แพทย์แนะวิธีเอาตัวรอด จากเหตุไฟไหม้ ย้ำอย่าตระหนก หายใจเร็ว ยิ่งสำลักควัน สูดเอาสารพิษเข้าร่างกาย เสี่ยงหมดสติในที่เกิดเหตุ พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีไฟไหม้ร้านเมาท์เทนบี ว่าเป็นเหตุเตือนใจเวลาไปเที่ยวควรระวังและมีความรู้ในการป้องกันตัว สิ่งหนึ่งที่ควรทำเวลาไปสถานที่ใด ๆ คือต้องหาทางหนีไฟว่าอยู่บริเวณใด ถ้าเกิดไฟไหม้ในอาคารปิด หากเราอยู่ในห้องอย่าเปิดประตูทันที ลองเอามืออังดูก่อนว่าประตูร้อนหรือไม่
หากร้อนแสดงว่ามีไฟไหม้หลังประตูให้หาทางออกอื่น ถ้าไม่มีทางออกให้ปิดรูรอบ ๆ ประตู และทางระบายอากาศที่มีอยู่ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเปียกมาอุดช่องใต้ประตูไม่ให้ควันไฟเข้า ถ้าหายใจลำบาก ให้ก้มตัวต่ำ เพราะด้านล่างจะมีออกซิเจนมากกว่า อย่าตกใจ พยายามหายใจสั้น ๆ จะเอาก๊าซพิษเข้าไปน้อยกว่า
ส่วนกรณีเกิดบาดแผลจากไฟไหม้ แผลพุพอง บริเวณผิวหนัง โดยทั่วไปผิวหนังมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค สารเคมี รังสีต่าง ๆ ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิร่างกาย มีเส้นประสาทรับความรู้สึกจำนวนมาก ซึ่งบาดแผลจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกที่ผิวหนัง แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามความลึกของบาดแผล
คือระดับที่ 1 (First-degree burn) บาดเจ็บเฉพาะที่ชั้นหนังกำพร้า เป็นชั้นผิวหนังส่วนตื้น แผลอาจมีลักษณะคล้ายผิวหนังไหม้จากการโดนแสงแดดจัด อาการที่พบ เจ็บแสบ แดง และแห้ง ไม่มีลักษณะของตุ่มน้ำให้เห็น หายได้เองภายใน 7-14 วัน
แผลลึกระดับที่ 2 (Second-degree burn) การบาดเจ็บลงลึกถึงชั้นหนังแท้ อาการขึ้นอยู่กับความลึกที่ได้รับบาดเจ็บ มักพบตุ่มน้ำ แผลถลอกร่วมด้วย การหายของแผลอาจใช้เวลามากกว่าสองสัปดาห์และมีโอกาสเกิดแผลเป็นหรือสีผิวผิดปกติตามมา
แผลลึกระดับที่ 3 (Third-degree burn หรือ Full-Thickness burn) ผิวหนังทุกชั้นถูกทำลายด้วยความร้อน แผลมีลักษณะแห้งแข็ง ไม่ยืดหยุ่น แผลชนิดนี้มักไม่หายเอง ต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง มีโอกาสเกิดการหดรั้งหรือแผลเป็นนูนตามมาได้ค่อนข้างมาก
ด้านนพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า ควันไฟไหม้มีคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ และอนุภาค (PM หรือเขม่า) ประกอบด้วยสารเคมีต่าง ๆ ควันไฟมีสารเคมีหลายชนิด เช่น อัลดีไฮด์ ก๊าซที่มีคุณสมบัติเป็นกรด ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ โพลีซัยคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) เบนซีน โทลูอีน สไตรีน โลหะ และไดออกซิน
นั่นเกิดจากโฟม สี หรือวัสดุต่าง ๆ ที่ถูกเผาไหม้ ส่วนใหญ่คนที่ติดอยู่ในสถานที่ไฟไหม้จะตื่นตระหนก พยายามวิ่งหนี ยิ่งถ้าไฟดับก็จะยิ่งตื่นตระหนก ทำให้หายใจเร็วขึ้น ทำให้ยิ่งหายใจก๊าซพิษเข้าไปมากขึ้น หากสูดควันไฟเข้าไปเยอะจะต้องไม่ออกแรงมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เช่น คนที่มีโรคประจำตัวโรคหัวใจหรือทางเดินหายใจ จะทำให้หัวใจและปอดทำงานมากขึ้น
การสูดควันไฟในระยะแรกจะเกิดผลเฉียบพลันคือระคายเคืองตา จมูก คอ และกลิ่นจะทำให้คลื่นไส้ ปอดทำงานลดลง ออกซิเจนในร่างกายน้อยลง เมื่อหายใจด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์ร่างกายจะใช้ออกซิเจนไม่ได้ จึงเกิดอาการขาดออกซิเจน ได้แก่ ปวดศีรษะ ลดความตื่นตัว เกิดอาการของหลอดเลือดหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก
นอกจากนี้อนุภาคยังเข้าไปยังทางเดินหายใจโดยตรง ทำให้เกิดการไอ หายใจลำบาก และทำให้คนที่เป็นโรคมีอาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไปเที่ยวผับ บาร์ ที่สูบบุหรี่ ทำให้สมรรถภาพปอดแย่ลงอีก เมื่อหนีออกมาได้ อาการจะลดลงแต่จะยังคงอยู่อีก 2-3 วัน คนที่ติดอยู่ภายในและหายใจด้วยควันไฟมาก ๆ จะทำให้ขาดออกซิเจน อาจหมดสติ ถ้าช่วยออกมาไม่ได้จะเสียชีวิต
สำหรับข้อปฏิบัติของคนที่หนีออกมาจากผับได้ คือต้องเฝ้าระวังตนเองว่ามีอาการการหายใจผิดปกติหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจควรมาตรวจร่างกาย ทั้งนี้ควันไฟที่เห็นก็อันตราย แต่ส่วนที่อันตรายกว่าคือ อนุภาคที่มองไม่เห็น การเข้าไปดับเพลิงแม้ในระยะสั้นบ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดผลต่อสุขภาพระยะยาวได้ เช่น พนักงานดับเพลิงอาจจะเกิดมะเร็ง โรคปอด โรคของหัวใจและหลอดเลือด
ขณะที่พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การปฐมพยาบาลเบื้องต้นบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก คือ 1)ออกจากแหล่งความร้อนโดยเร็วที่สุด กำจัดแหล่งความร้อนที่จะทำให้บาดแผลลุกลามมากขึ้น เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับที่อยู่บริเวณแผล 2)ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ เพื่อลดความร้อนและทำให้แผลเย็นลง
3)กรณีมีบาดแผลถลอก มีตุ่มน้ำ สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง มีบาดแผลลึก หรือมีแผลไหม้เป็นบริเวณกว้าง สามารถปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด และให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน 4)ไม่ควรทาหรือใช้สารอื่น ๆ ทาลงบนบาดแผล เช่น ยาสีฟัน ไข่ขาว น้ำปลา เนื่องจากอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่บาดแผลได้
แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ควรได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและถูกต้องตั้งแต่ก่อนมาพบแพทย์ เพื่อลดโอกาสลุกลามและเกิดผลข้างเคียง หรือเกิดการติดเชื้อผิวหนัง นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีโอกาสเกิดปัญหาอื่นๆ เช่น การสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย การติดเชื้อ และการสูดดมควันไฟ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน