หลังจากที่ Meta หรือ Facebook ได้จัดการแข่งขัน Meta AI Accelerator Pitchathon ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยในรอบสุดท้ายของการแข่งขันทีม Sanook Hitech ได้ไปสังเกตการณ์ในครั้งนี้ร่วมกับกรรมการทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนั้นเรียกว่า ถ้าใครเป็นสายฟังงานแบบ Hackatron ต้องสนุกแน่นอน
Meta AI Accelerator Pitchathon คืออะไร
Meta AI Accelerator Pitchathon เป็นเวทีการคัดเลือกข้อเสนอโครงการหรือผลงานจากนักพัฒนาชาวไทยที่มีการนำระบบเอไอ Llama (ลาม่า) ของ Meta เข้ามาใช้ โดยการแข่งขันนำเสนอโครงการนี้เป็นการแข่งขันในระดับประเทศเพื่อค้นหาตัวแทนจากประเทศไทย ไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์และชิงเงินทุนสนับสนุนสูงสุดถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยผลงานที่จะมีการนำเสนอในการแข่งขันนี้ได้ผ่านรอบคัดเลือกมาก่อนหน้านี้แล้ว และเป็นไปเพื่อสานต่อโครงการในการพัฒนาสังคมด้วยพลังของ AI (AI-powered Social Impact) ให้เกิดขึ้นจริง
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนด้าน AI อย่างต่อเนื่องของ Meta และความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมอีโคซิสเต็มของชุมชนนักพัฒนา AI ทั่วโลก หลังจากก่อนหน้านี้ Meta ได้ประกาศอัปเดตเวอร์ชันเอไอล่าสุด ได้แก่ ‘Llama 3.1’ (ลาม่า) ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้โมเดลประมวลผลด้วยภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) โดยปัจจุบัน Llama 3.1 ก็ได้มีการขยายการรองรับภาษาไทยแล้วและเป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาชาวไทยได้เข้าถึงระบบเอไอแบบโอเพนซอร์สที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน
ขั้นตอนการเข้าร่วมโปรแกรม AI Accelerator ประกอบด้วย
- การส่งผลงาน: นักพัฒนาหรือหน่วยงานส่งหัวข้อโครงการที่นำ Meta Llama AI เข้ามาโดยมุ่งเน้นในการช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายทางสังคมหรือเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้ Meta ได้ประกาศรับหัวข้อโครงการจากนักพัฒนาชาวไทยในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
- การคัดเลือกผลงาน: ผลงานทั้งหมดจะได้รับการประเมินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- การแข่งขัน: ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เป็นตัวแทนประเทศ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน Meta Llama Hackathon ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่าสูงสุดถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนาโครงการต่อไป
AI Accelerator Pitchathon ในครั้งนี้เป็นขั้นตอนการคัดเลือกผลงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมผู้เข้าแข่งขันจากแต่ละประเทศ นำเสนอโครงการในการพัฒนาสังคมที่ขับเคลื่อนด้วย Meta Llama AI ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะประเมินทั้งความเป็นไปได้ทางเทคนิค ผลกระทบเชิงบวกของโครงการ รวมถึงการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ
คณะกรรมการตัดสิน
คณะกรรมการผู้ตัดสิน AI Accelerator Pitchathon ในประเทศไทยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ที่จะมาประเมินผลงานของทีมผู้เข้าแข่งขันอย่างรอบด้าน:
- คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล จาก Facebook ประเทศไทย มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาสังคมและการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ชุมชน
- ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด จาก สพธอ. มีความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์และการปฏิรูปธุรกิจด้วยเทคโนโลยี AI
- ดร.ชลิตดา มัธยมบุรุษ จาก สพธอ. มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีประสิทธิภาพ
- ผศ. ดร.นริศ หนูหอม จากมหาวิทยาลัยมหิดล มีความเชี่ยวชาญด้าน AI, deep learning และการประมวลผลภาพทางการแพทย์
- ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ จาก ดีป้า มีประสบการณ์ด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัลและการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาผลงานจากทั้งมุมมองทางเทคนิค ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริง เพื่อเฟ้นหาโครงการที่โดดเด่นและมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยด้วย AI
ทีมที่ผ่านรอบสุดท้าย
ผู้เข้าแข่งขันจากประเทศไทยใน AI Accelerator Pitchathon ได้นำเสนอโครงการที่ใช้ Meta Llama เพื่อสร้างสรรค์โซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญในสังคมไทย ทั้ง 3 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ใช้งานได้จริง:
- CARIVA Co., Ltd. มุ่งแก้ปัญหาโรคหายากด้วย PreceptorAI ซึ่งเป็นเครื่องมือวินิจฉัยและรักษาที่แม่นยำและเข้าถึงได้ง่าย ช่วยลดภาระของผู้เชี่ยวชาญและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
- Robolingo Co., Ltd. พัฒนา ZWIZ.AI แชทบอท AI ที่ช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจัดการการสื่อสารและยอดขาย เพิ่มประสิทธิภาพและความพึงพอใจของลูกค้า
- Metamedia Technology Co., Ltd. สร้าง Longdo Dict และ AI Tutor เพื่อช่วยคนไทยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ลดอุปสรรคในการทำงานและเปิดโอกาสใหม่ ๆ
โครงการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย และความสามารถของคนไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
แต่ทีมที่ชนะคือ CARIVA ด้วยการถูกกรรมการถามอย่างต่อเนื่อง แต่ตอบคำถามได้ดีพอสมควร ทั้งนี้ผู้ชนะในประเทศไทยจะได้ไปแข่งขันต่อที่ ประเทศสิงคโปรนั่นเอง