“เลือดออกจากช่องคลอด” ที่ไม่ใช่ประจำเดือน เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

Home » “เลือดออกจากช่องคลอด” ที่ไม่ใช่ประจำเดือน เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
“เลือดออกจากช่องคลอด” ที่ไม่ใช่ประจำเดือน เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

สำหรับคุณผู้หญิง ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอย หรือมากกว่าปกติก็คงจะตกใจไม่น้อย และอาจพาลคิดไปว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งไม่เสมอไป เพราะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดเกิดได้หลายสาเหตุ เพื่อความเข้าใจมารู้จักกับเลือดประจำเดือนปกติกันก่อน

เลือดประจำเดือนคืออะไร

รศ.นพ.พีรพงศ์ อินทศร ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า เลือดที่ออกจากช่องคลอดของคุณผู้หญิงทุกๆ   21-35 วัน ปกติจะมาครั้งละไม่เกิน 7 วัน และใช้ผ้าอนามัยวันละประมาณ 3-4 แผ่น บางคนจะเรียกเลือดนี้ว่า “เมนส์”  โดยทั่วไปเด็กผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 12-13 ปี และจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 45-55 ปี 

สาเหตุเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ    

สาเหตุเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ อาจเกิดได้หลายสาเหตุ  ได้แก่

  1. ถ้าเป็นผู้หญิงอายุน้อย มีเพศสัมพันธ์แล้ว ไม่ได้คุมกำเนิด อาจเกิดจากการตั้งครรภ์แล้วมีภาวะแทรกซ้อน เช่น แท้งบุตร
  2. ผู้หญิงบางคนอาจไปกินยาบางอย่างที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น กวาวเครือ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้
  3. ผู้หญิงในวัยที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน เช่น อายุ 13 ปี หรือวัยใกล้หมดประจำเดือน เช่น อายุ 49 ปี มักมีภาวะฮอร์โมนแปรปรวน ซึ่งเป็นสาเหตุของเลือดออกผิดปกติ
  4. ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะเครียด เช่น ใกล้สอบ นอนดึก ทะเลาะกับแฟน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีฮอร์โมนแปรปรวน ซึ่งเป็นสาเหตุของเลือดออกผิดปกติ
  5. การติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น ปากมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูก ก็สามารถทำให้เกิดแผลแล้วมีเลือดออกได้

และสาเหตุสำคัญสุดท้ายที่น่ากลัวที่สุด คือ มะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกผิดปกติในผู้หญิงที่พบได้บ่อยเช่นกัน

อาการเลือดออกผิดปกติที่เกิดจากมะเร็ง 

ถ้าคุณผู้หญิงมีอาการต่อไปนี้ นั่นคือสัญญาณอันตรายที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าอาจเกิดจากมะเร็ง 

  1. มีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอย เช่น มีเลือดออกทุกวันหรือวันเว้นวัน
  2. มีรอบประจำเดือนที่เร็วกว่าทุก 21 วัน เช่น รอบนี้มาวันที่ 1 มกราคม 2551 รอบถัดไป มาวันที่ 19 มกราคม 2551
  3. มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือน เช่น รอบนี้เริ่มมาวันที่ 1 มกราคม 2551 มาทั้งหมด 4 วัน รอบถัดไปเริ่มมาวันที่ 30 มกราคม 2551 มาทั้งหมด 4 วัน แต่ในวันที่ 15 มกราคม 2551 มีเลือดออก เปื้อนกางเกงใน 
  4. มีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณมากเป็นก้อนๆ หรือใช้ผ้าอนามัยมากกว่าวันละ 5 แผ่น
  5. มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  6. มีเลือดออกหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปแล้ว เช่น คุณป้าวัย 55 ปี หมดประจำเดือนไป 3 ปี แล้วมีเลือดออกจากช่องคลอดอีก

แพทย์จะให้การรักษาอาการเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติอย่างไร 

คุณผู้หญิงที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยทั่วไปแพทย์จะซักถามประวัติผู้ป่วยในช่วงนี้ เช่น ประวัติการกินยา การคุมกำเนิด หลังจากนั้นก็จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น วัดไข้ ความดันโลหิต และขออนุญาตตรวจภายในและตรวจหามะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกัน ซึ่งไม่ยุ่งยากและไม่เจ็บ โดยคุณผู้หญิงจะขึ้นนอนบนเตียงในท่าตั้งเข่า แพทย์จะสอดเครื่องมือเล็กๆ เข้าไปในช่องคลอด เพื่อเก็บน้ำในช่องคลอดไปตรวจหามะเร็งปากมดลูก จากนั้นจะใส่นิ้วมือเข้าไปในช่องคลอดอย่างนิ่มนวล เพื่อคลำหาว่ามีเนื้องอกหรือสิ่งผิดปกติหรือไม่ โดยการตรวจนั้นทำในห้องที่มิดชิด มีแพทย์เป็นผู้ตรวจและนางพยาบาลอยู่เป็นเพื่อนผู้รับการตรวจ โดยใช้เวลาตรวจไม่เกิน 5 นาที 

แต่ถ้าแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุของเลือดออกผิดปกติที่แน่ชัดได้ ก็อาจจำเป็นต้องขอส่งตรวจวิธีพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจอัลตราซาวน์ด หรือถ้าจำเป็นจริงๆ แพทย์ก็อาจขอขูดมดลูกเพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัยหาเซลล์มะเร็งต่อไป

วิธีป้องกันอาการเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ

หากสุขภาพแข็งแรง ก็จะส่งผลให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายเป็นเป็นปกติ ดังนั้นคุณผู้หญิงควรหันมาใส่ใจในเรื่องอาหารการกิน กินให้ครบ 5 หมู่ ไม่กินยาใดๆ โดยไม่จำเป็น ยิ่งยาที่โฆษณาว่าบำรุงผิวพรรณช่วยให้เลือดฝาดดี อีกทั้งหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาอารมณ์ให้แจ่มใส และสุดท้ายผู้หญิงทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือผู้หญิงโสดที่มีอายุเกินกว่า 35 ปี ทุกคน ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจภายในประจำปีและตรวจหามะเร็งปากมดลูก แม้ว่าจะยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม โดยคุณผู้หญิงจะต้องเลือกไปพบแพทย์ในวันที่ไม่มีประจำเดือน งดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 7 วัน และไม่ต้องสวนล้างช่องคลอดก่อนพบแพทย์

การตรวจภายในประจำทุกปีในขณะที่คุณผู้หญิงยังไม่มีอาการผิดปกติ นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งในสตรี เนื่องจากแพทย์จะสามารถตรวจหาโรคในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีอาการและสามารถรักษาให้หายได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ