สามีทำหมันมา 1 ปี แต่ภรรยากลับตั้งครรภ์! เชื่อถูกนอกใจ ฝ่ายหญิงท้าพนัน ด้วยเงิน 10 ล้าน พร้อมเซ็นยกบ้านให้ สุดท้ายเรื่องกลับพลิกล็อก
เว็บไซต์ HK01 รายงานว่า ดร.หลู่ จิ่นเหิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ ชาวไต้หวัน โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เผยเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งสามีตัดสินใจทำหมันหลังจากมีลูก 2 คน และลูก ๆ เริ่มเข้าเรียนแล้ว โดยระบุว่า “สามีทำหมันแล้วแต่ภรรยากลับตั้งครรภ์อีก สามีสงสัยว่าภรรยาแอบนอกใจ”
ดร.หลู่ กล่าวว่า หลังจากสามีทำหมัน เขาตรวจพบสเปิร์มเหลืออยู่น้อยมาก แม้ว่าความเสี่ยงในการตั้งครรภ์จะต่ำมากและสเปิร์มจะค่อย ๆ ถูกขับออกไปตามธรรมชาติ แต่เขาก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก
ไม่คาดคิดเลยว่า หลังจากทำหมันได้ประมาณ 1 ปี ภรรยากลับบอกว่าตั้งครรภ์ สามีโกรธมาก เพราะคิดว่าตนทำหมันแล้ว ภรรยาจึงไม่น่าจะตั้งครรภ์ได้ และเชื่อว่าภรรยานอกใจ ภรรยายืนยันว่าตนบริสุทธิ์และไม่ต้องการทำแท้ง ทั้งคู่จึงเกิดความขัดแย้งว่าจะเก็บลูกไว้หรือไม่
ฝ่ายภรรยายืนกรานว่าจะคลอดลูกคนนี้ โดยบอกว่าไม่คิดว่าสามีจะไม่เชื่อใจกันขนาดนี้ และยืนยันว่าจะทำการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความจริง เธอท้าเดิมพันกับสามีว่า “ถ้าไม่ใช่ลูกของสามี ฉันจะออกจากบ้านและเลี้ยงลูกเอง พร้อมเซ็นเอกสารยืนยัน” แต่หากผลตรวจยืนยันว่าเป็นลูกของสามีจริง สามีต้องจ่ายเงินให้เธอ 10 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 10.7 ล้านบาท) และเซ็นโอนบ้านทั้งหมดเป็นชื่อของเธอ
หลังจากนั้น สามีจึงไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อสอบถามว่าหลังทำหมันแล้วจะยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้หรือไม่ และได้ตรวจสเปิร์มอีกครั้ง ผลปรากฏว่าสเปิร์มยังคงมีชีวิตอยู่บ้าง แม้การเคลื่อนไหวจะไม่ดีนัก แต่ยังคงมีความสามารถในการเจริญพันธุ์ สุดท้ายสามีเลือกที่จะเชื่อภรรยาและตัดสินใจเก็บลูกไว้ หลังจากตรวจดีเอ็นเอพบว่าเด็กเป็นลูกของเขาจริง ๆ
Facebook / 泌尿科呂謹亨醫師 – 大亨醫師
ดร.หลู่ อธิบายว่า ตามข้อมูลทางวิชาการ การทำหมันแบบดั้งเดิมมีโอกาสประมาณ 17% ที่จะเกิดกรณีเช่นนี้ เพราะตราบใดที่ยังมีสเปิร์มที่มีชีวิต ก็มีโอกาสทำให้ตั้งครรภ์ได้
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า บางครั้งก็มีกรณีที่สเปิร์มที่มีชีวิตเพียงเล็กน้อยสามารถหาทางออก และกลับไปเชื่อมต่อกับท่อเดิมได้ ซึ่งโอกาสนี้มีเพียง 0.04%
ดังนั้นเขาจึงพัฒนาเทคนิคการทำหมันแบบปรับปรุงใหม่ โดยใช้วิธีพิเศษเพื่อเร่งการขับสเปิร์มให้หมดไปหลังการผ่าตัด และทำการเย็บซ่อมแซมท่อส่งสเปิร์มหลายชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อส่งสเปิร์มกลับมาเชื่อมต่อกันเองในอนาคต