“เอิร์ธ” ลั่น ปชป. มีสวัสดิการเรียนฟรี นมฟรี 365 วัน พร้อมสวัสดิการที่บ้านให้เด็กที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ขณะที่ “วิว” หนุนมีสถานเลี้ยงเด็กในบริษัท-โรงงาน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 มี.ค.2566 ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนทีวี และมติชนสุดสัปดาห์ จับมืออีก 5 พันธมิตร ได้แก่ ทีดีอาร์ไอ, สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, MFEC และศูนย์ข้อมูลมติชน เปิด “5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์”
โดยในเวทีที่ 3 “ฟังเสียง New gen บทใหม่ประเทศไทย” บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่ จาก 9 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชัน
ในรอบที่สอง ช่วง ‘เดอะแบทเทิล’ นายพงศกร ขวัญเมือง (เอิร์ธ) ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.คลองเตยและวัฒนา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้คำถาม การมีส่วนร่วมบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่มีนโยบายอย่างไรบ้างในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ตั้งเเต่การศึกษา และสาธารณสุขอย่างไรให้เด็กและเยาวชน ว่า เรื่องการศึกษา ส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องและกระทบจิตใจมาตลอด คือ 1.ตนเรียนในโรงเรียนรัฐ 2. เรียนในโรงเรียนทหาร และ3.เรียนในมหาวิทยาลัยเปิดในต่างประเทศ
ทั้งหมดทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตั้งแต่โรงเรียนต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ และในพื้นที่เขตเลือกตั้งของตนคือเขตคลองเตย วัฒนา เป็นภาพที่เห็นได้ชัดว่าหลายครั้งไม่ใช่แค่การเข้าห้องเรียน แต่การมีสัวสดิการให้เขาได้เรียนดี ดังนั้นสิ่งที่ปชป. พยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น คือการมีสวัสดิการการศึกษาตั้งแต่เด็กจนโต ทั้งเรื่องโครงการเรียนฟรี 15 ปี ที่พรรคฯทำไว้ เราต้องการจะขยายให้เรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี
นายพงศกร กล่าวต่อว่า ในส่วนของเงินที่ใช้จับจ่ายใช้สอยประจำวัน ไม่ใช่ว่าเรียนไม่มีค่าเทอมอย่างเดียวไม่เพียงพอ เด็กๆ บางครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ตรงนี้เราต้องการที่จะขยายเรื่อง กยศ.ให้สามารถกู้ยืมได้จาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท เพื่อที่จะสามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยได้
อีกส่วนคือเด็กโรงเรียนธรรมดา เด็กเล็กจนถึงเด็กโต บางครั้งในโรงเรียนที่มีฐานะดี เรื่องอาหารเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่โรงเรียนในเขตเลือกตั้งของตน โดยเฉพาะในชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก ถ้าเรียนโรงเรียนกทม. กินข้างฟรี จนถึงม.3 เรียนโรงเรียน สปฐ. กินข้าวฟรีถึงป.6
ซึ่งจะเห็นว่าโรงเรียนในกทม.ยังแตกต่างกันเลย ดังนั้นเราต้องการมีสวัสดิการอาหารให้เด็กนักเรียนตั้งแต่เด็กจนจบม.6 ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำเพียงแค่อยู่ท้องถิ่นกับ สพฐ. ดังนั้นตรงนี้ต้องเท่าเทียมกันในเรื่องสวัสดิารอาหาร ส่วนสวัสดิการนม บางคนบอกว่านมไม่สำคัญ แต่โรงเรียนในชุมชนในช่วงปิดเทิมเด็กอยากไปโรงเรียน เพราะไม่มีเงินที่จะจ่ายค่านม หรืออาหาร ดังนั้น ปชป.ต้องการที่จะขยายเรื่องของนมฟรี 365 วันให้เด็กมีสวัสดิการตรงนี้
นายพงศกร กล่าวด้วยว่า อีกส่วนคือสวัสดิการที่บ้าน เด็กบางคนต้องทำงานเพื่อที่จะช่วยพ่อ แม่ ตอนนี้บำนาญผู้สูงอายุ ทุกพรรคการเมืองพูดกันไปถึงขั้นต่ำ 3,000 บาท แต่ใครก็พูดได้ เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็พูดกัน 1,000 บาท แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ตรงนี้ก็มีความสำคัญ และพยายามผลักดนที่จะหาตัวเลขที่เหมาะสม ที่จะสามาารถผลักดันสวัสดิการผู้สูงอายุ เพราะเกี่ยวข้องกับเด็ก ที่เด็กบางคนต้องหยุดเรียนมาดูแลพ่อ แม่ที่ป่วย ดูแลย่าที่ติดเตียง
ดังนั้นสวัสดิการตรงนี้มีความสำคัญมาก ส่วนเรื่องสาธารณสุข ตอนนี้เครือข่ายโรงพยาบาลในกทม. และต่างจังหวัด เป็นปัญหามากไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกบัตรทอง ยกเลิกสิทธิตรงนี้ เราต้องการทำให้โครงการบัตรใบเดียวรักษาทุกอย่าง ทำให้สวัสดิการโรงพยาบาลเพิ่มคนที่สามารถลงทะเบียนได้ ดังนัั้นเด็กคือสิ่งที่สำคัญ
ขณะที่ น.ส.เยาวภา บุรพลชัย (วิว) ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องของการศึกษาตั้งแต่เด็ก ในปัจจุบันพ่อ แม่ บางคนไม่สามารถที่จะเลี้ยงลูกได้ ก็เอาลูกไปฝากไว้กับสถานเลี้ยงเด็กต่างๆ จึงเห็นว่าควรที่สถานเลี้ยงเด็ก ในบริษัท หรือโรงงานต่างๆ เพื่อให้พ่อแม่ได้ใกล้ชิดลูกมากที่สุด เพราะเรื่องเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ ไปติว ไปเรียน ถึงวันหนึ่งชีวิตครอบครัวหายไปซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
สำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตรการเรียน โดยลดเวลาเรียนเพิ่มเวลากีฬา จะสร้างให้เด็กและเยาวชนมีความสุข ทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แจ่มใส อยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น สิ่งที่จะทำให้เขาโตขึ้นไปเป็นเด็ก เยาวชน เป็นอนาคต ของชาติที่มีประโยชน์