แคสเซียส เคลย์ VS สหรัฐอเมริกา : เมื่อนักกีฬาดังลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ

Home » แคสเซียส เคลย์ VS สหรัฐอเมริกา : เมื่อนักกีฬาดังลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ
แคสเซียส เคลย์ VS สหรัฐอเมริกา : เมื่อนักกีฬาดังลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ

สงครามต้านคอมมิวนิสต์ที่เวียดนาม นับเป็นสงครามที่สร้างรอยด่างพร้อยให้กับรัฐบาลและกองทัพสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริง

พวกเขาแพ้สงคราม พวกเขาโดนประชากรในประเทศต่อต้าน นอกจากนั้นพวกเขายังแพ้ให้กับ แคสเซียส เคลย์ หรือ มูฮัมหมัด อาลี อีกด้วย 

28 เมษายน คือวันครบรอบที่ มูฮัมหมัด อาลี ปฏิเสธการเข้าเกณฑ์ทหาร ด้วยเหตุผลที่มากมายที่ซ่อนอยู่ … ภายใต้ความหัวแข็ง และชัยชนะในชั้นศาล อาลี ทำให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?  

ติดตามกับ Main Stand

การประกาศกร้าวที่ไม่กลัวการสูญเสีย

“ผมไม่ไปเวียดนามเด็ดขาด ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับพวกเขา อย่างน้อย ๆ พวกเวียดนามก็ไม่เคยเรียกผมว่าไอ้นิโกร” สิ้นสุดของการกล่าวประโยคนี้ของ แคสเซียส เคลย์ นักชกที่กำลังสร้างชื่อในการเป็นหมายเลข 1 ของโลกในรุ่นเฮฟวี่เวต เสียงสรรเสริญที่มีต่อเขาก็เปลี่ยนไปทันที


Photo : The Times

ย้อนกลับไปก่อนหน้าประโยคดังกล่าว 3 ปี หรือในปี 1964 สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วม สงครามเวียดนาม หรือที่มีการเรียกในอีกชื่อว่า สงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ สงครามดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น ที่เป็นการแบ่งฝ่ายกันของกลุ่มโลกเสรี ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ นำโดย สหรัฐอเมริกา เป็นพี่ใหญ่ โดยกลุ่มนี้สนับสนุนการรบให้กับ เวียดนามใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ แดนลุงแซมแอบให้การสนับสนุนแบบลับ ๆ มานาน ทว่าด้วยสถานการณ์ที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรง ในที่สุด พวกเขาก็ตัดสินใจเข้าร่วมวงไพบูลย์ด้วยตัวเอง

ขณะที่อีกฝั่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ นำโดย จีน และ สหภาพโซเวียต รวมถึง เกาหลีเหนือ, เชโกสโลวาเกีย และ คิวบา เป็นผู้สนับสนุนให้กับฝั่ง เวียดนามเหนือ ที่มีผู้นำอย่าง โฮจิมินห์ นั่นเอง

 

จากการแบ่งฝ่ายดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่านี่คือศึกใหญ่ที่ต่างฝ่ายก็ต้องแสดงแสนยานุภาพของตัวเองออกมา โดยเฉพาะอเมริกาที่เป็นพี่ใหญ่ของฝั่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการกำลังทหารเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการประกาศ “เกณฑ์ทหาร” เพื่อเสริมกำลังให้กับกองทัพ 

แน่นอนว่า ณ เวลานั้น อเมริกันชนส่วนใหญ่มีความเป็นชาตินิยมสูงส่ง พวกเขาเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้อย่างเต็มตัวหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 และการไปสู้ตามคำโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็น “การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” แต่ถ้าให้ต้องไปออกรบในสงครามจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าใครก็ไม่อยากจะได้รับสิทธิ์นั้น เพราะมันคือสนามรบจริง เจ็บจริง และตายจริง 


Photo : We Are Mighty

ดังนั้นการเกณฑ์ทหารจึงเป็นเรื่องที่กองทัพสหรัฐฯ ต้องทำเพื่อให้ได้กำลังพลตามที่ต้องการ ซึ่งตามหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แดนลุงแซมมีการเรียกเกณฑ์ทหาร 5 ครั้ง อันเป็นช่วงเวลาสงครามทั้งสิ้น ประกอบด้วย สงครามปลดแอกจากอังกฤษ , สงครามกลางเมือง, สงครามโลกครั้งที่ 1, สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ได้แก่ สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม

ไม่มีชายหนุ่มคนใดได้รับการยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นยาจกหรือแชมป์โลก ทุกคนจะต้องเข้ารับการทดสอบของกองทัพ เพื่อทำให้แน่ใจว่าคน ๆ นั้นจะมีคุณสมบัติดีพอสำหรับการเป็นแนวรบแถวหน้าที่จะเดินทางไปรบยังประเทศเวียดนาม

 

แคสเซียส เคลย์ ก็เช่นกัน ณ เวลานั้น เขาเริ่มจะถูกพูดถึงในสังเวียนมวยโลก หลังจากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในปี 1960 ก่อนที่จะได้กลายเป็นแชมป์โลกครั้งแรกในการเอาชนะ ซอนนี่ ลิสตัน ตอนนั้นใคร ๆ ต่างก็คิดว่า นี่คือการถือกำเนิดตำนานบทใหม่ของโลกหมัดมวยโดยแท้ แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้น แม้แต่ยอดนักชกอย่าง แคสเซียส ก็ไม่อาจจะเลี่ยงได้  

แคสเซียส ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินและได้รับหมายเกณฑ์ทหารในปี 1964 ซึ่งเขาก็ได้เข้ารับการทดสอบของกองทัพ เพียงแต่ว่า “ไม่ผ่านเกณฑ์” เพราะผลการสอบด้านไอคิวนั้นต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าเขาตั้งใจทำให้มันเป็นอย่างนั้น 

และจะไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม แคสเซียส โดนเรียกเข้ามาเกณฑ์ทหารอีกครั้งในปี 1967 ซึ่งหนนี้เขาไม่ต้องทดสอบอะไรอีกแล้ว เพราะทางกองทัพต้องการกำลังพลเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จึงมีการลดมาตรฐานการทดสอบลงไปโดยปริยาย นั่นหมายความว่าไอคิวที่ไม่เคยผ่านเกณฑ์ของ แคสเซียส ในรอบแรก ไม่มีประโยชน์อะไรในครั้งนี้ … เขาสอบผ่านโดยไม่ต้องเข้าสอบ และจะต้องเข้ากองทัพตามคำสั่ง


Photo : Feena 

อย่างไรก็ตาม การยืนกรานของ แคสเซียส นั้นเกิดขึ้นทันที เขาไม่เข้ารับการรายงานตัว ไม่ยอมรับสถานะที่กองทัพมอบให้ และที่สำคัญคือเขาเคยกล่าวว่า ถ้าต้องให้ไปทำสงครามที่เวียดนาม เขายอมติดคุกอยู่ที่อเมริกาเสียดีกว่า

 

“บังเอิญว่าผมยังพอมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง ผมจะไปยิงเวียดกงเพื่ออะไร ? พวกเขาไม่เคยเรียกผมว่าไอ้นิโกรด้วยซ้ำ พวกเขาไม่ได้ประชาทัณฑ์ทำร้ายผม พวกเขาไม่เคยปล่อยหมาให้มาไล่กัดผม (เปรียบเทียบกับตำรวจที่มักจะปฏิบัติกับคนผิวดำแบบรุนแรง) พวกเขาไม่ได้มาปล้นสัญชาติของผม ไม่ได้ฆ่าพ่อของผม ไมได้ข่มขืนแม่ของผม … ผมถามอีกครั้ง ผมจะยิงพวกเขาไปเพื่ออะไร ?” ที่คือส่วนหนึ่งของการแถลงจุดยืนของ แคสเซียส หลังปฏิเสธการเข้าเป็นทหารเมื่อวันที่ 28 เมษายน 1967

แม้ปากจะบอกเช่นนั้น แต่มันมีเหตุผลอื่นที่ซ่อนอยู่ภายใต้การยืนกราน สำหรับ แคสเซียส เคลย์ นั้น เขาคิดว่ามันคือเรื่องของความไม่ยุติธรรมที่เขาได้เผชิญมาตลอดชีวิตมากกว่า

ทำไมต้องเป็นเฉพาะพวกเรา ? 

ย้อนกลับไปในยุคสมัยนั้น การเหยียดผิวยังคงแพร่หลาย ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน โดนปฏิบัติจากคนขาวแบบไม่ค่อยดีนัก ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว คนผิวดำที่เข้ามาในอเมริกานั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นทาส นั่นจึงทำให้แม้เวลาจะเปลี่ยนไป และไร้ซึ่งระบบนาย-ทาส แต่ดูเหมือนว่าการเหยียดยังคงไม่หมดไปจากสังคมอเมริกันง่าย ๆ 


Photo : Medium

 

แคสเซียส พูดเสมอว่า เหตุผลที่เขาไม่เข้าไปอยู่ในกองทัพ หรือยอมเป็นทหารเพื่อไปรบที่เวียดนามนั้น เกิดจากปัญหาสั่งสมที่เขารับมาอย่างยาวนาน เขาโดนกีดกันมาก็เยอะ เหยียดผิวก็ไม่น้อย ซ้ำยังได้เห็นการกดขี่ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ตลอดมา

เรื่องนี้สามารถนำมาโยงเข้ากับสงครามได้หรือไม่ ? ลองไปดูตัวเลขนี้แล้วคุณจะเข้าใจว่า “มันอาจจะเป็นเหตุผลที่น่าฟังจาก แคสเซียส” เนื่องจากมีการสำรวจกันว่า ชาวอเมริกันผิวดำมีแนวโน้มที่จะถูกเกณฑ์ทหารมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ 41% ของกำลังรบในกองทัพสหรัฐฯ ช่วงสงครามเวียดนามนั้น เป็นคนผิวดำ ทั้ง ๆ ที่ คนผิวดำในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของประชากรในประเทศทั้งหมดก็ตาม แค่นี้ก็มากพอแล้วสำหรับ แคสเซียส ที่เขาจะมองว่ารัฐปฏิบัติกับคนดำอย่างกดขี่ แต่เมื่อถึงเวลาต้องใช้งาน พวกเขาก็เอาคนดำไปตายดาบหน้า ราวกับได้ตั๋วเที่ยวเดียว … นั่นคือ “การไปไม่กลับ” นั่นเอง 

นั่นคือเหตุผลในแง่มุมของคนผิวดำ แคสเซียส เดินหน้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการกดขี่คนผิวดำ เพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่า “เสรีภาพ” ที่แท้จริงเป็นเช่นไร 

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสำคัญอีก 1 ประการ เพราะเมื่อปี 1961 เจ้าตัวเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม พร้อมเปลี่ยนชื่อตามหลักศาสนาว่า มูฮัมหมัด อาลี (จากนี้ไปขอแทนชื่อเขาว่า อาลี) เขายิ่งไม่เชื่อว่าสงครามคือสิ่งที่ถูกต้อง มันคือความผิดพลาดที่ไม่สมควรเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ และต่อให้เสียเลือดเสียเนื้อแค่ไหน คนผิวดำก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ กลับมา นอกจากการเป็นเพียงเบี้ยให้กับพวกใส่สูทในสภา รวมถึงพวกใส่ชุดอ่อนประดับยศเต็มอกใช้งานเท่านั้นเอง


Photo : Medium

 

การ Call Out ของ อาลี สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะคล้อยตามการเรียกร้องของ อาลี การกระทำของเขาถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เป็นการยุยงปลุกปั่นและต่อต้านอำนาจรัฐ อาลี ถูกดำเนินคดีทางอาญา อันนำมาซึ่งการโดนริบตำหน่งแชมป์โลกและยึดใบอนุญาตขึ้นชกมวย อีกทั้งยังโดนศาลตัดสินจำคุก 5 ปี และปรับเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ อีกด้วย

ที่สุดแล้วการโดนโทษทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ใช่เส้นทางที่บีบให้ อาลี ยอมแพ้ เขาขึ้นสู้คดีบนชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ไม่ใช่ตามที่หลายคนกล่าวอ้างว่าเขาเป็นพวกกบฏต่อชาติ

ผู้มาก่อนกาล

อาลี เริ่มสู้คดีดังกล่าวต่อไปอย่างไม่ยอมแพ้ ซึ่งการโดนตัดสินเช่นนั้นนำมาซึ่งการลุกฮือของคนผิวดำและชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เรื่องดังกล่าวถึงขั้นมีการจัดประชุมที่ชื่อว่า Ali Summit โดยมีนักกีฬาและกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมถกปัญหากันว่า “อาลี ผิดหรือไม่ ที่ไม่ยอมเข้ารับการเกณฑ์ทหาร”


Photo : Basketball Nation 

การสู้คดีดำเนินต่อไป จนกระทั่งในปี 1971 ที่เขาได้รับการตัดสินว่า มีคุณสมบัติสองข้อ ที่ทำให้เขาไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร นั่นคือการมีสำนึกต่อต้านสงครามทุกรูปแบบ และการแสดงความต่อต้านระบบนั้น เกิดขึ้นจากฐานของความเพียรและความเชื่อทางศาสนา โดยรวม ๆ ทั้งหมดหมายความว่า อาลี มีสิทธิ์ชอบธรรมที่จะปฏิเสธการเข้าสู่กองทัพได้ในท้ายที่สุด 

แม้นั่นจะเป็นการประกาศชัยชนะที่เขาภาคภูมิใจ แต่มันยังไม่ใช่การเอาชนะที่ยิ่งใหญ่และแท้จริงของเขา เมื่อเวลาผ่านไปจนเข้าสู่ยุค 70s สหรัฐอเมริกาเสียกำลังรบในเวียดนามไปมากมาย คนหนุ่มหลายคนไม่ได้กลับมาบ้านหาครอบครัว แต่ทางกองทัพก็ยังเกณฑ์คนเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในสังคม … ชาวอเมริกันเริ่มไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศตัวเองเข้าไปยุ่งในสงครามเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการรณรงค์และเรียกร้องยุติสงครามเกิดขึ้นในแทบทุกหัวเมือง โดยเฉพาะที่ วอชิงตัน ดีซี และ ซานฟรานซิสโก นั้น มีผู้ประท้วงและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ยังยืนกรานสู้รบในสงครามเป็นจำนวนมากกว่า 2 แสนคนเลยทีเดียว เหตุผลดังกล่าวทำให้รัฐบาลของ ริชาร์ด นิกสัน ได้ประกาศยืนยันว่าจะยุติสงครามเวียดนามให้เร็วที่สุด รวมถึงประกาศอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ นั่นคือการยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปี 1973 เปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจในการเข้ากองทัพจนถึงปัจจุบัน

ไม่ใช่แค่เหตุผลจากเสียงต่อต้านของประชาชนเท่านั้น สหรัฐอเมริกาถูกกดดันจากหลาย ๆ ทาง และพวกเขาก็เสียเปรียบในการรบจนมีผู้เสียชีวิตในการรบมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลุ่มทหารที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ คิดเป็นทหารอเมริกันผิวดำมากกว่า 7,000 คน หรือ 12.4% ของผู้เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม 


Photo : Medium

ตัวเลขและสถิติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของ อาลี เมื่อหลายปีก่อน ที่ว่าด้วยการเอาคนผิวดำไปเสียชีวิต ที่สุดแล้ว สหรัฐอเมริกาก็ต้องถอนทัพในฐานะผู้แพ้สงครามเวียดนามเมื่อปี 1975 และจากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้เกิดเสรีชน หรือคนที่มีอิสระ มีสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออก เหมือนกับที่อาลีค้านชนฝา และพร้อมจ่ายทุกราคาสำหรับเสรีภาพของเขาเมื่อครั้งอดีต 

“มูฮัมหมัด อาลี นั้นเป็นคนที่มีบางอย่างที่หาไม่ได้จากไหน ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อน เขาเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็น ความศรัทธาที่มั่นคงจิตใจที่แข็งแกร่งและจริงใจ เขาคือคนที่มีทุกสิ่งเพียบพร้อมเหนือใคร ๆ สำหรับผม อาลี นับเป็นเสรีชนคนแรกในอเมริกา” บิล รัสเซลล์ ตำนานนักบาสเกตบอล NBA ผู้เข้าประชุมใน Ali Summit ว่าไว้เช่นนั้น 

ซึ่งมันคงไม่ผิดนัก เพราะนับตั้งแต่เขาเปิดตัวในวงการมวย อาลี ไม่ได้แค่เคลื่อนไหวอย่างโดดเด่นในเวทีเท่านั้น สิ่งต่าง ๆ ที่เขาแสดงออก กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้เสมอ … 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ