เครือข่ายรามคำแหงฯ จัดเวทีถอดรหัสผู้ว่าฯ กทม. ชี้ รธน.60 กับดักใหญ่กระจายอำนาจ หนุน ล้มรัฐราชการรวมศูนย์ จี้ เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เครือข่าย South Move on และเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยจัดงานงานเสวนาในหัวข้อ “ถอดรหัสผู้ว่าฯกทม.สู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งทุกคนจะมองเป็นเหมือนบุญคุณ ทั้งที่นั่นคือหน้าที่ของเขา จะเห็นว่าการเลือกตั้งเปลี่ยนมุมมองคน จากบุญคุณเป็นการทำหน้าที่ คำมั่นที่ให้กับประชาชน แต่ท้ายที่สุดเรามักจะถูกมายาคติหลอกลวงว่า เลือกตั้งท้องถิ่นมีโกง ซึ่งตนมองว่ายิ่งกระจายอำนาจมากเท่าไหร่ยิ่งโกงยาก วันนี้ตนคิดว่าเราต้องคิดกันใหม่เรื่องการกระจายอำนาจทั้งหมด
ด้าน นายจตุพร กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแค่การปฏิรูปคงไม่พอ เพราะคำว่าปฏิรูปคือคำหลอกลวง เอาไว้ต้มคน แต่เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยน การปกครองส่วนภูมิภาคต้องเลิกไปเสีย ให้เหลือเฉพาะส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น เราเป็นประเทศที่บ้าที่สุดที่มีทั้งนายกอบจ. และผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่กล้าที่จะให้อำนาจกับประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าเรากล้าให้อำนาจแก่ประชาชน ประชาชนจะเลือกเอง ถ้าเรากลัวว่าการเลือกตั้งจะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ทำให้การเลือกตั้งมันบริสุทธิ์ยุติธรรม ประเทศนี้กาให้กทม. แล้ว 76 จังหวัดไม่กินข้าวหรือไง
นายจตุพร กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความผูกพัน ผู้ว่าราชการที่มาจากส่วนกลาง ไม่รู้สึกผูกพันกับประชาชน ดังนั้น ตนเห็นว่าการลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชนไม่มีอยู่จริง เราต้องยอมรับว่าประเทศนี้มันเสื่อมทุกจุด ถ้าเราจะเปลี่ยนต้องกล้าเปลี่ยนทั้งระบบ ดังนั้น ตนฝากความหวังว่า อยากให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดขึ้นกับทุกจังหวัดพร้อมกัน ไม่ใช่เริ่มเพียงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง
ขณะที่ นายยุทธพร กล่าวว่า การเลือกตั้งคือความหวังของประชาชน ไม่ใช่เฉพาะในท้องถิ่น แต่รวมไปถึงการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำหนดอนาคตและชะตากรรมของพวกเขาเอง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัดถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2535 แต่ก็มีปัญหาและอุปสรรค มีคนไม่เห็นด้วยออกมาขัดขวาง รวมไปถึงการปิดกั้นกดทับจากกลไกของรัฐ ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก หรือบางครั้งที่มาในรูปแบบการประนีประนอม เช่น การแก้ไขกฎหมายอบจ. ซึ่งปัญหาการกระจายอำนาจมี 2 ประการ คือ เรื่องโครงสร้าง และเรื่องทัศนคติ
นายยุทธพร กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 คือกับดักสำคัญในการกระจายอำนาจ ถ้าจะปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กฎหมายที่ควรแก้ คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพราะกฎหมายฉบับนี้ทำให้เราไม่สามารถปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากกฎหมายกำหนดโครงสร้างรัฐของประเทศไทยให้จะต้องอยู่ในส่วนกลาง ภูมิภาค และตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ถ้าเราไม่ปลดล็อกตรงนี้ เกรงว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะเป็นการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ยกระดับขึ้นมาเท่านั้น
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่เฉพาะกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นที่ถือเป็นกฎหมายล้าหลัง และพยายามเอาปรากฏการณ์ทางการเมืองมาสร้างเป็นหลักการ เช่น การให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้แต่ห้ามช่วยหาเสียง ซึ่งดูย้อนแย้ง จะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้สร้างความเสมอภาคให้กับผู้สมัครและการเมือง แต่ไม่ได้มุ่งสร้างการแข่งขันอย่างเสรีในการเลือกตั้ง ดังนั้น การกระจายอำนาจที่ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คน มันก็เหมือนการอยู่ในกรงขัง