เพิกถอน 4 ทะเบียนตำรับยาอมแก้เจ็บคอ-ต้านแบคทีเรีย อันตรายเสี่ยงดื้อยา

Home » เพิกถอน 4 ทะเบียนตำรับยาอมแก้เจ็บคอ-ต้านแบคทีเรีย อันตรายเสี่ยงดื้อยา



เพิกถอน 4 ทะเบียนตำรับยาอมแก้เจ็บคอ-ต้านแบคทีเรีย อันตรายเสี่ยงดื้อยา

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เพิกถอน 4 ทะเบียนตำรับยาอมแก้เจ็บคอ-ต้านแบคทีเรีย อันตรายเสี่ยงเชื้อดื้อยา 

ราชกิจจานุเบกษา คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 26/2564 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ความว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันพบปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียกระจายเป็นวงกว้างทั่วโลก การใช้ยาอมที่มีส่วนประกอบของยาต้านแบคทีเรีย นีโอมัยซิน (Neomycin) แบซิเทรซิน (Bacitracin) หรือไทโรทริซิน (Tyrothricin) สำหรับรักษา ป้องกัน และบรรเทาอาการคออักเสบ (Pharyngitis) และต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsilitis) อย่างไม่สมเหตุผลอาจส่งเสริมให้เกิดเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น และก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยาได้ 

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีคำสั่ง ที่ 1145/2562 ลงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาแก้ไขทะเบียนตำรับยาอมที่มีส่วนประกอบของยานีโอมัยซิน (Neomycin) แบซิเทรซิน (Bacitracin) หรือไทโรทริซิน (Tyrothricin) ให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ยา แต่ปรากฏว่าผู้รับอนุญาตผลิตยา ไม่ดำเนินการแก้ไขทะเบียนตำรับยาดังกล่าวให้เป็นไปตามคำสั่งข้างต้น จำนวน 4 ทะเบียนตำรับยา จึงอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการยา ในการประชุมครั้งที่ 399-6/2563 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563 จึงมีคำสั่ง เพิกถอนทะเบียนตำรับยาอม ที่มีส่วนประกอบของยานีโอมัยซิน (Neomycin) แบซิเทรซิน (Bacitracin) หรือไทโรทริซิน (Tyrothricin) จำนวน 4 ทะเบียนตำรับยา ดังนี้

ลำดับ 1 เลขทะเบียน 2A 296/31 ชื่อการค้า BRYROCIN LOZENGES ผู้รับอนุญาต บริษัท ไบร์วู๊ดฟาร์มาซูติคอล จำกัด

ลำดับ 2 เลขทะเบียน 2A 28/57 ชื่อการค้า BACAL LOZENGES ผู้รับอนุญาต บริษัท แอดวานซ์ ฟาร์มาซูติคอล แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด

ลำดับ 3 เลขทะเบียน 2A 29/57 ชื่อการค้า TROCACIN LOZENGES ผู้รับอนุญาต บริษัท แอดวานซ์ ฟาร์มาซูติคอล แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด

ลำดับ 4 เลขทะเบียน 2A 121/58 ชื่อการค้า TACORCIN ผู้รับอนุญาต บริษัท เอช.เค.ฟาร์มาซูติคอล จำกัด

อนึ่ง หากผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ อาจใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ โดยให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือไปยื่นต่อศาลปกครองโดยตรงหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ