แบงก์ชาติ ถกแนวทางกำกับการใช้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ชำระค่าสินค้า-บริการ

Home » แบงก์ชาติ ถกแนวทางกำกับการใช้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ชำระค่าสินค้า-บริการ


แบงก์ชาติ ถกแนวทางกำกับการใช้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ชำระค่าสินค้า-บริการ

แบงก์ชาติ เผยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องแนวทางการกำกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

วันที่ 1 ธ.ค.2564 เฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand โพสต์ข้อความระบุ แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการกำกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ

โดย น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แบงก์ชาติได้ติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สินทรัพย์ดิจิทัล

ที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ และขอย้ำว่า แบงก์ชาติไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ

รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย ในระยะต่อไป หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้

แนวทางดังกล่าวเป็นมุมมองสอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสม

ปัจจุบัน แบงก์ชาติร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงข้างต้น โดยจะยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ