เปิดใจทนาย “เมียหลวง” ไม่ต้องตบ รอรับคำขอโทษเป็น “เงินสด” ก็พอ

Home » เปิดใจทนาย “เมียหลวง” ไม่ต้องตบ รอรับคำขอโทษเป็น “เงินสด” ก็พอ
เปิดใจทนาย “เมียหลวง” ไม่ต้องตบ รอรับคำขอโทษเป็น “เงินสด” ก็พอ

Highlight

  • เมื่อจับได้ว่าสามีมีเมียน้อย เมียหลวงควร “ใจเย็น เก็บหลักฐาน และสืบพฤติกรรม” และต้องรู้ชื่อ-นามสกุลจริงของเมียน้อย จึงจะสามารถทำการฟ้องร้องได้ 
  • เมื่อเกิดกรณีนอกใจ และอยากฟ้องร้องเรียกค่าทดแทน กฎหมายจะคุ้มครองคนที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น
  • การขึ้นศาล ล้วนมี “ค่าใช้จ่าย” ที่ฝั่งคนฟ้องต้องแบกรับ เช่นในกรณีที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายหนึ่งล้านบาท ผู้ฟ้องต้องมีเงิน 2% ของเงินหนึ่งล้านบาทไปวางที่ศาล แล้วถ้าเมียน้อยไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ก็จะเป็นการฟ้องเสียเงินเปล่า 
  • คดีความฟ้องร้องเมียน้อยมักจะทำให้เมียหลวงเสียทั้งความรู้สึก เสียเงิน และเสียเวลา เพราะฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจฟ้องเมียน้อย เมียหลวงต้องถามตัวเองให้แน่ใจเสียก่อนว่าตัวเองต้องการอะไร

(บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ sanook.com เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565)

ในสังคมไทย ประเด็นเรื่อง “เมียหลวง vs เมียน้อย” ถือเป็นวิวาทะสุดคลาสสิกที่ไม่ว่าใครก็ต้องสนใจและออกความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะฝ่ายเมียหลวง ที่มักจะเป็นผู้ถูกกระทำหมิ่นหยามศักดิ์ศรี จนต้องมี #ทีมเมียหลวง เป็นกองเชียร์ ตั้งแต่ให้กำลังใจแบบธรรมดา ไปจนถึงทางลัดอย่างการ “ตบสั่งสอน” ให้สาแก่ใจ อย่างไรก็ตาม นี่คือศตวรรษที่ 21 ที่มนุษย์ได้พัฒนาการใช้เหตุผลมาอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้น “การใช้กำลัง” จึงอาจไม่ใช่หนทางเดียวในการแก้ปัญหา และปัจจุบันนี้ วิธีการเรียกคืนศักดิ์ศรียอดนิยมของเหล่าเมียหลวงก็คือ “การฟ้องร้องชู้” 

  • “สายลับจับชู้” นักสืบคดีนอกใจทั่วราชอาณาจักร
  • เปิดรายละเอียดคดี จูน เพ็ญชุลี ภรรยาหนุ่ม กะลา ชนะคดี ศาลสั่งมือที่สามจ่ายแพงจุกๆ
  • “จ๊ะโอ๋ งามพริ้ง” อัปเดตคดีหมิ่น จบไปแล้ว 1 เคส ยอมขอโทษ-จ่ายเงิน ส่วนอีกเคสเป็นเพจดัง

จับชู้ได้ ให้นิ่งไว้ รอฟ้องทีเดียว

ทนายเหมียว – มณีรัตน์ จุลศรี แห่งสำนักงานเนตินนท์ ทนายความ เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ทุกครั้งที่ต้องให้คำปรึกษาเมียหลวงที่ติดต่อมาขอความช่วยเหลือ เมื่อจับได้ว่าสามีมีเมียน้อย คือให้ “ใจเย็น เก็บหลักฐาน สืบพฤติกรรม” และสืบว่าผู้หญิงอีกคนมีทรัพย์สินให้ยึดหรือไม่ 

ทนายเหมียว - มณีรัตน์ จุลศรี ทนายเหมียว – มณีรัตน์ จุลศรี

“ถ้าเรารู้สึกและเห็นว่าพฤติกรรมของเขาไม่โอเค อาจจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็อย่าเพิ่งเอะอะ เราจะต้องเก็บหลักฐาน ถ้าเขามีคนอื่น เดี๋ยวอาจจะมีแชทคุย เราก็ต้องดูว่าเขาแชทคุยกับใคร หรือแม้กระทั่งโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็เก็บเป็นหลักฐานได้ เพราะสุดท้ายแล้ว เราต้องเก็บหลักฐานให้ได้ว่าเขามีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนนี้จริง” ทนายเหมียวอธิบาย 

“เวลาที่เราฟ้อง เราต้องรู้ว่าเขาชื่อนามสกุลอะไร เพราะจะต้องไปคัดทะเบียนราษฎร์ แล้วเวลาฟ้อง เราต้องส่งคำฟ้องไปหาเขา ให้เขาทราบว่าเราฟ้อง แล้วการได้มาซึ่งชื่อจริงนั้น ถ้าหลักฐานชัดเจนว่าสามีดิ้นไม่หลุดแล้ว เราก็อาจจะต้องถามสามีตรง ๆ เลย ว่าเมียน้อยชื่ออะไร แต่บางทีก็มีเมียน้อยที่เขาแรงจริง เขาก็อาจจะส่งข้อความมาหาเรา เราก็ถามชื่อสกุลของเขาได้เลย หรือถ้ามีการโอนเงินให้กัน ชื่อบัญชี พร้อมพ์เพย์ เบอร์โทรศัพท์ ก็เช็กได้ คือเมียหลวงก็ต้องกลายเป็นนักสืบนิดนึง” 

ชอบด้วยกฎหมาย ถึงจะเรียกร้องสิทธิ์ได้

แม้จะอยู่กินเป็นสามีภรรยากันอย่างเปิดเผย แต่ก็มีหลายกรณีที่ทั้งคู่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้เกิดความยุ่งยากเมื่อเกิดกรณีนอกใจและอยากฟ้องร้องเรียกค่าทดแทน เพราะกฎหมายจะคุ้มครอง “บุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย” เท่านั้น

“ถ้าเกิดสถานะของเราไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่ว่าหญิงหรือชาย จะเป็นชู้หรือมีชู้ กฎหมายจะไม่คุ้มครองถ้าไม่จดทะเบียนสมรส เวลาทนายฟ้อง ทนายก็จะอิงทะเบียนสมรส คือเรามาชอบด้วยกฎหมาย เราจึงจะเรียกร้องสิทธิ์ตามกฎหมายได้ ถ้าไม่จดทะเบียนฯ ทนายก็จะบอกว่า คุณเป็นเมียหลวง ก็ไปจดทะเบียนสมรสมาก่อน เพราะถ้าเราไม่จดทะเบียนสมรส สถานะของเราคือเท่ากัน ถ้าเมียน้อยจดก่อน เขาก็อาจจะมีสิทธิ์ดีกว่าเมียหลวงที่อยู่มาก่อนก็ได้ ดังนั้น จากที่เป็นเมียหลวง เป็นเมียที่มาก่อน คุณก็อาจจะเป็นเมียน้อยก็ได้ ถ้าเขาได้จดทะเบียนฯ ก่อน” ทนายเหมียวกล่าว 

“ขอโทษเป็นเงินสด” เท่าไรให้สาสม 

“เวลาที่ทนายรับเคส ทนายจะคุยกับลูกความก่อน จะสอบถามประวัติของทั้งฝ่ายผู้ชาย หรือตัวเมียหลวง ว่าสถานะทางสังคมของเราอยู่ระดับไหน มีหน้ามีตาในสังคมหรือเปล่า หรือเป็นคนไม่ได้มีชื่อเสียงมาก เวลาเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทน เราจะอิงจากตัวนั้นด้วย และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเวลาจะไปฟ้องชู้ คือชู้มีเงินไหม” ทนายเหมียวแนะ 

ทนายเหมียว - มณีรัตน์ จุลศรี ทนายเหมียว – มณีรัตน์ จุลศรี

เพราะการขึ้นโรงขึ้นศาล ล้วนมี “ค่าใช้จ่าย” ที่ฝั่งคนฟ้องต้องแบกรับ โดยทนายเหมียวยกตัวอย่างว่า ในกรณีที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายหนึ่งล้านบาท ผู้ฟ้องต้องมีเงิน 2% ของเงินหนึ่งล้านบาทไปวางที่ศาล แล้วถ้าเมียน้อยไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ก็จะเป็นการฟ้องเสียเงินเปล่า 

“ทนายจะถามตรง ๆ เลยว่า ที่เราฟ้องเนี่ย เราต้องการความรู้สึก ฉันมีทะเบียนสมรส ฉันต้องการประกาศให้เธอรู้ว่า ฉันคือเมียหลวง อันนี้เรียกความสุขทางใจ ทำให้ผู้หญิงอีกคนรู้ว่า นี่คือผลของทะเบียนสมรส แต่คุณต้องมาดูด้วยว่า ถ้าคุณต้องการเงิน แต่เขาไม่มีเงินให้เรา เมื่อเราฟ้อง เราก็จะไม่ได้อะไร แบบนั้นเราจะโอเคไหม” 

เมื่อถามว่าเมียหลวงสามารถให้เมียน้อยทำอย่างอื่นเพื่อเป็นการขอโทษได้หรือไม่ เช่น ยกมือไหว้ หรือโพสต์ขอโทษในโซเชียลมีเดีย ทนายเหมียวระบุว่า “ถ้าให้ทำอย่างอื่น แล้วเขาจะยอมทำไหม คือโดยหลักการของส่วนนี้ เขาจะให้เราเรียกค่าทดแทน แล้วก็ให้หยุดการยุ่งเกี่ยวกับสามี”

ถามตัวเองให้แน่ใจว่าอยากได้อะไร 

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการขึ้นศาลแล้ว ราคาที่เมียหลวงต้องจ่ายในการฟ้องชู้อีกอย่างหนึ่งคือสุขภาพจิต ด้วยระยะเวลาการขึ้นศาลที่ยาวนาน ประกอบกับการต้องเล่าเรื่องราวความเจ็บช้ำให้ทนายและผู้พิพากษาฟังซ้ำ ๆ ซึ่งในความเห็นของทนายเหมียว คดีความลักษณะนี้ถือว่าเสียทั้งความรู้สึก เสียเงิน และเสียเวลา เพราะฉะนั้น ทนายเหมียวจึงแนะนำว่า ก่อนจะตัดสินใจฟ้องเมียน้อย เมียหลวงต้องถามตัวเองให้แน่ใจเสียก่อนว่าตัวเองต้องการอะไร 

ทนายเหมียว - มณีรัตน์ จุลศรี ทนายเหมียว – มณีรัตน์ จุลศรี

“เมียหลวงบางคนก็สตรอง เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว บางทีเขาก็แค่ต้องการแสดงให้รู้ว่าเขาอยากฟ้อง แค่นั้นเอง ส่วนจะได้เงินไหมก็ไม่จำเป็น คือให้รู้ว่าฉันทำอะไรแล้วนะ ในการที่ฉันมีทะเบียนสมรส” ทนายเหมียวชี้ ก่อนปิดท้ายว่า “ฟ้องแล้วมันต้องได้อะไรบ้าง อาจจะเป็นความรู้สึกทางใจ หรือได้เงิน”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ