คนไทยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การติดตามข่าวสาร สร้างความความบันเทิง ขายสินค้า-บริการ ไปจนถึงใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงจุดยืนทางการเมือง เนื่องจากโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม มีจุดเด่นและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน
เช่น การเข้าไปสะท้อนเสียงหรือความคิดเห็นแบบไม่แสดงตัวตนหรืออัตลักษณ์ของผู้ใช้งาน ก็จะเลือกใช้งานบน Twitter หรือหากต้องการสื่อสารกับสังคมคนหมู่มาก เพื่อสร้างการปฏิสัมพันธ์ด้วยข้อความยาว รูปภาพ และคลิปวิดีโอ ก็เลือกที่จะสื่อสารผ่าน Facebook ในขณะที่ Instagram ก็จะเน้นถ่ายภาพสวย ๆ โชว์ไลฟ์สไตล์ และแคปชั่นเท่ ๆ จึงเรียกได้ว่า ฟีเจอร์ของโซเชียลมีเดียเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้ใช้งาน
YouTube ขึ้นแท่น Social Media Platform ที่คนไทยใช้งานมากที่สุด ในปี 2021
รายงาน Thailand Digital Stat 2021 จาก We Are Social และ Hootsuite ได้เผยว่า โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้งานมากที่สุด ในปี 2021 (อ้างอิงจากคนไทยอายุ 16-64 ปี) อันดับหนึ่ง ได้แก่ YouTube 94.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเดิมที Facebook ครองอันดับหนึ่งในใจคนไทยมาตลอด แต่มาในปี 2020-2021 เป็นปีแรกที่ Facebook ต้องเสียแชมป์ให้กับ YouTube และคำว่า เพลง คือสิ่งที่คนไทยชอบค้นหามากที่สุดเพื่อดูบน YouTube
ภาพจาก DATAREPOETAL
ส่วนอันดับสอง ก็คือ Facebook 93.3 เปอร์เซ็นต์ โดยสถิติจำนวนผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยปี 2020-2021 มีผู้ใช้ Facebook ในไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 51 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนมีผู้หญิงใช้งานมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย ต่อด้วยอันดับสามคือ LINE 86.2 เปอร์เซ็นต์ อันดับสี่คือ Facebook Messenger 77.1 เปอร์เซ็นต์ อันดับห้าคือ Instagram 64.2 เปอร์เซ็นต์ โดยในต้นปี 2021 มีคนไทยใช้งาน Instagram กว่า 16 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.7 เปอร์เซ็นต์ และมีสัดส่วนของเพศหญิงมากกว่าเพศชายอย่างเห็นได้ชัด
คนไทยบริโภคสื่อเปลี่ยนไป ในสถานการณ์โควิด-19
จากรายงานของนีลเส็น เผยว่าในปี 2563 มีการบริโภคสื่อของผู้บริโภคชาวไทยเพิ่มขึ้น สื่อที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ ทีวี ดิจิทัล และวิทยุ โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากการติดตามข่าวสารจาก 2 สถานการณ์สำคัญ คือ การแพร่ระบาดโควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมือง
โดยผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างไปกับการดูทีวี โดยเฉลี่ย 4 ชั่วโมง 9 นาทีต่อวัน ซึ่งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อนหน้า และใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 70 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562 เป็น 75 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 ทั้งนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังใช้เวลากับสื่อดิจิทัลมากขึ้น เฉลี่ย 3 ชั่วโมง 34 นาทีต่อวัน และการฟังวิทยุในปี 2563 ผู้บริโภคใช้เวลาในการฟังวิทยุ ประมาณ 2 ชั่วโมงในแต่ละวันทีเดียว
และในช่วงการระบาดของโควิด-19 พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมากกว่าปีก่อนหน้า ในแง่ของกิจกรรมอื่น ๆ 38 เปอร์เซ็นต์ ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น 34 เปอร์เซ็นต์ ซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์ ส่งข้อความเพื่อติดต่อกับเพื่อน ๆ และครอบครัวมากขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริโภคใช้อุปกรณ์เพื่อเข้าถึงข่าวสารออนไลน์ หรือดูรายการทีวี และ streaming content มากขึ้น ทั้งนี้การเล่นเกมออนไลน์ยังเป็นกิจกรรมหลัก สำหรับ 32 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคอีกด้วย