เชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงปลูกถ่ายตับอ่อน รักษาผู้ป่วยเบาหวาน ครั้งแรกภาคเหนือ สร้างศักยภาพทางการแพทย์ เทียบชั้นระดับโลก
25 พ.ย. 65 – ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) แถลงว่า เคสการปลูกถ่ายตับอ่อนเพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 นับเป็นเคสแรก ที่สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นรายแรกของคณะแพทยศาสตร์ มช. และ ผู้ป่วยได้รับการดูแลของทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นอย่างดี
นำโดย ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางตับทางเดินน้ำดี และ ตับอ่อน รศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี ผศ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วย ฯ รศ.ดร.พญ.เมตตาภรณ์ พรพัฒน์กุล ประธาน clinical lead team เบาหวาน
รศ.พญ.ประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมบุคลากรทางการแพทย์หลายหลายสาขาวิชา
โดยความสำเร็จของการรักษาในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขยายศักยภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ซับซ้อนของโรงพยาบาลมหาราชฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดทีมแพทย์ และ บุคลากรทางการแพทย์หลายหลายสาขาวิชาที่ร่วมกันให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่หายจากการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
ภายหลังได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน เนื่องจากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ไม่ได้รับการตอบสนองต่อการฉีดอินซูลินชนิดเข้าใต้ผิวหนัง แนวทางการรักษาภาวะดังกล่าว ได้แก่ การใช้อินซูลินปั๊ม การให้ยาทางช่องท้อง ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้น
จึงต้องได้รับอินซูลินเข้าทางหลอดเลือดดำใหญ่อย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลรวมระยะเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ไม่สามารถกลับบ้านได้และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือดทุก 2 ถึง 3 สัปดาห์ บางครั้งติดเชื้อรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตผู้ป่วย (ICU)
นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานหลายชนิด เช่นระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ จึงเป็นข้อบ่งชี้ในการปลูกถ่ายตับอ่อนเพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1
สำหรับผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยเด็ก เริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และ เริ่มเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เมื่ออายุ 14 ปี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ตับ ทางเดินน้ำดี และ ตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ว่าเป็นรายแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
สำหรับการปลูกถ่ายตับอ่อนนั้น เป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยรายนี้ให้หายขาดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานลักษณะนี้ จึงเป็นการยากที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย
นอกจากนี้ การเลือกตับอ่อนจากผู้บริจาคสมองตายนั้น ยังมีความซับซ้อนมากกว่าการปลูกถ่ายตับ หรือไต โดยต้องมีการตรวจความเข้ากันได้ของอวัยวะ และกรุ๊ปเลือดรวมถึงอายุและน้ำหนักของผู้บริจาค รวมทั้งลักษณะของตับอ่อนที่นำมาใช้ต้องไม่มีการบาดเจ็บและไขมันมากจนเกินไป
ดังนั้น จากสถิติของสภากาชาดพบว่าในแต่ละปีพบผู้ป่วยเพียง 1 ถึง 2 รายเท่านั้น ที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งทั้งหมดทำการรักษาในสถาบันปลูกถ่ายอวัยวะในกรุงเทพมหานครทั้งหมด
โดยเมื่อมีผู้บริจาคอวัยวะที่เหมาะสม ทางทีมการรักษาและผ่าตัดได้เตรียมความพร้อมและทำการผ่าตัดตับอ่อนออกมาเพื่อทำการปลูกถ่าย ให้ผู้ป่วยรายดังกล่าว โดยการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี ไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
หลังจากผู้ป่วยพักฟื้นในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยได้รับการดูแลจากทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ดี พบว่าภายหลังการปลูกถ่ายตับอ่อนระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยกลับมาปกติ โดยไม่ต้องใช้อินซูลินและสามารถกลับบ้านได้ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อานนท์ กล่าวว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อนแล้ว ณ เวลานี้ ทีมคณาจารย์ หน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นสถาบันการแพทย์เพียงแห่งเดียว ที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ เพื่อรักษาผู้ป่วยผู้ใหญ่จากผู้บริจาคที่มีชีวิต เพื่อแก้ปัญหาการรออวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราการบริจาคน้อย
รวมทั้งยังสามารถทำการผ่าตัดในผู้บริจาคตับ โดยใช้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริจาคตับดีขึ้น ดังนั้น นับเป็นความสำเร็จถึงศักยภาพทางการแพทย์ของทีมแพทย์ที่เทียบชั้นระดับโลกได้