เฮลมุต คลอปไฟลทช์ : แฟนแฮร์ธาผิดฝั่งกำแพงเบอร์ลินที่ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ

Home » เฮลมุต คลอปไฟลทช์ : แฟนแฮร์ธาผิดฝั่งกำแพงเบอร์ลินที่ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ



เฮลมุต คลอปไฟลทช์ : แฟนแฮร์ธาผิดฝั่งกำแพงเบอร์ลินที่ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ

เขาเกิดในเบอร์ลินตะวันออกในช่วงที่เยอรมันถูกแยกเป็นสอง แต่เป็นแฟนแฮร์ธา เบอร์ลิน ที่อยู่ฝั่งตะวันตก รักทุนนิยมประชาธิปไตยและเกลียดเผด็จการคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ดี ความรักที่มีต่อแฮร์ธา กลับทำให้เขาถูกกลั่นแกล้งจากรัฐ ทั้งถูกจับ สั่งขัง ไปจนถึงตั้งข้อหาร้ายแรง เพียงเพราะว่าเขาเกิดผิดฝั่งของกำแพงเบอร์ลิน  

พบกับเรื่องราวการต่อสู้อันยาวนานของ เฮลมุต คลอปไฟลทช์ ที่กำแพงก็กักขังอุดมการณ์ของเขาไม่ได้

แฟนแฮร์ธาที่อยู่ผิดฝั่ง  

สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นสงครามยุคใหม่ที่สร้างความเสียหายมากที่สุด เมื่อศึกครั้งนั้น มีคนต้องสังเวยชีวิตไปถึง 40 ล้านคน พร้อมทั้งเกิดผลกระทบมากมายหลังสงคราม โดยเฉพาะการถูกแบ่งแยกประเทศ 

เยอรมัน ซึ่งเป็นผู้แพ้สงคราม เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญสถานการณ์ดังกล่าว ในปี 1945 พวกเขาถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน โดยสามส่วนที่ควบคุมโดยอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา ถูกเรียกว่าเยอรมันตะวันตก และใช้การปกครองแบบประชาธิปไตย ด้านอีกส่วนที่ควบคุมโดยสหภาพโซเวียตถูกเรียกว่าเยอรมันตะวันออก และปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ 

ในขณะที่กรุงเบอร์ลิน แม้จะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก แต่อีกสามประเทศก็มีสิทธิ์เช่นกัน  ทำให้เมืองหลวงของเยอรมันต้องถูกแยกเป็นสองส่วน โดยฝั่งตะวันตกดูแลโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และฝั่งตะวันออกดูแลโซเวียต 


Photo : thelibrarydoor.me

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง แต่ในช่วงแรกผู้คนยังสามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างอิสระ เช่นกันสำหรับการแข่งขันฟุตบอล ที่ถูกมองว่าเป็นกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ ทำให้พวกเขามักมีเกมกระชับมิตรระหว่างสโมสรของทั้งสองฝั่งอยู่เป็นประจำ รวมถึงมีนักฟุตบอลจำนวนมากที่พักอยู่ด้านหนึ่ง แต่ไปค้าแข้งอีกด้านหนึ่ง 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้การที่สโมสรจากฝั่งตะวันตก มีแฟนบอลอยู่ทางฝั่งตะวันออก จึงไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะแฮร์ธา เบอร์ลิน ทีมขวัญใจชาวเมืองหลวง ซึ่งมีแฟนบอลจากเยอรมันตะวันออกจำนวนไม่น้อยที่ข้ามฝั่งมาเชียร์ทางตะวันตกเป็นประจำทุกสัปดาห์ 

หนึ่งในนั้นคือ เฮลมุต คลอปไฟลทช์ เขาเกิดที่เบอร์ลินตะวันออกในปี 1948 หรือ 3 ปีหลังสงคราม แต่กลับตกหลุมรักแฮร์ธา ที่อยู่ฝั่งตะวันตก จนหัวปักหัวปำ หลังพ่อพาไปชมเกมในสนามตอนอายุ 6 ขวบ 

อันที่จริงเขาไม่ได้แค่มีทีมรักอยู่ฝั่งตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นคนที่ต่อต้านระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ หรือที่จริงมันคือเผด็จการคอมมิวนิสต์ แบบหัวชนฝา หลังได้รับอิทธิพลจากปู่ ที่เคยปฏิเสธไม่ยอมติดธงนาซี แม้จะถูกจับไปอยู่ในค่ายกักกันก็ตาม 


Photo : footballmakeshistory.eu

 

“เด็กมีความซื่อตรงมากกว่าผู้ใหญ่ ที่โรงเรียนผมจะได้ยินว่า ‘พวกทุนนิยมจะมายิงเราทั้งหมด’ เรารู้เลยตั้งแต่เด็กว่ามันไร้สาระมาก” เฮลมุตกล่าวกับ Financial Times 

สิ่งเหล่านี้ทำให้หัวใจของ เฮลมุต อยู่อีกฝั่งหนึ่งอย่างชัดเจน เขาชอบฟังวิทยุของฝั่งตะวันตก และไม่เคยปิดบังว่าตัวเองเป็นแฟนของแฮร์ธา เขามักจะเดินทางไปเชียร์สโมสร ถึงสนาม Stadion am Gesundbrunnen ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสองฝั่ง เป็นประจำทุกสัปดาห์ 

“สำหรับผมการรายงานข่าวกีฬาของตะวันออกทั้งหมดเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ทุกอย่างมันถูกบิดไปหมด” เขากล่าวกับ De Tagesspiegel

แต่เขาทำแบบนั้นได้ถึงปี 1961 เท่านั้น

กำแพงพรากทีมรัก 

การอนุญาตให้ไปมาหาสู่กันได้อย่างอิสระ อาจจะทำให้ชาวเบอร์ลินไม่รู้สึกแบ่งแยกในช่วงแรกก็จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป การปกครองแบบประชาธิปไตยของฝั่งตะวันตก และการปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ของตะวันออก ก็เริ่มทำให้ผู้คนเห็นความแตกต่างมากขึ้น 

เมื่อในขณะที่ฝั่งตะวันตกเดินหน้าฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือนที่พังเสียหายจากสงคราม แต่ฝั่งตะวันออกกลับแทบไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้บ้านเรือนทรุดโทรมเสียหาย ในขณะที่ธุรกิจก็เปลี่ยนมาเป็นของรัฐ และปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างแร้นแค้น  


Photo : www.mrallsophistory.com

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมาก ที่อพยพไปอยู่ในฝั่งตะวันตก ซึ่งคาดว่าไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน แน่นอนว่าเหตุผลส่วนใหญ่คือไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าข้างหน้า  

เยอรมันตะวันออก ภายใต้การควบคุมของโซเวียต กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์สมองไหล แรงงานฝีมือดีจะย้ายไปอยู่ทางตะวันตกกันหมด ทำให้พวกเขาประกาศปิดพรมแดนเป็นการถาวร และได้สร้าง “กำแพงเบอร์ลิน” ขึ้นมาในวันที่ 13 สิงหาคม 1961 โดยเริ่มจากรั้วลวดหนาม แล้วค่อยเสริมความแน่นหนาจนกลายเป็นกำแพงคอนกรีต

 

กำแพงเบอร์ลิน ไม่เพียงแบ่งแยกผู้คนจากทั้งสองฝั่งให้แยกออกจากกันอย่างเป็นทางการ แต่มันยังพรากโอกาสในการไปชมเกมแฮร์ธาถึงสนามของ เฮลมุต อีกด้วย เมื่อการข้ามพรมแดนไปอีกฝั่งกลายเป็นเรื่องต้องห้าม

อย่างไรก็ดี มันไม่ได้ทำให้เขาในวัย 13 ปีย่อท้อ ในช่วงแรก เฮลมุต เลือกที่จะใช้วิธี “ไม่เห็นหน้า เห็นหลังคาก็ยังดี” ด้วยการไปยืนฟังเสียงบรรยากาศของสนาม Stadion am Gesundbrunnen ที่ตั้งอยู่ห่างจากกำแพงเบอร์ลินเพียงไม่กี่เมตร และส่งเสียงเชียร์ไปพร้อมกับคนในสนาม 

“ในช่วงวันแรก ๆ เราไปยืนหลบอยู่ข้างรั้ว ตอนนั้นเรายังมองเห็นสนามอยู่” เฮลมุตกล่าวกับ Independent 

“เราน่าจะมีกันอยู่ราว 60 คน เรามีวิทยุเล็ก ๆ ทำให้เราสามารถฟังเกมได้ พวกเขาจะบอกสกอร์ แต่ไม่จำเป็นสำหรับเรา เพราะเรารู้จากเสียงเชียร์ที่ได้ยิน” 


Photo : www.herthabsc.de

 

ทว่า เขาก็ทำแบบนั้นได้ไม่นาน เพราะการไปยืนอยู่ใกล้กำแพง อาจทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยที่จะหลบหนีไปอีกฝั่ง แถมในปี 1963 แฮร์ธา ยังได้ย้ายรังหย้าไปอยู่ที่สนาม โอลิมปิก สเตดียม ซึ่งอยู่ห่างจากกำแพงเบอร์ลินออกไปไกลถึง 12 กิโลเมตร 

“ตอนที่กำแพงกลายเป็นกำแพงจริง ๆ เรามองไม่เห็นสนามอีกแล้ว และตำรวจก็ไม่ยอมให้เราไปที่นั่น” เฮลมุตกล่าวต่อ 

แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความรักของเขาที่มีต่อแฮร์ธา ลดลงแม้แต่น้อย เมื่อหลังจากนั้นเขายังคงติดตามข่าวคราวของทีมอยู่เสมอ รวมถึงเขียนจดหมายไปหาสโมสรอยู่เป็นประจำ 

“หลังจากย้ายสนามแล้ว ผมยังติดต่อกับสโมสรทางจดหมาย พวกเขาเขียนตอบกลับมา และบอกผมว่าเกิดอะไรขึ้น” เฮลมุตกล่าวกับ Indeprendent 

เฮลมุต ยังเชียร์ แฮร์ธา จากอีกฝั่งหนึ่งของกำแพงอย่างไม่ลดละ จนอายุล่วงเลยจนถึงวัยผู้ใหญ่ ที่เขามีงานและเงินเป็นของตัวเอง ทำให้เขาตัดสินใจที่จะใช้วิธีที่กล้าและบ้าบิ่น นั่นคือการขับรถไปดูการแข่งขันของแฮร์ธา ตอนออกไปเล่นเกมเยือนในถ้วยสโมสรยุโรป 

วิธีการของเขาคือขับรถกันไปทั้งครอบครัว และพาญาติไปด้วย เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย และไม่เคยบอกจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเดินทางไปต่างประเทศ ในขณะที่อุปกรณ์เชียร์ เขาเอาไว้หลังรถ โดยเอาผ้าชโลมน้ำมันห่อเอาไว้ ทำให้พอถึงด่านตรวจ แม้จะตรวจเข้มแค่ไหน ก็ผ่านไปได้ทุกครั้ง 

“พวกเขาไม่อยากให้มือสกปรกหรอก” เฮลมุตอธิบายกับ De Tagesspiegel

เขาใช้วิธีนี้แบบเดิมซ้ำ ๆ มาตลอดและไม่ใช่กับเกมของแฮร์ธา เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเกมของทีมชาติเยอรมันตะวันตก ที่เขาเป็นแฟนมาตั้งแต่ปี 1954 หลังเห็นผลงานในฟุตบอลโลก 1954 รอบสุดท้ายที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่จบลงด้วยการคว้าแชมป์โลกสมัยแรก

“สำหรับผมทีมชาติเยอรมันมีทีมเดียว นั่นคือของฝั่งตะวันตก” เขาอธิบายกับ De Tagesspiegel

นอกจากนี้ เขายังได้ก่อตั้งกลุ่มแฟนคลับแฮร์ธา เบอร์ลิน ในเยอรมันตะวันออกที่ชื่อว่า “Herts” พร้อมเป็นผู้สนับสนุนหลักบริจาคเงินให้กลุ่มอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็ยังสั่งนิตยสารจากฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะ Kicker และ Fußball-Woche มาอ่านกันเป็นประจำ  


Photo : www.herthabsc.de

“ผมก่อตั้งกลุ่มแฟนคลับในเบอร์ลินตะวันออก เราเจอกันลับ ๆ ในบาร์ และเอาจดหมายไปให้ในกลุ่มอ่าน” เฮลมุตกล่าวกับ Indepenent

ความทุ่มเทและความจงรักภักดีของ เฮลมุต ดังไปไกลถึงฝั่งตะวันตก ทำให้ตอนที่เขาไปเชียร์แฮร์ธา หรือเยอรมันตะวันตก เขามักจะได้เข้าพบ นักเตะและสต๊าฟของทีมอยู่เสมอ จนสนิทกัน ที่ทำให้บางคนมาหาเขาถึงบ้าน หรือถึงขั้นมาร่วมงานปาร์ตีคริสมาสต์ 

ครั้งหนึ่ง ฟริตซ์ เชอร์เรอ ประธานสโมสรบาเยิร์น มิวนิค เคยมาหาเขาที่แฟลต พร้อมเอาเสื้อของ คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก กองหน้าดาวดังของทีม มาให้ หลังนักเตะเคยไปให้สัญญากับเขาเอาไว้ โดยนำมันซ่อนไว้ในฮู้ด ตอนผ่านพรมแดนเข้ามา 

ทุกคนดูเหมือนจะแฮปปี้กับความทุ่มเทของเขา ยกเว้นเพียงแค่รัฐบาลเยอรมันตะวันออก

ชะตากรรมของผู้ต่อต้าน 

แม้ว่า เฮลมุต จะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของแฮร์ธา หรือนิยมชมชอบในฟุตบอลของเยอรมันตะวันตกมากแค่ไหน แต่ความเป็นจริง เขายังอาศัยอยู่ในฝั่งของตะวันออก ซึ่งการกระทำแบบนี้ทำให้ทางการไม่พอใจ 

พฤติกรรมของเขา ถูกจับตามองเป็นพิเศษจาก สตาซี หรือตำรวจลับของรัฐบาลเยอรมันตะวันออก ที่มองว่าเขาเป็นภัยต่อความมั่นคง เนื่องจากฝักใฝ่ในฟุตบอลของทุนนิยม และต่อต้านระบอบ (เผด็จการ) คอมมิวนิสต์


Photo : bundesligafan.com

“ความประพฤติของเขาในเกมระหว่างเกมกับบัลแกเรียและเยอรมันตะวันตก ได้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงระดับชาติของเยอรมันตะวันออก” ข้อมูลของตำรวจลับที่พูดถึงเขา 

มันจึงทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายในการเล่นงานจากรัฐ และเริ่มถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อขัดขวางไม่ให้เขาออกไปเชียร์สโมสรหรือทีมชาติของฝั่งตะวันตก เขาโดนตั้งแต่ยึดหนังสือเดินทาง สั่งขัง หรือแม้กระทั่งโดนตั้งข้อหาร้ายแรงที่ชื่อว่า “PM-12” 

“มันเหมือนกับผู้กระทำผิดทางเพศหรือคดีร้ายแรงอื่น ๆ” เฮลมุตกล่าวกับ De Tagesspiegel

หลังจากนั้น เฮลมุต ต้องเข้าออกตารางเป็นว่าเล่น เพราะเหตุผลเพียงแค่ เขาเป็นแฟนบอลคนหนึ่งที่เชียร์สโมสรและทีมชาติที่อยู่อีกฝั่งของกำแพง เพราะสำหรับรัฐบาลเผด็จการ เขาคือคนที่ต้องกดเอาไว้ 

แต่เขาก็ไม่เคยยอมแพ้ เฮลมุต ไม่เคยปิดบังถึงความชอบและอุดมการณ์ของตัวเอง และยังคงเชียร์แฮร์ธา และเยอรมันตะวันตกต่อไป แม้จะทำให้เขาต้องติกคุกซ้ำ ๆ ด้วยข้อหาที่ไม่สมเหตุผล ยกตัวอย่างเช่นในปี 1986 เขาถูกจับเพียงเพราะ ส่งโทรเลขอวยพรให้ทีมชาติเยอรมันตะวันตกให้โชคดีในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่เม็กซิโก 

และไม่ใช่แค่ เฮลมุต ที่ถูกเล่นงานเท่านั้น ราล์ฟ ลูกชายของเขาก็พลอยต้องติดร่างแหเช่นกัน เขาเป็นคนเรียนเก่ง แต่มันไม่พอหากอยู่ในครอบครัวที่เห็นต่าง ครั้งหนึ่งครูเคยเขียนโน้ตเกี่ยวกับลูกชายมาหาเขาว่า “ต้องปรับทัศนคติเพื่อประโยชน์ของชนชั้นแรงงานและชาวนา” 

“ตราบใดที่ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับผม ผมก็รับได้” เฮลมุตกล่าวอย่างเจ็บปวด 


Photo : www.herthabsc.de

การเป็นครอบครัวที่ไม่สยบยอมต่อเผด็จการคอมมิวนิสต์ ยังทำให้ ราล์ฟ ถูกกลั่นแกล้งจนความฝันในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพต้องจบลง เมื่อตอนที่เขาไปฝึกทหาร แล้วได้รับบาดเจ็บเอ็นฉีก หมอกลับปฏิเสธที่จะรักษาเขาอย่างถูกต้อง

เฮลมุต และครอบครัว ต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งของรัฐแบบนี้ซ้ำ ๆ และมันก็ยิ่งหนักขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมายมาขู่ว่าจะเอาเข้าเรือนจำ หรือประกาศว่าเขาเป็นศัตรูของรัฐบาล จนทำให้เขาถูกไล่ออกจากงานช่างไฟฟ้า และหางานทำไม่ได้ ก่อนสุดท้ายจะลงเอยด้วยงานทำความสะอาดห้องน้ำ  

แน่นอนว่าความอดทนของคนเราก็มีขีดจำกัด การถูกกระทำซ้ำ ๆ ทำให้เขามองไม่เห็นอนาคตในเยอรมันตะวันออกอีกแล้ว จึงได้ทำเรื่องขอลี้ภัยไปอยู่ฝั่งตะวันตก เพื่อชีวิตที่ดีกว่า 

อย่างไรก็ดี แม้แต่คำขอลี้ภัยก็ยังเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งจากรัฐ เพราะไม่ว่ายื่นคำร้องไปกี่ครั้ง มันก็ถูกปฏิเสธแทบทุกครั้ง หรือแม้แต่ตอนที่ได้รับการตอบรับ ก็ยังเป็นวันที่แม่เขากำลังจะเสียชีวิต ที่แม้ว่าเขาจะขอเวลาอยู่ดูใจแม่อีกไม่กี่ชั่วโมง ก็ไม่เป็นผล 


Photo : www.herthabsc.de

“พวกเขาบอกว่าพวกเขารู้ว่าไม่กี่ชั่วโมง แต่จะไปวันนี้ หรือจะไม่ได้ไปอีกเลย” เฮลมุตย้อนความหลัง

สุดท้าย เขาต้องออกไปจากเยอรมันตะวันออก โดยปล่อยให้แม่เสียชีวิตลงตามลำพัง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงหลังเขาออกมา แถมตัวเขายังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาร่วมพิธีศพของแม่อีกด้วย ที่ทำให้เขารู้สึกเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้    

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าเขาเป็นแฟน แฮร์ธา และชื่นชอบในฟุตบอลของเยอรมันตะวันตก มันอาจจะไม่ได้มาถึงจุดนี้ หากเขาแสร้งชื่นชมในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ แต่แน่นอนเขาทำไม่ได้และไม่เคยคิดจะทำ 

ตลกร้ายที่ 6 เดือน หลัง เฮลมุต ลี้ภัยสำเร็จ กำแพงเบอร์ลิน ก็ถึงคราวต้องล่มสลาย

28 ปีที่รอคอย 

“สำหรับผม เบอร์ลินมีเพียงหนึ่งเดียวเสมอ ก็เหมือนกับเยอรมันนั่นแหละ” เฮลมุตกล่าวกับ De Tagesspiegel


Photo : www.independent.com.mt

หลังเป็นกำแพงที่ขวางกั้นเยอรมันมาเกือบ 3 ทศวรรษ 9 พฤศจิกายน 1989 กำแพงเบอร์ลินก็พังทลาย จากน้ำมือผู้คนนับพันจากทุกสารทิศที่แห่กันไปทำลาย หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออก

และมันก็เป็นจุดสิ้นสุดของการแบ่งแยก ที่ทำให้ เยอรมันทั้งสองประเทศกลับมารวมเป็นหนึ่งในชื่อสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เช่นเดียวกับกรุงเบอร์ลิน ที่ไม่มีตะวันตกหรือตะวันออกอีกต่อไป 

การพังทลายของกำแพง ยังทำให้ แฟนบอลแฮร์ธา ในเยอรมันตะวันออกได้มีโอกาสเข้าไปเชียร์ทีมรักถึงสนามเป็นครั้งแรกในรอบในรอบ 28 ปี จนทำให้เกมระหว่าง แฮร์ธา กับ SG Wattenscheid มีผู้ชมถึง 44,200 คน ทั้งที่เกมก่อนหน้านั้นอยู่ในหลัก 5,300 คนเท่านั้น 


Photo : www.herthabsc.de

“บรรยากาศในสนามวันนั้นเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ แฮร์ธา อยู่อันดับ 2 ของลีก และกำลังต่อสู้เพื่อการเลื่อนชั้น เราขายตั๋วไปทั้งหมด 44,000 ใบ แต่สโมสรยังมีอีก 15,000 ใบ เป็นของขวัญสำหรับคนในเบอร์ลินตะวันออก และมันก็เต็มในทันที” วอลเตอร์ จุงฮาน ผู้รักษาประตูของแฮร์ธา ที่อยู่ในสนามในวันนั้นกล่าวกับ Independent 

แน่นอนว่า เฮลมุต ก็เป็นหนึ่งในสักขีพยานในเกมนั้น มันเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่เขาสามารถดูเกมของแฮร์ธาได้อย่างสบายใจ และไม่จำเป็นต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ อีกแล้ว

“มันเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมากที่ได้นั่งดูเกมในโอลิมปิก สเตเดียม เป็นครั้งแรก” เฮลมุตกล่าวกับเว็บไซต์ www.herthabsc.de 


Photo : www.independent.com.mt


Photo : www.herthabsc.de

ปัจจุบัน เฮลมุต ใช้ชีวิตอย่างสงบที่เยอรมัน และยังคงตามไปเชียร์การแข่งขันของแฮร์ธาทุกนัด เขายังได้รับการเสนอชื่อเป็นแฟนบอลกิตติมศักดิ์ของแฮร์ธา รวมถึงได้รับการยกย่องจากผู้คนในวงการฟุตบอลเยอรมันจากการต่อสู้ของเขา 

ดังนั้น การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน จึงไม่ใช่แค่หมุดหมายของการรวมกันเป็นหนึ่งระหว่างสองเยอรมันเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดสำหรับการต่อสู้กับความเจ็บปวด อันยาวนานตลอด 28 ปีของเฮลมุตอีกด้วย 

และที่สำคัญมันเป็นเครื่องยืนยันว่าจะไม่มีใครต้องมาถูกเล่นงาน เพียงเพราะเห็นต่างอีกแล้ว 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ