอนนั้นเสียอีก
แชมป์โลก 8 สมัย, แชมป์โอลิมปีกที่ บาร์เซโลน่า ปี 1992 และแชมป์ยุโรปอีก 11 สมัย คือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงคู่ควรกับการเป็น โมซาร์ท ของวงการนี้..
ขนาดที่จีนยังคลั่งไคล้และเป็นที่นิยมขนาดนี้ แล้วถ้ากลับไปที่บ้านของเขาอย่าง สวีเดน และแถบสแกนดิเนเวีย มันยิ่งกว่านั้นเยอะ กระแส วัลด์เนอร์ ฟีเวอร์ กลายเป็นการจุดติดของวัฒนธรรมการเล่นปิงปองของ สวีเดน และสแกนดิเนเวียมาจนถึงทุกวันนี้เลยก็ว่าได้
1 โรงเรียน 1 โต๊ะปิงปอง
ประเทศแถบสแกนดิเนเวียเป็นประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนในประเทศมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพชีวิตนั้น รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ทุ่มเต็มที่ให้ประชากรได้ออกมาใช้ชีวิตและออกมาเล่นกีฬา ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี
ความจริงจังของโครงการเพื่อประชาชนของรัฐบาลทั้ง สวีเดน, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์ และ นอร์เวย์ นั้นเรียกได้ว่าพวกเขาได้สร้างโรงยิมแบบปิดมากมายเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้เข้ามาใช้งานในช่วงที่สภาพอากาศไม่ดีหรือมีหิมะตก ปิงปองก็เหมือนกับแบดมินตัน เป็นกีฬาที่ได้รับการผลักดันในระดับต้นๆ เพราะสามารถเล่นได้ตลอดเวลาไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะปิงปองนั้น เมื่อยุคที่รัฐบาลผลักดันเข้ามาประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ วัลด์เนอร์ ครองโลก มันก็กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ ที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมากมาย
หลังจากเข้าศตวรรษที่ 21 คือช่วงเวลาที่วงการเทเบิล เทนนิส เฟื่องฟูในสแกนดิเนเวียโดยแท้ พวกเขาอาจจะไม่มีนักกีฬาที่ไปถึงในระดับที่ วัลด์เนอร์ ทำได้ เพราะนั่นคือระดับ GOAT ของวงการไปแล้ว แต่หากมองในแง่ตัวเลขและจำนวนความนิยมที่เกิดขึ้นในกีฬาชนิดนี้ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ก็ต้องยอมรับว่า ปิงปอง คือกีฬาที่ชาวสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะชาว สวีเดน เล่นกันได้แบบทุกเพศทุกวัย
มีการยืนยันจากเว็บไซต์ The Culture Trip พูดถึงความนิยมในกีฬาปิงปอง โดยเฉพาะในสวีเดน และ เดนมาร์ก เติบโตขึ้นแบบสุดๆภายในเวลาไม่กี่ปี ที่สวีเดน 1 โรงเรียน ไม่ว่าจะวัยอนุบาลหรือวัยไฮสคูล จะต้องมีโต๊ะปิงปองไว้คอยบริการเด็กๆในโรงเรียน และเปิดให้เล่นฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดเวลา เนื่องจากมีเด็กๆให้ความสนใจเข้ามาไม่ขาดสาย
ขณะที่ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์ และ นอร์เวย์ นั้นแม้อาจจะไม่ฟีเวอร์เท่า แต่พวกเขาก็มีการเปลี่ยนแปลงตรงที่มีการจัดแคมป์สำหรับฝึกฝนและฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาด้านนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีสโมสรเทเบิล เทนนิส เกิดขึ้นตามท้องถิ่นมากมาย
ที่ สวีเดน มีสโมสรเทเบิล เทนนิส เกิดขึ้นมากกว่า 200 แห่ง, ที่ เดนมาร์ก ราว 170 แห่ง, ที่ นอร์เวย์ มี 122 แห่ง ขณะที่ ฟินแลนด์ และ ไอซ์แลนด์ แม้จะไม่มีจำนวนยืนยันที่ชัดเจน แต่พวกเขาก็มีสโมสรเทเบิล เทนนิส อยู่ในเมืองหลวง ที่มากพอกับความนิยมของประชาชนในประเทศ
หากจะกล่าวว่า สแกนดิเนเวีย เก่งเทเบิล เทนนิส ทุกประเทศคงไม่ถูกนัก เพราะนอกจากสวีเดนแล้ว พวกเขาไม่มีนักปิงปองระดับแชมป์โลกเลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งมันก็อาจจะไม่แปลกนักที่เป็นเช่นนั้น เพราะ สวีเดน เป็นประเทศที่มีต้นแบบให้เยาวชนในประเทศเห็นภาพ
พวกเขามีความภาคภูมิใจกับยุคสมัยที่ครั้งหนึ่ง สวีเดน เคยเป็นเจ้าแห่งกีฬาเทเบิล เทนนิส โดยเฉพาะในช่วงยุค 90s ทีเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมากมาย ทั้งการชนะ จีน ในประเภทชายเดี่ยว, ประเภททีมชาย และ ประเภทคู่ผสม นอกจาก เบงค์สัน และ วัลด์เนอร์ แล้ว สวีเดน ยังมีแชมป์ยุโรปหญิงอย่าง มารี สเวนสัน นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆที่ชนะในระดับรางวัลนานาชาติอีกมากมาย โดยเฉพาะในยุคที่ วัลด์เนอร์ ครองโลกนั้น 10 อันดับนักปิงปองที่เก่งที่สุดในโลกนั้น เคยมีนักกีฬาสวีเดน ติดอันดับถึง 5 คน ซึ่งนั่นคือความสำเร็จที่ยากจะทำซ้ำ
แม้ทุกวันนี้ชาติจากเอเชียอย่าง จีน และ ญี่ปุ่น อาจจะกลับมายึดหัวหาด ท็อป 5 นักเทเบิล เทนนิส ที่เก่งที่สุดในโลก ทั้งประเภทชายและประเภทหญิง แต่เรายังสามารถเห็นวัฒนธรรมและการฝังรากของ ปิงปอง ในชาติสแกนดิเนเวียอยู่บ้าง โดยปัจจุบัน มัทเธียส ฟอล์ก นักเทเบิล เทนนิส ชายชาวสวีเดน คือความภาคภูมิใจของสแกนดิเนเวีย กับการรั้งอันดับที่ 8 ของโลกในประเภทชายเดี่ยว
ที่สุดแล้ว เทเบิล เทนนิส อาจจะไม่ใช่กีฬาอันดับ 1 ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือพวกเขามีสโมสรรองรับ มีพื้นที่ให้เยาวชนได้พัฒนา และที่แน่นอนที่สุดคือการผลักดันจากรัฐบาลที่ไม่ได้มองข้ามกีฬาชนิดไหนเลย
พวกเขามีแนวคิดที่เรียกว่า “ฟรีลุฟท์สลิฟ” ที่ทำให้ประชาชนในประเทศได้ออกจากบ้านไปใช้ชีวิต ไปออกกำลังกายเพื่อพัฒนาตัวเอง และเหนือสิ่งอื่นใดคือไม่ว่าจะเป็นแชมป์หรือเก่งที่สุดในโลกหรือไม่ เทเบิล เทนนิส ถือเป็นสิ่งที่ให้ความสุขของประชากรในประเทศเหล่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว