เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อดีตพนักงานของเฟซบุ๊ก (Facebook) อีกคน เปิดเผยข้อมูลต่อหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ว่า Facebook ให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าการป้องกันเนื้อหาที่สร้างปัญหาให้กับสังคม
โดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า อดีตพนักงานที่ออกมาเปิดโปงข้อมูลคนดังกล่าวยื่นคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ หรือ SEC ซึ่งอาจเพิ่มปัญหายุ่งยากซับซ้อนให้กับการทำงานและภาพลักษณ์ของ Facebook ได้มากขึ้น
โดยในคำร้องนี้ ผู้เปิดโปงข้อมูลหรือ whistleblower ระบุถึงเหตุการณ์ในปี 2017 เมื่อ Facebook ตัดสินใจว่าจะจัดการกับกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับรายงานข่าวเรื่องการก้าวก่ายแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 อย่างไร
และว่าผู้บริหารของ Facebook ไม่ได้พยายามป้องกันการเผยแพร่เนื้อหาหรือข้อมูลที่ผิดพลาดและบิดเบือนทางแพลตฟอร์มของตนอย่างเพียงพอ เพราะเกรงว่าอาจทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะนั้น ไม่พอใจหรืออาจทำให้ผู้ใช้ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญบางกลุ่มไม่พอใจได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โฆษกของ Facebook ได้ตอบโต้รายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เรื่องนี้ โดยกล่าวว่า วอชิงตันโพสต์มักรายงานข่าวโดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดและถูกต้องเพียงพอ
ไม่ควบคุมเนื้อหาที่มุ่งสร้างความเกลียดชังในอินเดีย
ที่อินเดียซึ่งเป็นตลาดที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดของ Facebook สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ผู้บริหารของ Facebook ในอินเดีย เลือกที่จะควบคุมหรือไม่ควบคุมเนื้อหาซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดบิดเบือน เป็นการยั่วยุ หรือเป็นการแสดงความเกลียดชังโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเนื้อหาที่ต่อต้านชาวมุสลิม เพราะไม่ต้องการทำให้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรค BJP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอินเดียไม่พอใจ
รายงานที่ว่านี้มาจากผลการศึกษาเอกสารภายในของ Facebook ที่ย้อนกลับไปถึงปี 2019 ซึ่งแสดงว่า Facebook ไม่ได้ควบคุมเนื้อหาที่มุ่งร้ายอย่างเพียงพอหากเนื้อหาหรือการแสดงความเห็นนั้นมีสมาชิกของพรรค BJP พรรครัฐบาลของอินเดียเข้าเกี่ยวข้องอยู่ด้วย