สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า ขณะนี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก หลังจากมีผู้ต้องหาชาวเกาหลีใต้ ที่ถูกจับกุมตัวในประเทศไทย ไลฟ์ทั้งตอนที่อยู่บนรถคุมขัง และขณะที่อยู่ในเรือนจำ โดยระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ของไทย ได้จับกุมตัวชายเกาหลีคนหนึ่ง ซึ่งอายุประมาณ 40 ปี ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง พื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในข้อหาลักลอบนำยาเสพติดจากประเทศไทย ส่งไปเกาหลีใต้ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยซ่อนยาไอซ์ไว้ในกล่องกาแฟ และถุงถั่ว
ขณะที่ ทางการเกาหลี ยืนยันว่า ยาไอซ์ที่ถูกส่งมาจากไทย ถูกซุกไว้ในกล่องกาแฟและถุงถั่ว และได้มีการจับกุมตัวบุคคลที่คาดว่าเป็นผู้รับยาไอซ์ดังกล่าวไว้แล้ว โดยมีการออกหมายจับชายต้องสงสัย นามสมมุติว่า ‘นายเอ’ ที่เชื่อว่าเป็นผู้ส่งยาไอซ์ดังกล่าว แต่พบว่า นายเอได้หลบหนีมายังประเทศไทย ซึ่งทางการเกาหลีได้ขอความร่วมมือจาก ป.ป.ส. ให้ตามตัวนายเอจนกระทั่งสามารถตามจับกุมได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ระหว่างการถูกจับกุมตัวนายเอ ยังสามารถไลฟ์สดผ่านทางยูทูบได้อย่างสบาย ๆ ทั้งตอนที่อยู่บนรถที่ควบคุมตัว และตอนอยู่ภายในห้องขัง โดยไม่ได้สนใจเลยว่า ตัวเองกำลังถูกจับกุมตัวอยู่ ซึ่งมีรายงานว่า ตอนที่นายเอ หนีมาอยู่ที่ไทย ได้ทำช่องยูทูบ และเรียกตัวเองว่า ‘เป็นผู้ที่รวยที่สุดในไทย’ นอกจากนี้นายเอ ก็ยังไลฟ์บอกกับผู้ชมว่า ตนเองถูกตัดสินให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ และขอขอบคุณทุกคนที่สนับสนุน และตนจะมีความกล้าหาญให้มากขึ้น
ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า จากข่าวกรณีที่ผู้ต้องหารายดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้ลักลอบขนยาเสพติด ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภ.หนองปรือ เข้าจับกุมตัวได้ที่โรงแรมในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นั้น
โดยผู้ต้องหา มีพฤติการณ์จัดหายาเสพติด (ไอซ์) จากประเทศไทยส่งไปยังสาธารณรัฐเกาหลี มีความเกี่ยวข้องกับ คดีเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งทางการเกาหลีตรวจยึดพัสดุระหว่างประเทศที่ส่งมาประเทศไทย พบยาไอซ์ 38.46 กรัม ซุกซ่อนมาในถุงกาแฟ-ถุงถั่ว ทางการเกาหลีขยายผลจับกุมผู้รับพัสดุ และสอบปากคำทราบว่า ผู้จัดส่งยาเสพติด คือ ผู้ต้องหาคนดังกล่าว
ทางการเกาหลีจึงรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ และสามารถสืบทราบว่า บุคคลดังกล่าวได้หลบหนีมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จึงประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้พิจารณายกเลิกการตรวจลงตรา (วีซ่า)
จากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า บุคคลดังกล่าวอยู่เกินกำหนดระยะเวลาอนุญาต (Overstay) กรมราชทัณฑ์จึงได้เร่งให้เรือนจำในพื้นที่ดังกล่าว ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งทางเรือนจำพิเศษพัทยา ได้รายงานว่า ไม่เคยรับตัวผู้ต้องหาชาวเกาหลีใต้รายนี้เข้าควบคุมภายในเรือนจำ และภาพห้องขังที่ปรากฏภายในคลิปนั้น มิใช่สถานที่ภายในเรือนจำ และจากการตรวจสอบในระบบข้อมูลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ไม่พบว่ามีชื่อบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ โทรศัพท์มือถือจัดเป็นสิ่งของต้องห้าม และหากพบว่ามีการนำโทรศัพท์เข้าภายในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังก็ตาม ถือเป็นความผิด และต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ต่อไป