แพทยสภา ออกแถลงการณ์ 8 ข้อ หนุน “วัคซีน mRNA” ย้ำประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามรัฐธรรมนูญ ชี้ควรให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนไม่ว่าชนิดใดโดยเร็วที่สุด เพราะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
(8 ก.ค.) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ลงนามในประกาศแพทยสภา เรื่อง แถลงการณ์แพทยสภาในสถานการณ์โควิด-19 (ฉบับที่ 1) ความว่า
ตามที่ สถานการณ์การระบาดของติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการเพิ่มติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทยสภา ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 หมวดที่ 1 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า แพทยสภามีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่น ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุข และ เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้แพทยสภา จึงขอประกาศการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.แพทยสภาสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดหา “วัคซีนโควิด-19” ให้มีใช้อย่างหลากหลาย เพียงพอโดยเร็วที่สุด และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ เช่น กลุ่ม “วัคซีน mRNA” โดยให้ครอบคลุมทั้งผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และเพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว
2.แพทยสภาสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนที่เหมาะสม เช่น กลุ่ม “วัคซีน mRNA”
3.แพทยสภาสนับสนุนให้รัฐบาล เอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็วที่สุด
4.แพทยสภาสนับสนุนให้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร สถานที่และทรัพยากรต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
5.แพทยสภาสนับสนุนการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงด้านวิชาการของแต่ละราชวิทยาลัยและวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์กรในกำกับของแพทยสภา ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
6.แพทยสภาสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 47
7.แพทยสภาสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าชนิดใดโดยเร็วที่สุดเพราะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
8.แพทยสภาสนับสนุนให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เช่น งดเว้นกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม การเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงการอยู่ภายในที่พักอาศัยเมื่อเกิดสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น เพราะสามารถช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้