แพทย์ชนบทเล่าเรื่องเศร้า อาโกวัย 60 ยอมเสี่ยงติดโควิด เพื่ออยู่ดูแลหลานที่ป่วย

Home » แพทย์ชนบทเล่าเรื่องเศร้า อาโกวัย 60 ยอมเสี่ยงติดโควิด เพื่ออยู่ดูแลหลานที่ป่วย
แพทย์ชนบทเล่าเรื่องเศร้า อาโกวัย 60 ยอมเสี่ยงติดโควิด เพื่ออยู่ดูแลหลานที่ป่วย

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เล่าเรื่องเศร้า อาโกวัย 60 ยอมเสี่ยงติดโควิด เพื่ออยู่ดูแลหลานที่ป่วย 

วานนี้ (7 ส.ค.) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวนหนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อเป็นผู้สูงวัยและมีสมาชิกอยู่ด้วยกันหลายราย โดยระบุว่า

“อาม่าต้องรอด

“วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาผมและทีมจะนะ ไปออกปฏิบัติการที่อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐม พบอาม่าอายุ 84 ปีมาตรวจด้วยไม้เท้า อาม่าดูแข็งแรงพอสมควรตามวัย​ แต่ผล ​Rapid test ขึ้น 2 ขีด เป็นบวก​ อาม่าติดโควิด​ เรากลับไปทำ RT-PCR ซ้ำให้อาม่า และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์​ ออกซิเจนในเลือดได้ 96% ตามญาติมาคุยพบ และผมได้ไปเยี่ยมดูสภาพที่บ้าน มีเรื่องราวเศร้าๆ ที่น่าสนใจมาก

“ที่บ้านอาม่าเป็นบ้านเอื้ออาทร​ ห้องหลังเล็กๆ อยู่กัน 5-6 คน​ มีหลานชายใส่เสื้อเบอร์ 10 เป็นโควิดแล้ว​ กักตัวรักษาที่โรงพยาบาลสนามครบแล้ว​ ที่บ้านเจอเด็กน้อยสี่ขวบอีกคนเป็นโควิดด้วย​ แต่มีอาโกอายุ 60 ที่ดูแลเด็กน้อย​ ผลยังเป็นลบ​ อีกสองคนหนุ่มสาวออกไปทำงานข้างนอก

“ความยากคือ​ ใครจะดูแลอาม่า​ อาม่าต้องการคนจูงไปห้องน้ำ​ดูแล​สารพัด โชคดีที่หลานเสื้อเบอร์ 10 นั้นติดเชื้อมีภูมิแล้ว​ จึงพร้อมดูแล​ แล้วใครจะดูแลเด็กน้อย​ คำตอบคืออาโก แต่อาโกผลยังเป็นลบ​ จากการคุยกัน​ของครอบครัว​ ข้อสรุปก็คือ​ อาโกคงต้องยอมติดโควิด​ เพื่อดูแลทุกคนในครอบครัว​ร่วมกับหลานเสื้อเบอร์ 10

“อาม่าก็น่าเป็นห่วงมาก​ เตียง​ รพ.ยังไม่มี​ ต้องนอนรักษากินยายาฟาวิพิราเวียร์​เองที่บ้านไปก่อน​ อาโกยิ่งน่าห่วง​ อายุ 60 แล้ว​ แม้ยังไม่ติด​ แต่ต้องอยู่ดูแลใกล้ชิด​ คงยากที่จะหลีกเลี่ยงพ้น​ และอาโกจะได้ตรวจคัดกรองและได้ยาฟาวิฯ ในอนาคตไหม

“ขอให้อาม่า​อาโก​ รอดปลอดภัย​ ทีม​ รพ.สต.ในพื้นที่รับปากว่า จะดูแลให้ดีที่สุด”

ขณะเดียวกันสถานการณ์ใน กทม. พญ.ภาวิดา ชมเกลี้ยง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 1 ในทีมแพทย์ชนบท ที่ร่วมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับประชาชนบริเวณลานตลาดกลางดินแดง เปิดเผยว่า เป้าหมายของทีมแพทย์ชนบท คือต้องการช่วยแบ่งเบาภาระของ กทม. ที่ปัจจุบันความต้องการตรวจคัดกรองของประชาชนมีเป็นจำนวนมากและการตรวจไม่เพียงพอ ยอมรับว่าจากการประเมินสถานการณ์คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น แต่จากที่ดูประชาชนที่มาตรวจหากติดเชื้อคาดว่าอาการไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งทีมแพทย์จะพิจารณาผู้ที่มีผลบวกว่าจัดอยู่ในอาการสีเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อพิจารณาว่าจะให้ยาไปรับประทานเองกรณีทำ Home Isolation หรือบางรายต้องเข้ารับการรักษาแบบ Comunity Isolation หรือส่งไป รพ.สนามหรือ รพ.จริงๆ โดยแพทย์จะต้องทำการประเมินเพื่อนำผู้ป่วยส่งไปรักษาตามขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีม CCRT ซึ่งตั้งเป้าหมายคัดกรองเชิงรุกในชุมชนระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค.ให้ได้วันละ 35,000 ราย ภายใน 7 วัน จะตรวจคัดกรองให้ได้ไม่น้อยกว่า 250,000-300,000 ราย โดยคาดการณ์อาจพบผลบวก 15% หรือประมาณ 32,500 รายและ 1 ใน 3 ต้องการยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งกระทรวง สธ.ได้สนับสนุนไว้ที่ 600,000 เม็ด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ