เยือน 2 ต้นแบบวิสาหกิจชุมชน พลิกโฉมข้าวไทย สู่ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม

Home » เยือน 2 ต้นแบบวิสาหกิจชุมชน พลิกโฉมข้าวไทย สู่ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม
เยือน 2 ต้นแบบวิสาหกิจชุมชน พลิกโฉมข้าวไทย สู่ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม

“การปลูกข้าว” เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ข้าวไม่เพียงเป็นอาหารหลัก แต่ยังฝังรากลึกในวัฒนธรรมและประเพณีของเรา อย่างไรก็ตาม ชาวนาผู้เป็นกำลังหลักในการผลิตข้าวกลับเผชิญกับความท้าทายในการสร้างรายได้ที่มั่นคงจากอาชีพดั้งเดิมนี้ การเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวจึงเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาและรักษาภาคการเกษตรไทยให้ยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ กรมการข้าว จึงได้เดินหน้าส่งเสริมข้าวสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง พร้อมหนุนแหล่งผลิตข้าวทั่วประเทศให้มีศักยภาพในการพัฒนาการแปรรูป การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว และการยกระดับแบรนด์สินค้า 

โดยเมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคมที่ผ่านมา กรมการข้าว ได้จัดกิจกรรมให้สื่อมวลชนเข้าไปเยี่ยมชม 2 กลุ่มชุมชนตัวอย่างที่สามารถแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน จังหวัดพะเยา และศูนย์ข้าวชุมชนตำบลศรีดอนมูล จังหวัดเชียงราย

วิสาหกิจชุมชนจุน จ.พะเยา

วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์จากดินภูเขาไฟ ที่ได้เพิ่มมูลค่าข้าวผ่านการแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “สร้อยศรี” 

ชัมญาณัฎ พระวิสัตย์ชัมญาณัฎ พระวิสัตย์

นางสาวชัมญาณัฎ พระวิสัตย์ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน เล่าว่า พื้นที่บริเวณนี้สามารถปลูกข้าวได้หลากหลายสายพันธุ์ เนื่องจากมีดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำที่มีส่วนประกอบจากหินภูเขาไฟและหินตะกอนชนิดต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุ ด้วยเหตุนี้ข้าวในจังหวัดพะเยาจึงมีความหอม รสชาติกลมกล่อมและผลิตได้หลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทข้าวหอมมะลิดีเด่นประจำปี 2543 และ 2544 

ต่อมาประมาณปี 2559 เกิดวิกฤตข้าวล้นตลาด ทำให้ข้าวเหลือ วิสาหกิจแห่งนี้จึงได้คิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว โดยแปรรูปข้าวให้เป็น ข้าวบรรจุถุง ข้าวพองเคลือบช็อกโกแลต แป้งข้าวอินทรีย์ และข้าวแต๋น 

ถึงแม้แบรนด์ข้าวหอมสร้อยศรีจะมีผลิตภัณฑ์จากข้าวอยู่หลายชนิด แต่ก็ยังไม่หยุดพัฒนา นางสาวชัมญาณัฎ เผยว่า ปัจจุบันกำลังพัฒนาสูตรเวย์ข้าวโปรตีน ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ด้วย 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน กว่าจะถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

นางสาวชัมญาณัฎ กล่าวว่า “เมื่อก่อนที่นี้เป็นแค่โรงสี ไม่มีพื้นที่อะไรเลย พอเราได้ปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่หลายปี กรมการข้าวก็ได้เห็นศักยภาพของเรา เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาและส่งเสริม ทำอาคารพื้นที่ให้งบประมาณ 5 ล้าน ดังนั้นพื้นที่ตรงนี้ทั้งหมดกรมการข้าวช่วยจัดสรรคให้กับเรา จนทำให้เกิดการรวมตัวของชุมชนมากยิ่งขึ้น และทำแบรนด์สร้อยศรีขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อที่ขายในร้านค้า” 

นายโอวาท ยิ่งลาภนายโอวาท ยิ่งลาภ

ด้านการสนับสนุน นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เผยว่า “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลจุน ได้เข้าร่วมหลากหลายโครงการตามกิจกรรมสนับสนุนของกรมการข้าวอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ปี 2557 ได้รับการสนับสนุนเครื่องเป่าทำความสะอาดข้าวและเมล็ดพันธุ์แบบติดตั้ง  ต่อมาในปี 2561 รับการสนับสนุนรถตักข้าว จำนวน 2 คัน  และปี 2563 ได้รับการสนับสนุนเครื่องเป่าทำความสะอาดข้าวและเมล็ดพันธุ์แบบเคลื่อนที่ โดยจากการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องได้ช่วยให้คนในชุมชนมีความสะดวกในหลากกระบวนการผลิตข้าวที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมยังช่วยตอกย้ำให้ชุมชนรู้จักช่องทางการขายหรือแนวทางการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการตลาดและผู้บริโภค” 

ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลศรีดอนมูล จังหวัดเชียงราย

ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลศรีดอนมูล เป็นอีกหนึ่งแหล่งปลูกและผลิตข้าว จากโครงการเกษตรแปลงใหญ่ข้าว โดยชุมชนนี้ผลิตข้าวพันธุ์พื้นเมือง 2 สายพันธุ์ อย่างข้าวหอมมะลิ (กข15 และกข105) ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่คุณภาพดี ทำให้ต่อยอดเป็นข้าวสูญญากาศ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากฟางข้าว เช่น กระดาษสาจากฟางข้าว ก้อนเพาะเห็ดจากฟางข้าว และก้อนอิฐจากฟางข้าว รวมไปถึงการพัฒนาสูตรสุราจากข้าวเหนียวเขี้ยวงู 

ธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง ธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง

นายธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล เผยถึงการพัฒนาสูตรสุราจากข้าว “ชุมชนได้แปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เป็น คราฟต์เบียร์ และโซจู ภายใต้แบรนด์สุราฮิมนา ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการทดสอบความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์แปรรูปให้เป็นไปตามมาตรฐานกรมสรรพสามิต ทั้งเรื่องของรสชาติ การสร้างแบรนด์ให้ตรงการตามต้องการของตลาดและดึงดูดใจผู้บริโภค” 

สุราจากข้าวแบรนด์สุราฮิมนา

นอกเหนือจากนี้แล้ว นายธนานุวัฒน์ ยังเสริมว่า “ชุมชนศรีดอนมูลยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้ข้าวด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งต่อผู้บริโภค ได้แก่ ข้าวสุญญากาศภายใต้ชื่อแบรนด์ “ศรีดอนมูล” ฟางข้าว อัดก้อน กระดาษสาจากฟางข้าว ก้อนเพาะเห็ดจากฟางข้าว และก้อนอิฐจากฟางข้าว โดยผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปได้พัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวและผลิตข้าวได้มาตรฐาน GAP ได้รับรางวัลการันตีในการประกวดข้าวหอมมะลิ ประเภทรายบุคคลและสถาบันเกษตร ในปี 2565 นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดการสีข้าว ส่วนฟาง แปรรูปเป็นรำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าว และแกลบ ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนไม่มีเหลือทิ้งเป็นขยะแต่อย่างใด (Zero Waste) และ เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อจัดจำหน่าย ส่งเสริมการค้าเชิงพาณิชย์”

ถุงข้าวผลิตภัณฑ์ข้าว

กระดาษสากระดาษสาจากฟางข้าว

สำหรับศูนย์ข้าวชุมชนดอนมูล ได้เข้าร่วมหลากหลายโครงการตามกิจกรรมสนับสนุนของกรมการข้าวอย่างต่อเนื่องถึง 11 ปี  อาทิ  ปี 2563 ได้รับการสนับสนุนเครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือก โดยจากการได้รับการสนับสนุนช่วยให้ชุมชนผลิตข้าวได้สะดวกยิ่งขึ้น รักษาคุณภาพเมล็ดข้าวให้อ่อนนุ่ม สวยงาม และเปิดโอกาสให้ชุมชนพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ตอบโจทย์ตลาดได้ตรงจุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ